ถ้าจะให้ลูกเป็นหนูน้อย 2 ภาษา
สมัยนี้ถ้าคนเรามีความรู้ทางภาษามากกว่าหนึ่งถือว่าได้เปรียบ มีโอกาสทางสังคมมากกว่าใช่ไหมคะ
คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ ก็เลยพยายามสรรหาโอกาสการเรียนรู้ภาษาอื่นให้แก่ลูกตัวเอง เริ่มกันตั้งแต่วัยเริ่มเรียนเลยล่ะ แต่ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร เราจะไปหาคำตอบชัดๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก 2 ท่านค่ะ คือ ดร.วรนาท รักษ์สกุลไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา (แผนกอนุบาล) นักการศึกษาคนเก่งอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย และจิตแพทย์เด็ก พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น
ก่อนที่เราจะไปถกกันว่าเจ้าตัวน้อยๆ ของเราจะเริ่มเรียนรู้ภาษาที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ... ได้หรือไม่ในช่วงวัย 1 - 3 ขวบ เรามารู้จักกับการเรียนรู้ภาษาของเด็กวัยนี้กันก่อนดีไหมคะ
คำว่า "ภาษา" ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูด ถ้อยคำที่ใช้พูดกัน และหมายถึงการส่งสารและรับสารด้วยคำที่มีความหมาย มีสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ ถ่ายทอดออกไปให้ผู้อื่นได้รู้ด้วยค่ะ
โดยพ่อแม่จะต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขในการเรียนภาษาของเด็กไว้ก่อนว่า
1. ในการเรียนภาษาพร้อมๆ กันทั้ง 2 ภาษานั้นลูกเราจะต้องมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาทั้งสองได้อย่างเท่าเทียมกัน
2. การเรียนภาษาที่ 2 ของลูกนั้นต้องเรียนภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นคนในครอบครัวของเราก็ควรที่จะใช้ได้ทั้ง 2 ภาษา เพื่อจะได้พูดจาโต้ตอบกับเจ้าตัวน้อยได้ด้วยค่ะ
และ
3. ทั้งภาษาแม่และภาษาที่ 2 ที่เราสอนลูกนั้นจะต้องพัฒนาไปในเวลาเดียวกันค่ะ
ดังนั้นก่อนที่จะส่งลูกวัย 1 - 3 ปีเรียนรู้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษาเพิ่มขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องตอบตัวเองก่อนว่าจำเป็นแค่ไหนที่ลูกจะต้องเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติม และครอบครัวสังคมรอบๆ ตัวลูกเรามีโอกาสที่จะได้ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยหรือไม่
เพราะการใช้ภาษาอื่นนี้ ไม่ใช่แค่การพูดทักทายคุณพ่อคุณแม่ในตอนเช้าว่า Good morning แต่เป็นการใช้ภาษาในลักษณะที่มีปฏิสัมพันธ์ มีการโต้ตอบกัน ไม่ใช่เรียนภาษาแบบนกแก้วนกขุนทองท่องจำ และหากลูกไม่มีโอกาสได้ใช้ในชีวิตประจำวัน การเรียนภาษาก็ไม่มีโอกาสได้พัฒนา ก็จะเป็นการเรียนแบบท่องจำไป และถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้ลูกเราไม่รู้จักคิด คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น เกิดความล้มเหลวทางระบบการคิด อาจส่งผลกระทบถึงการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ได้
ซึ่งการเรียนรู้ภาษาอื่นเพิ่มขึ้นของลูกเล็กจะต่างจากการเรียนภาษาของคนโตๆ อย่างเรา ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายอย่าง เนื่องจาก...
