วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ลำพูน-โบราณสถานเวียงเกาะกลาง อนุสรณ์สถานที่ประสูติพระแม่จามเทวี

 ลำพูน-โบราณสถานเวียงเกาะกลาง อนุสรณ์สถานที่ประสูติพระแม่จามเทวี


...เจ้าแม่จามเทวี ชื่อเดิมของท่านชื่อ อุสาห์เกิดที่บ้านจุงจาลิง เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "บ้านเกาะ" อยู่ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เดิมเป็นบ้านหนองดู่ ต่อมาผู้คนได้อพยพไปตั้งบ้านหนองดู่ใหม่ทางเหนือจากบ้านเดิมเล็กน้อย ที่บ้านเกาะนี้ยังคงมีบริเวณบ้านเกิดของเจ้าแม่จามเทวีเหลืออยู่กลางทุ่งนา เรียกว่าดอนแม่หม้าย และยังคงเหลือซากโบสถ์ เจดีย์เก่าที่เจ้าแม่จามเทวีสร้างไว้หลงเหลือให้เห็นอยู่ 




...เจ้าแม่จามเทวีเกิดเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.๑๑๗๘ บิดาชื่อ หนานอินทวงศ์ มารดาชื่อ แก้วผกา เมื่อเด็กหญิงอุสาห์เกิดได้ ๕ เดือนบิดาก็เสียชีวิต และหลังจากนั้นต่อมาก็ได้เกิดอหิวาห์ตกโรคระบาดในหมู่บ้าน พี่ชายของมารดา ชื่อหนานเสละ ซึ่งเป็นลุงของอุสาห์ได้พาตัวอุสาห์หนีจากโรคห่าในหมู่บ้าน หนีไปจนถึงดอยติ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยมาก พอหนานเสละอุ้มอุสาห์มาถึงดอยติแล้วก็เสียชีวิตที่ตีนดอยตินั้น แต่ก่อนจะเสียชีวิตหนานเสละก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อเทพยดาฟ้าดินทั้งหลายว่า หากหลานอุสาห์ที่ข้าพเจ้าได้พาหนีจากโรคห่ามานี้ยังมีบุญวาสนาที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไปแล้ว ก็ขออำนาจฟ้าดินได้ช่วยปกป้องหลานน้อยอุสาห์ของข้าพเจ้าด้วยเถิด แล้วหนานเสละก็ได้พบดอกบัวใหญ่ดอกหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดอกบัวธรรมดา ลุงเสละก็อุ้มหลานไปวางลงในดอกบัวนั้น แล้วหมดแรงเสียชีวิตตรงเชิงดอยนั้นเอง




...ที่บนดอยตินั้น เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีลรูปหนึ่งที่มีชื่อว่า พระโสนันโท พุทธชฎิล ซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์สามารถที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ พระโสนันโทได้มีเพื่อนสหธรรมมิกที่สูงส่งเท่าเทียมกันอีก ๓ ท่าน ซึ่งอยู่คนละทิศคนละทางแต่ก็สามารถติดต่อกันทางจิตได้ ท่านหนึ่งอยู่บนดอยสุเทพเชียงใหม่ ชื่อ พระสุเทวะ อีกท่านหนึ่งอยู่บนดอยเขาพระงามลำปาง ชื่อ พระสุพรหมณะอินโท และองค์ที่ ๓ ที่บนเขาเสมอคอน ลพบุรี ชื่อ พระขัตติยะรัตนา




...กิจวัตรประจำวันของท่านพระโสนันโทที่อยู่บนดอยตินั้น ทุกวันช่วงเย็นจะลงมาสรงน้ำที่หนองน้ำเชิงดอยติ และวันนี้ก็เช่นเคย พอลงมาที่หนองน้ำก็มองเห็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ อยู่ภายในดอกบัวใหญ่เพียงคนเดียว ด้วยความเมตตาสงสารประกอบกับท่านพระโสนันโทได้หยั่งรู้ด้วยญาณบารมีว่า เด็กคนนี้มีบุญญาธิการสูง ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นที่พึ่งของคนเป็นจำนวนมาก พระโสนันโทจึงได้อธิษฐานจิตว่า หากเป็นผู้มีบุญบารมีที่จะได้เกื้อหนุนกันมาแล้ว ก็ให้คลานขึ้นมาอยู่บนพัดนี้ แล้วเด็กหญิงอุสาห์ก็คลานมาอยู่บนพัดที่ท่านยื่นไปรับนั้น จึงได้นำไปเลี้ยงไว้และให้ชื่อว่า จามเทวี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา




...พอเด็กหญิงจามเทวีเจริญเติบโตขึ้น พระโสนันโทก็มาคิดว่า ผู้หญิงย่อมเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หากเรายังเลี้ยงจามเทวีต่อไปเช่นนี้เป็นการไม่สมควร แต่นางจามเทวีเป็นผู้มีบุญบารมีสูงส่ง ไม่รู้จะนำไปฝากไว้กับผู้ใดให้เลี้ยงดูต่อไป ดังนั้นพระโสนันโทจึงได้นำเอาความคิดนี้ปรึกษาทางจิตกับพระสหายธรรมมิกทั้ง ๓ แล้วท่านพระขัตติยรัตนาแห่งเขาเสมอคอนลพบุรีจึงได้เสนอว่าเจ้านพรัตน์จันทราวิราช เจ้าเมืองละโว้ลพบุรี เป็นผู้มีบุญญาธิการองค์หนึ่งและไม่มีพระธิดา สมควรจะส่งนางจามเทวีไปเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ เมื่อทุกท่านเห็นพร้อมกันเช่นนั้น พระโสนันโทก็ได้มีหนังสือกำกับฝากฝังแล้วผูกแพขึ้นไปด้วย ๔ คน ล่องแพมาตามน้ำแม่ปิง จากอำเภอฮอดเข้าอำเภอสามเงา กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี มุ่งหน้าไปเมืองละโว้ลพบุรี



...เมื่อเจ้าเมืองละโว้ลพบุรี ได้เลี้ยงดูเจ้าแม่จามเทวี พร้อมกับปุโรหิตอาจารย์ทั้งหลายสอนศิลปะวิทยาคมต่างๆ ผู้ครองเมืองทุกคนจะต้องสอนแก่บุตรธิดาให้เป็นผู้มีความรู้ที่จะครองเมืองต่อไปภายภาคหน้าได้ (ต่อมาเจ้าแม่จามเทวีก็ได้เอาความรู้ที่ได้ศึกษาศิลปะต่างๆ ครั้งเมื่ออยู่เมืองละโว้ลพบุรีเอามาใช้ในการมาเป็นเจ้าเมืองและปกป้องเมืองหริภุญชัย หรือลำพูนในปัจจุบัน)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น