วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-นำชมปู่แสะ ย่าแสะ ศรัทธาและตำนานที่มีมานาน ประเพณีเลี้ยงดง

 เชียงใหม่-นำชมปู่แสะ ย่าแสะ ศรัทธาและตำนานที่มีมานาน ประเพณีเลี้ยงดง


...ปู่แสะ ย่าแสะ หรือ ผีปู่แสะ ย่าแสะ เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกันว่าทั้งคู่เป็นยักษ์สามีภรรยา อาศัยอยู่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณนั้น ปู่แสะ ย่าแสะและบุตรได้พยายามจะจับพระพุทธเจ้ากิน แต่ก็ถูกพระพุทธองค์ทรมานจนยอมแพ้และให้ถือศีล ปู่แสะ ย่าแสะพยายามขอพุทธานุญาตเพื่อกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งพระพุทธองค์มิได้ทรงยอมทำตาม แม้จะขอกินเลือดมนุษย์เพียงหนึ่งหยดก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จนท้ายสุดปู่แสะ ย่าแสะ ก็ขอกินควายเขาดำหรือควายรุ่นที่มีเขาเพียงหู ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สั่งให้ทั้งสองไปขอกับเจ้าเมืองเอาเอง



...ส่วนบุตรของปู่แสะ ย่าแสะ มีความประทับใจในคำสอนของพระพุทธองค์จึงขอบวช แต่พระพุทธเจ้ามิได้อนุญาต และทรงให้บวชเป็นฤาษีเท่านั้น เมื่อบวชแล้วมีชื่อว่า "สุเทวฤาษี หรือ วาสุเทวฤาษี" อันเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพ


...บางท่านว่า ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นผีของลวะที่กลายมาเป็นผีประจำเมืองเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่คุ้มครองดูแลในบริเวณภายนอกเมือง และมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ หรือการสังเวยผีดังกล่าวเป็นประเพณีประจำทุกปีในเดือน ๙ เหนือคือประมาณเดือนมิถุนายน โดยปัจจุบันจัดพิธีที่ดงย่าแสะบริเวณเชิงดอยคำทางด้านใต้ของดอยสุเทพ


ผีปู่แสะ ย่าแสะ

...เดิมเป็นผีที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ แต่ต่อมาผีปู่แสะ ย่าแสะ และลูกหลานดูแลเฉพาะในเขตนอกเมือง (เพราะมีผีคนอื่นดูแลเขตภายในเมืองอยู่แล้ว) เรื่องของผีปู่แสะ ย่าแสะ ปรากฏในตำนานเชียงใหม่ปางเดิมและตำนานวัดดอยคำ และเป็นเรื่องเล่าในบริเวณเชิงดอยสุเทพ



...กล่าวกันว่าเดิมผีปู่แสะ ย่าแสะ เป็นผีบรรพบุรุษของพวกลวะที่อาศัยอยู่ในบริเวณเชิงดอยสุเทพ มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเชิงดอยคำ ได้พบยักษ์สามตนพ่อแม่ลูกซึ่งยังชีพด้วยเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจนยักษ์ทั้งสามเกรงในพระบารมี จึงยอมแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาและให้ยักษ์ทั้งสามรักษาศีลห้า แต่ปู่แสะ ย่าแสะ ไม่อาจรับศีลห้าได้ตลอด จึงขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน เมื่อพระพุทธองค์ไม่อนุญาตก็ขอต่อรองลงมาเรื่อยๆ จนขอกินเนื้อสัตว์ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบอกให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไปและไว้พระเกศธาตุที่ต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ


...ผีปู่แสะ ย่าแสะ ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองให้กินควายได้ปีละครั้ง จึงได้มีประเพณีฆ่าควายรุ่นที่เรียกว่า "ควายเขาฅำ" หรือควายที่มีเขายาวเพียงหู เพื่อเอาเนื้อสดสังเวยผีปู่แสะ ย่าแสะ ส่วนบุตรของปู่แสะ ย่าแสะ ได้บวชเป็นฤาษีชื่อสุเทวฤาษี


...แต่เดิมนั้น กษัตริย์ ขุนนาง และชาวบ้านในตัวเมืองเชียงใหม่จะร่วมกันทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ เป็นประจำทุกปี ต่อมาชาวบ้านตำบลสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ เป็นผู้จัดเลี้ยงผีปู่แสะในบริเวณที่อยู่ของผีปู่แสะคือหอผีกลางหมู่บ้านดอยสุเทพ (ในบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ คือประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ขณะเดียวกันชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ จะเลี้ยงผีย่าแสะที่ "ดงย่าแสะ" บริเวณเชิงดอยคำในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ เหนือ และชาวบ้านจากสองตำบลนี้จะเลี้ยงผีเองโดยไม่มีเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดไปร่วมพิธีและราว พ.ศ.๒๔๘๐ ทางการได้ห้ามจัดการเลี้ยงผี แต่ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว จึงได้ฟื้นฟูขึ้นอีก แต่ให้ฆ่าควายดำเพียงตัวเดียวและทำพิธีรวมกันที่ดงย่าแสะเชิงดอยคำซึ่งก็ได้ดำเนินตามนี้เรื่อยมา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น