วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เชียงใหม่-รู้จักกับ เวียงละโว้ ...เวียงบริวารแห่งหนึ่งของหริภุญไชยนคร

 เชียงใหม่-รู้จักกับ เวียงละโว้ ...เวียงบริวารแห่งหนึ่งของหริภุญไชยนคร 


ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลำพูน ปัจจุบันอยู่บริเวณวัดละโว้ ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

.

ตำนานมูลศาสนาที่รจนาโดยพระพุทธพุกามราว ๕๐๐ ปีเศษ 

ได้กล่าวถึงพระนางจามเทวีทรงจัดกลุ่มบุคคลที่ติดตามพระนางมาแต่เมืองละโว้ให้อยู่รวมกันในหนทิศอีศานแห่งเมืองหริภุญไชย 

จะเห็นได้ว่าทิศอีสาน คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่ตรงกับที่ตั้งของเวียงละโว้ปัจจุบันที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ดีตำนานมูลศาสนามีข้อความหลายตอนที่ระบุทิศที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ คลาดเคลื่อนกับตำนานสมัยล้านนาเล่มอื่นๆ อยู่เสมอ 

อาทิ การที่ระบุว่าเจดีย์สันมหาพลตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ในขณะที่เล่มอื่นๆ ต่างระบุว่าสันมหาพลตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก 

แม้กระนั้นคุณูปการของตำนานมูลศาสนาในที่นี้ก็คืออย่างน้อยที่สุดทำให้เราทราบว่า

ในสมัยพระนางจามเทวีได้มีการแบ่งกลุ่มบุคคลให้อาศัยอยู่อย่างเป็นหมวดหมู่ตามทิศต่างๆ 

และได้มีการปรากฏชื่อเวียงละโว้เป็นครั้งแรกของตำนานเมืองเหนือด้วย 

เนื่องจากชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวีวงศ์พงศาวดารเมืองหริภุญไชยมิได้มีการพูดถึงรายละเอียดในส่วนของการจัดวางประชากรกลุ่มต่างๆ ในยุคพระนางจามเทวี

.

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเวียงละโว้จึงได้มาจากตำนานพื้นบ้านที่เขียนขึ้นในยุคหลังราว ๑๐๐-๒๐๐ ปีเท่านั้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำนานของนายสุทธวารี สุวรรณภาชน์ ชาวสันป่าตองที่ได้ต้นฉบับมาจากฤาษีแก้วถ้ำดอยติ 

ได้ระบุถึงเรื่องราวของเวียงละโว้ไว้ชัดว่า 

พระนางจามเทวีทรงพระราชทานที่ดินสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของชาวละโว้ที่เสด็จตามมาด้วย

โดยให้ตั้งถิ่นฐาน ณ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งตรงกับสถานที่ของวัดละโว้ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน

.

นอกจากนี้แล้วตำนานเล่มดังกล่าวยังระบุว่า 

พระนางจามเทวีโปรดแต่งตั้งให้พระนางเกษวดี (พระพี่เลี้ยง) เป็นผู้รักษาพระนครและเป็นแม่กองสร้างเวียงต่างๆ 

ดังนั้นย่อมหมายรวมถึงว่าพระนางเกษวดีน่าจะมีบทบาทดูแลเวียงละโว้ด้วยเช่นกัน ตามที่ทางวัดละโว้ได้เรียบเรียงประวัติไว้

...เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่เหลือแต่เพียงภาพถ่ายของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทางวัดละโว้ได้ให้ดูนั้นสามารถทำการวิเคราะห์ได้ดังนี้


๑. ในส่วนของซากสถูปองค์เดิมที่ถูกก่อพอกทับใหม่แล้วด้วยเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมแบบปราสาทซ้อนชั้นเลียนแบบเจดีย์วัดกู่คำที่เวียงกุมกามนั้น พบว่าในอดีตสถูปแห่งนี้เคยมีฐานขนาดใหญ่ และใช้วัสดุประเภทอิฐก้อนโตคล้ายกับเจดีย์สมัยหริภุญไชย น่าจะเคยเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมตอนบนมีซุ้มพระพุทธรูปแบบคูหาจระนำแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีจำนวนกี่ชั้นและด้านละกี่องค์ สิ่งที่สามารถสรุปได้ว่าหลักฐานชิ้นนี้สร้างขึ้นในสมัยหริภุญไชยก็เนื่องมาจาก บริเวณนี้ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสมัยล้านนาจนถึงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสร้างสถูปในยุคล้านนาหรือหลังจากนั้น

๒. พระพิมพ์ดินเผารูปพระพุทธเจ้าปางประทับยืน น่าเสียดายอย่างยิ่งที่หลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นนั้นได้ถูกบรรจุฝังไว้ในคราวที่มีการก่อพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่ครอบองค์เดิมเมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเก่าแก่ของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในยุคต้นหริภุญไชยหรืออาจเก่าไปถึงยุคทวารวดีด้วยซ้ำ


...พุทธลักษณะของพระพิมพ์มีความแปลกพิเศษ กล่าวคือ ทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืนพระบาทไม่ชิดกัน พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระในท่าปางแสดงธรรมอันเป็นปางที่นิยมอย่างสูงในศิลปะอินเดียและศิลปะทวารวดี ที่น่าประหลาดคือพระกรซ้ายกางออกและพระหัตถ์ถือดอกบัวอยู่ในระดับพระอุระ พระสรีระบอบบางเอนกายในท่าตริภังค์ (ยืนเอนสามส่วนตามสุนทรีย์ศาสตร์แบบศิลปะอินเดียยุคคุปตะ) ขอบสบงด้านล่างตัดตรงที่ปลายสองข้างมีริ้วเส้นเล็กๆ ในขณะที่ขอบจีวรแผ่นบนทำรูปวงโค้งเป็นเส้นหนานูน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะทวารวดี บั้นพระองค์คอดกิ่วละม้ายสตรี พระพักตร์ลบเลือนแต่มองเห็นเค้าความละม้ายกับพระพักตร์ของพระรอดลำพูน พระเกศาและเกตุมาลาเป็นรูปกรวย ประภามณฑลโดยรอบพระเศียรทำเป็นตุ่มวงกลมคล้ายเม็ดประคำ ซึ่งอาจเป็นสัญลักษณ์ของนาคปรก หรือใบโพธิ์ที่ลบเลือน อันเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในฉากหลังของงานพุทธศิลป์ยุคทวารวดีและศรีวิชัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