- เด็กมีพัฒนาการหรือวุฒิภาวะเป็นของตัวเอง และในช่วงวัย 1 - 3 ปีนี้ ลูกจะมีลักษณะของการยืดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นลูกก็จะคิดอะไรแต่ที่ปัจจุบัน ไม่มองถึงอนาคต การใช้ภาษาจึงสะท้อนตัวตนแบบนั้นออกมา
- การเรียนภาษาของเด็กนั้นไม่ใช่แค่จับลูกมานั่งให้ท่องให้คัด ก ไก่ ข ไข่ หรือ A B C แต่เป็นการเรียนเพื่อเอาไว้ใช้สื่อสารทำความเข้าใจ ต้องมีอรรถรสของการใช้ภาษา ไม่ใช่แค่พูดเป็นเพราะอาศัยการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่มีความคิดอยู่ในนั้น
- การเรียนภาษาเป็นกระบวนการของวุฒิภาวะ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญเติบโต การเรียนรู้ใหม่อาศัยประสบการณ์เดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนภาษาต่อไป
- เด็กในช่วงวัย 0 - 6 ปีนี้เรียนรู้ทุกอย่างผ่านการเล่น ถ้าหากจับลูกวัย 3 ขวบมานั่งเรียนภาษา โดยที่เขาไม่ชอบ หรือไม่รู้ซึ้งเห็นความสำคัญในตรงนี้ก็จะเป็นการบังคับ ยัดเยียดกันไป
ดังนั้นในเรื่องการสอนอีกภาษาหนึ่งให้ลูก ประเด็นเรื่อง "วิธีการ" จึงสำคัญอย่างมาก ว่าลูกสนุกกับการเรียนรู้หรือไม่ พ่อแม่เข้าไปมีส่วนกับการเรียนรู้ตรงนี้ด้วยหรือเปล่า ถ้ามีการนำภาษาอื่นเข้ามาพูดคุยกันในครอบครัว (โดยไม่บังคับลูก) ตรงนี้อาจจะมีส่วนช่วยให้ลูกเราเรียนรู้ทั้ง 2 ภาษา (คือภาษาแม่กับภาษาอื่น) ได้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
ส่วนวิธีการเปิดโทรทัศน์หรือวิดีโอการ์ตูนที่เป็นภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่น) ให้ลูก หวังจะให้ลูกเรียนรู้ภาษาอื่นผ่านการดู การได้ยินเสียงหรือสำเนียงจากโทรทัศน์นั้น ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีและถูกต้อง เพราะการดูโทรทัศน์ของเด็กเป็นการสื่อสารทางเดียว ลูกไม่มีโอกาสได้โต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยเลย และอาจมีผลทำให้ลูกเรามีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าไปได้อีกด้วย
เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องพัฒนาการล่าช้า อ.วรนาทจึงเล่าเสริมถึงงานวิจัยของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2542 ระบุว่า...
"พัฒนาการรวมทุกด้านของเด็กปฐมวัยร้อยละ 71.69 สงสัยว่าล่าช้า และร้อยละ 28.31 มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า เนื่องจากว่าเราใช้วิธีสอนภาษาผิด ใช้การคัดเขียน อ่านบทเรียนที่ยาก ไม่สนุกกับภาษา เรียนแบบท่องจำ และใส่ภาษาให้เด็กเร็วเกินไปในแง่ของคัดเขียนให้เด็กจำกฏเกณฑ์เร็วเกินไป"
ดังนั้นการให้ลูกเรียนภาษาที่ 2 เร็วเกินไป และด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก อาจทำให้กลายเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสีย แต่หากเรามีความพร้อมที่จะสอนให้ลูกอย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ในชีวิตประจำวันกันทั้งบ้านเลยก็เริ่มกันได้ไม่ผิดอะไร แต่ถ้ายังไม่พร้อมรอถึง 6 ขวบ หรือ ป.1 ไปแล้วก็ไม่สายเกินไปหรอกค่ะ ให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ (learn how to learn) ด้วยภาษาแม่ของตัวเองภายใต้ความพร้อมของเขาจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงกว่า
