เชียงใหม่-นำชมวัดอุโบสถ ตั้งอยู่เลขที่ ๖๗ หมู่ ๒ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่
...ประวัติความเป็นมาของวัด...
วัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๕ ซึ่งแต่เดิมก่อนจะมีวัดแห่งนี้ บริเวณวัดมีเพียงโบสถ์เป็นสถานที่ทำสังฆกรรมร่วมกันของพระสงฆ์ในตำบลแม่เหียะ เพราะต้องการความสงบและความเป็นส่วนตัว โดยรอบจึงเป็นป่าไม้ อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านเริ่มตั้งถิ่นฐานขยายเข้าเขตป่ามาจนใกล้กับโบสถ์ จึงได้ตั้งเป็นวัดขึ้นให้ชื่อว่า "วัดอุโบสถ" และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านบ่อ" เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีบ่อน้ำเป็นจำนวนมาก
...ความสำคัญของวัด...
เดิมวัดอุโบสถเป็นสถานที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ในตำบลแม่เหียะ โดยมีพระสงฆ์มาร่วมลงอุโบสถ ๕ วัด ได้แก่ ๑)วัดตำหนัก (สวนขวัญ) ๒) วัดต้นปิน ๓) วัดท่าข้าม ๔) วัดป่าชี่ (ป่าจี้) และ ๕) วัดอุโบสถ
...สถาปัตยกรรมโดดเด่น...
...อุโบสถโบราณ...
ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๐ โดยครูบาโปธิ เจ้าอาวาสวัดป่าจี้ พร้อมศรัทธาชาวบ้าน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผสมโครงสร้างไม้สัก หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องดินขอ ประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้ง หน้าบัน หน้าแหนบ แผงโก่งคิ้วและแผงปีกสองข้างในลักษณะม้าต่างไหม ประดับไม้แกะสลักลวดลายพื้นถิ่นล้านนาผสมผสานแก้วอังวะสี มีเสาไม้คู่สี่เหลี่ยมรับน้ำหนักประดับปูนปั้นและไม้แกะสลักลวดลายดอกไม้ ปลายยอดเสาบัวแวงประดับแก้วอังวะสี ราวบันไดขนาบข้างด้วยปูนปั้นเทพยดา มีเขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วก่ออิฐโบราณ และมีหลักศิลาแสดงขอบเขตพัทธสีมา ส่วนด้านข้างอุโบสถมีศาลาไม้โบราณหนึ่งหลัง ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
...วิหาร...
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ หลังคาซ้อนชั้นประดับช่อฟ้าและนาคสะดุ้ง หน้าบันไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษา แผงโก่งคิ้วเป็นลายไทยเทพวานรรายล้อมด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ราวบันไดขนาบข้างด้วยปูนปั้นมกรคายนาคประดับกระจกสี ซุ้มโขงประตูทางเข้าประดับปูนปั้นเทพพนมรายล้อมด้วยลวดลายก้านขดปิดทอง และผนังมีภาพวาดการแสดงโอวาทปาติโมกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานเป็นพระประธาน และจิตรกรรมฝาผนังเล่าพุทธประวัติและทศชาติชาดก
...เจดีย์...
มีรูปทรงศิลปะล้านนาผสมศิลปะสุโขทัย ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีมุมทั้งสี่ประดับสัปทน ส่วนฐานเขียงสี่เหลี่ยมซ้อนชั้น ย่อมุมประดับปูนปั้นสัญลักษณ์สิบสองนักษัตร เหนือขึ้นไปฐานบัวย่อเก็จซ้อนชั้น รองรับฐานเรือนธาตุยกเก็จย่อมุมเจาะช่องซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถัดขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นรองรับกับองค์ระฆังทรงคว่ำบัลลังก์ ปล้องฉัตร ปลียอดประดับฉัตร
...กำแพงโบราณ...
มีลักษณะเป็นแนวกำแพงโบราณอยู่เยื้องกับกุฏิเจ้าอาวาส และมีการค้นพบ "โอ่งโบราณ" ซึ่งในปัจจุบันอนุรักษ์และเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น