...จากพุทธลักษณะที่พรรณนามาทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ปราชญ์ชาวบ้านในละแวกนั้นพากันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรูปจำลองของพระนางจามเทวี ซึ่งก็อาจมีส่วนเป็นไปได้ค่อนข้างมากเช่นกัน เพราะโดยปกติแล้วการทำรูปเคารพของบุคคลที่ถือดอกบัวในพระหัตถ์นั้นมักมีความเกี่ยวข้องกับสตรี อาทิ รูปพระนางตาราพระโพธิสัตว์ปัทมปาณีหรือพระนางลักษมี (ชายาของพระนารายณ์) เป็นต้น แต่รูปเคารพที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้จะมีการแต่งองค์ทรงเครื่องแบบสตรีทั้งสิ้น ผิดกับพระพิมพ์ดินเผาที่พบในวัดละโว้ซึ่งมิได้ตั้งใจทำให้เป็นรูปเทวสตรีหรือพระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพุทธมหายานโดยตรง แต่กลับทำเป็นพระพุทธรูปประทับยืนมีร่องรอยของการห่มจีวรชัดเจนและไม่มีการทรงเครื่องใดๆ ซึ่งหากเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางแสดงธรรมสมัยทวารวดีที่พบทั่วไป ควรยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นระดับพระอุระเช่นเดียวกับพระหัตถ์ขวา ไม่เคยปรากฏการถือดอกบัวด้วยมือข้างหนึ่งมาก่อน

...จึงขอเสนอความเห็นว่า พระพิมพ์ดินเผาชิ้นนั้นเป็นไปได้อย่างมากที่จะเป็นการจำลองรูปพระนางจามเทวีในปางถือดอกบัวตามอย่างรูปนางตาราหรือพระลักษมี ซึ่งยุคนั้นทั่วเอเซียอาคเนย์มีการให้ความเคารพเทพสตรีในฐานะทรงเป็น "ศักติ" ของเทพเจ้า การที่ช่างผสมผสานเอาพุทธลักษณะโดยรวมของพระพุทธรูปประทับยืนทรงจีวรและมีประภามณฑลเบื้องหลังมารวมกับการทำท่าถือดอกบัวและมีสรีระคล้ายสตรีนั้น อาจต้องการสื่อถึงพระนางจามเทวีในฐานะผู้ทรงบำเพ็ญธรรมเยี่ยงธรรมิกราชาเหมือนเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งก็เป็นได้

...มีข้อน่าสังเกตว่าพระพิมพ์ดินเผาที่สร้างขึ้นในยุคหริภุญไชยจำนวนไม่น้อยเลยในดินแดนลำพูน-เชียงใหม่ นิยมการนำลักษณะของสตรีมาผสมผสาน เช่น พระสิกขีดินเผาที่ประดับกรอบซุ้มจระนำเจดีย์ต่างๆ อันน่าจะเป็นงานพุทธศิลป์เฉพาะของอาณาจักรแห่งนี้เพียงแห่งเดียว เนื่องจากมีประวัติความเป็นมาว่าผู้หญิงเป็นปฐมกษัตริย์

...เวียงละโว้คงรุ่งเรืองอยู่ในช่วงระยะหนึ่งในสมัยหริภุญไชยเท่านั้น ต่อมาในสมัยล้านนาก็คงกลายเป็นเมืองที่ถูกลดบทบาทความสำคัญลง เนื่องจากพญามังรายและทายาทได้สถาปนาเวียงอื่นๆ ขึ้นมาแทนมากมาย อาทิ เวียงกุมกาม เวียงเจ็ดลิน เวียงเชียงแสน เวียงพร้าว ฉะนั้นเวียงบริวารของหริภุญไชยแทบทั้งหมดจึงซบเซาลง เมื่อมีการเปลี่ยนศูนย์อำนาจจากลำพูนไปอยู่เชียงใหม่

...ข้อเสนอแนะสุดท้ายเพื่อการฟื้นฟูเวียงละโว้ คือ หากเป็นไปได้ใคร่ขอความร่วมมือจากทางวัดละโว้และชาวบ้านในละแวกนั้นอย่าพยายามสร้างอาคารใหม่แปลกปลอมเพิ่มเติมให้ยากแก่การรื้อถอนในอนาคตเพราะหลักฐานที่เหลือในปัจจุบันของวัดละโว้ไม่สามารถมองเห็นอดีตอันรุ่งเรืองของเวียงละโว้ได้อีกแล้ว ทว่ายังเหลือหลักฐานที่ถูกกลบฝังอยู่ใต้พื้นดิน และหากเป็นไปได้น่าจะมีโครงการขุดศึกษาทางโบราณคดีที่วัดละโว้และบริเวณใกล้เคียง เพื่อที่จะได้ค้นหาหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยอย่างเป็นรูปธรรมมายืนยันถึงความเป็นมาอันเก่าแก่นับ ๑,๓๐๐ ปีเศษของเวียงละโว้แห่งนี้ ได้ดีกว่าหลักฐานจากภาพถ่ายเก่า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น