และเรื่องที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ สิ่งที่มาด้วยกันกับภาษา คือ การรู้จักใช้ภาษา ใช้ให้ถูกกาลเทศะด้วยค่ะ ที่สำคัญที่ อ.วรนาท ฝากไว้ก็คือ อาจารย์มองว่า Bilingual เป็นแค่กระแสที่ตามมากับเทคโนโลยีและโลกาภิวัฒน์ ในขณะที่เรารู้ว่าวัยในช่วง 0 - 6 ปี เป็นช่วงวิกฤติ ที่ต้องการการดูแลเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด พ่อแม่อย่างเราๆ จึงน่าจะคำนึงถึงพัฒนาการที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ในเรื่องของ อีคิว และการรู้คิดของลูกมากกว่าค่ะ
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ภาษาของเด็กคุณหมออัมพรเล่าว่า ประมาณ 8 ปีแรกของชีวิต จะเป็นช่วงเวลาทองของพัฒนาการด้านนี้เลยค่ะ ในช่วง 3 ขวบปีแรกลูกเราอาจจะยังมีการพูดที่ไม่สมบูรณ์แบบใกล้เคียงกับผู้ใหญ่นัก แต่ในช่วงนี้หากลูกได้รับการส่งเสริมหรือคุณพ่อคุณแม่เอื้อในการเรียนรู้ภาษาของลูกแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้เจ้าตัวน้อยมีความเข้าใจในภาษา ใช้ภาษาสื่อสารได้ดี รับรู้และสามารถถ่ายทอดออกไปได้
แต่การเรียนภาษาที่ 2 ตั้งแต่เล็กๆ ข้อดีอยู่ที่ถ้าเด็กได้เรียนรู้ ซึมซาบกับสำเนียงของภาษาใดตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เขาก็จะสามารถใช้ภาษานั้นได้อย่างไพเราะ และมีสำเนียงถูกต้องมากเท่านั้น เช่น เด็กเติบโตมากับพี่เลี้ยงที่พูดจาสำเนียงไม่ไพเราะถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะมีภาษาที่ไพเราะก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้เลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองแล้ว ลูกก็จะติดสำเนียงจังหวะจะโคนในการพูดจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขาได้ค่ะ
ทั้งนี้เป็นเพราะหน้าต่างการเรียนรู้ภาษาของเด็กจะปิดเมื่ออายุ 8 ปี สำเนียงต่างๆ จะถูกตั้งไว้แล้ว รวมถึงความเข้าใจ และการคิดอย่างเป็นระบบด้วยภาษานั้นๆ ถ้าเด็กที่ถูกสอนด้วยภาษาอังกฤษ หรือ จีน เขาก็มีโอกาสคิดเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และโต้ตอบเป็นภาษานั้นได้ ถ้าอายุ 8 ขวบ ไปแล้วความคิดในเชิงนั้นจะช้าลงมาก อย่างเวลาที่เราคิดว่า เสื้อสีแดง ถ้าเวลาที่คิดเป็นภาษาอังกฤษเราต้องบอกว่า red shirt แต่ถ้าเด็กเรียนแบบเสื้อสีแดงมาตลอดจนพ้น 8 ขวบไปแล้ว อยู่มาวันหนึ่งต้องมาพูดว่า red shirt เด็กจะคิดนานกว่าธรรมดา จะไม่เป็นอัตโนมัติเหมือนคนที่เรียนรู้ก่อน 8 ขวบ
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าควรจะเรียนรู้จนอยู่ในความรู้สึกสามารถคิดเป็นอังกฤษได้ต้องเริ่มเรียนรู้ก่อน 8 ขวบ หลังจากนั้นก็เป็นไปได้ค่ะ แต่จะช้า ไม่ดีเลิศเท่ากับเด็กกลุ่มที่เรียนรู้ตั้งแต่ต้นๆ ของชีวิต
อย่างมีการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ความล่าช้าทางภาษาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเด็กคนนั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหานี้อยู่แล้ว เช่น เด็กที่มีความผิดปกติบางด้านทางพัฒนาการทางภาษา เป็นโรคบางอย่างที่รบกวนการเรียนรู้ทางภาษา การสื่อสารของลูก แต่สำหรับในเด็กทั่วๆ ไปที่มีศักยภาพตามปกติแล้ว การเรียนรู้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษาในช่วงวัยเล็กๆ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์ในแง่ของการส่งเสริมให้สำเนียงหรือว่าการสื่อภาษาทั้ง 2 ถูกต้องและมีความชัดเจน
แม้ในช่วงแรกๆ ลูกอาจจะยังขลุกขลักอยู่บ้าง อาจจะพูดไทยปนอังกฤษ (หรือภาษาอื่น) แต่จะไม่กระทบกระเทือนในระยะยาวถ้าภาษาของลูกถูกสร้างให้สมบูรณ์แล้ว
ตรงกันข้ามพบว่า เด็กที่เรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษาเมื่อโตไปจะมีความคิดในเชิงบริหารจัดการ-บูรณาการมากกว่าคนที่เรียนรู้ภาษาเดียว อาจเพราะเด็กได้ถูกฝึกฝนระบบความคิดของตัวเองในการแยกแยะ 2 ภาษาให้ออกจากกันก็เป็นได้
