เชียงใหม่-นำชมวัดขุนคงหลวง (วัดบ้านหง) วัดเก่าแก่ที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา
...ประวัติความเป็นมาของวัด...
สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๕๕๐ เดิมเป็นวัดร้างชื่อว่า "วัดบ้านหง" ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ช่วงการฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาหลังพม่าปกครอง โดยพระองค์ได้นำพวกละว้าจาก อำเภอสันป่าตอง มาอยู่ที่หมู่บ้านร้าง (บ้านหง) และมีผู้นำหมู่บ้าน คือ "ปู่ขุนคง" เป็นผู้นำชาวบ้าน มาพัฒนาสร้างหมู่บ้านขึ้น พร้อมบูรณะวัดร้างบ้านหงและเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดขุนคงหลวง" ตามชื่อผู้นำหมู่บ้านเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐
...ความสำคัญของวัด...
ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่เป็นโขงพระเจ้า (ซุ้มโค้ง ซุ้มโขง ยกชั้น) ศิลปะมอญผสมหริภุญชัย วิหารโบราณและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เครื่องสูงของพระเจ้าองค์ดำ กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งพระเจ้ากาวิละนำมาถวายอยู่คู่กับวัดและยังปรากฏอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้
...สถาปัตยกรรมโดดเด่น...
วิหาร
...เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวแบบล้านนา ทางขึ้นมีบันไดแบบเรียบและมีปูนปั้นยักษ์อารักษ์ประจำด้านหน้า มีหลังคาหน้าจั่วซ้อนลดด้านหน้า ๓ หลัง ๒ ประดับช่อฟ้าและหางหงส์ ส่วนองค์ประกอบหน้าบันโก่งคิ้ว และปีกนกเป็นไม้มีลักษณะแบบม้าต่างไหมแบ่งเป็นช่อง แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาประดับกระจกสี ซึ่งยังปรากฏให้เห็นบางส่วน ภายในเป็นโครงสร้างเสากลมรับน้ำหนักตกแต่งลวดลายไทยปิดทองล่องชาดนำสู่พระพุทธรูปประธานปูนปั้นปางสมาธิ ศิลปะล้านนา และโขงพระเจ้าโบราณด้านหลังพระประธาน ด้วยการก่ออิฐถือปูน ตกแต่งลวดลายสีทองประดับกระจกสีและภาพปั้นนูน ศิลปะมอญผสมหริภุญชัย ส่วนผนังอาคารมีภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และราชวงศ์เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมวัดขุนคงหลวง พ.ศ.๒๕๑๙
อุโบสถ
...เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบล้านนาประยุกต์ ตั้งอยู่ในรั้วกำแพงแก้วมีรูปปั้นสิงห์ประดับทางเข้า มีปูนปั้นใบเสมกำหนดขอบเขตพัทธสีมา บันไดทางขึ้นเป็นปูนปั้นมกรคายนาค มีหลังคาซ้อนชั้นคลุมมุขโถงทางเข้า ประดับช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ ส่วนหน้าบัน แผงโก่งคิ้วและแผงปีกนกสองข้างประดับตกแต่งปูนปั้นปิดทองบนพื้นกระจกสีฟ้า ลวดลายเครือเถาและมีหน้าบันเป็นรูปเทพพนม ส่วนบานประตูเป็นโขงทรงปราสาทปูนปั้นตกแต่งลวดลายสีทองบนพื้นกระจกสีฟ้า และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอกเป็นภาพนางฟ้า
เจดีย์
...เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบเรือนชั้นซ้อนผสมกับแบบหลังคาลาด มีส่วนฐานเขียงสี่เหลี่ยมรองรับฐานเขียง ๓ ชั้นในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จและฐานบัวคว่ำและบัวหงายในผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ ยืดท้องไม้สูงประดับลูกแก้วอกไก่ ๒ เส้น เหนือขึ้นไปส่วนเรือนธาตุเป็นอาคารสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมประดับซุ้มจระนำ ตกแต่งลวดลายปูนปั้นประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน ถัดไปเป็นส่วนยอดแบบเรือนชั้นซ้อนลดหลั่นสลับหลังคาลาดใน ๒ ชั้นแรก แต่ละเรือนชั้นมีช่องวิมานทั้งสี่ด้าน และมีปลายยอดปราสาทประดับฉัตร
หอไตรหรือหอธรรม
...เป็นเรือนไม้ยกสูง
ห้องสมุดพระราชทาน
...เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ด้านนอกของวัด อาคารเรือนไม้ อาจดูเก่า แต่เอกสารต่างๆ หากได้มีใครมานำไปลงในสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การอ่าน และเข้ากับแนวทางสมัยใหม่ก็น่าจะดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น