แต่ทั้งนี้การสอนภาษาที่ 2 ให้กับลูก ก็มีเงื่อนไขเหมือนกัน นั่นคือต้องเป็นการสอนที่เป็นธรรมชาติใช้ในชีวิตประจำวันอยู่บนพื้นฐานของความสุข ลูกสนุกกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ มีบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ และคุณพ่อคุณแม่ต้องพร้อมที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ภาษาของลูกตรงนี้ด้วยตนเอง มีสำเนียงทีดี พูดได้ถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบที่ถูกต้องเพราะว่าในช่วงเล็กๆ นี้ถ้าพูดสำเนียงที่ผิดกับลูกๆ หวังแต่จะให้ลูกรู้ศัพท์ภาษาอื่น จะทำให้ลูกจดจำและเติบโตขึ้นไปพร้อมกับสำเนียงที่ผิด ซึ่งเรื่องนี้จะแก้ไขให้เขาเรียนรู้สำเนียงที่ถูกต้องได้ยาก แม้จะยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ที่ดีก็ตาม
สิ่งที่สำคัญก็คือบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ของลูก นั่นก็เพราะว่า "เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะเรียนรู้ถ้ามีโอกาสเอื้อให้กับเขา ไม่ใช่การยัดเยียด"
การสอนภาษาที่ไม่ถูกวิธี ยัดเยียดความรู้ให้แก่ลูกจะทำให้เกิดปัญหาลูกมีความกดดัน และถ้าถูกกดดันมากๆ ลูกก็จะมีการแสดงออกมา 2 แบบโดยจะเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับพื้นฐานของเด็กแต่ละคนด้วยค่ะ คือ
- ยอมรับที่จะถูกกดดันต่อไป คล้อยตาม
ทำให้เป็นเด็กที่ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ถึงแม้จุดเริ่มต้นจะเริ่มมาจากการสอนภาษาให้ลูกก็ตาม แต่เรื่องนี้มีผลกระทบถึงเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ มีผลต่อบุคลิกภาพของเด็กด้วย จะทำให้ลูกของเรากลายเป็นเด็กที่สมยอมไปเรื่อยๆ ได้ค่ะ
- ต่อต้าน
ลูกจะกลายเป็นคนที่ปฏิเสธภาษาที่เราพยายามจะสอนไปเลย ไม่อยากที่จะรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับภาษานี้อีกต่อไปค่ะ
และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเกิดปัญหาทางอารมณ์แล้วละก็ ปัญหานี้ก็สามารถที่จะกระทบกระเทือนพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกได้แน่นอน
"อยากให้เด็กมีทั้งภาษาที่ดี และภาษาที่ดีนั้นส่งเสริมสติปัญญาที่ดีให้แก่เด็ก ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาสนุกกับชีวิต มีอารมณ์ที่มีความสุขด้วย การที่จะมุ่งเน้นพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งมีโอกาสทำให้พ่อแม่ละเลยจิตใจความรู้สึกของลูกได้และสิ่งนั้นจะส่งผลกลับมา สะท้อนที่พัฒนาการด้านอื่นทำให้เสียไปหมดรวมทั้งพัฒนาการทางภาษาที่ในที่สุดก็จะแย่ไปด้วย เด็กพูดชัด พูดไพเราะมาก แต่ไม่ยอมพูดกับใคร จะมีประโยชน์อะไร"
แม้มุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างนี้จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านเห็นต่างๆ กันในเรื่องช่วงเวลาเริ่มต้นการให้ลูกรักเรียนภาษาที่ 2 แต่ทั้งอาจารย์และคุณหมอต่างก็ให้ความสำคัญกับวิธีการที่จะสอนภาษาให้กับลูกและบรรยากาศในการเรียนรู้อย่างมาก เพราะถ้าทั้งเราและลูกต่างก็ไม่พร้อมกับการเรียนรู้ตรงนี้ ก็ย่อมไม่เป็นผลดีแน่ๆ เลยค่ะ
ดังนั้นในการสอนภาษาให้กับลูกควรจะดูที่ตัวลูกเราเป็นสำคัญ และเมื่อพัฒนาลูกด้านภาษาแล้วก็อย่าลืมพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันด้วยนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น