ผ่าคลอด ดีจริงอ้ะ
ใครว่าผ่าคลอดดีกว่าคลอดเอง...หมอสูติเท่านั้นที่ตอบได้
บางครั้งผู้หญิงจึงเกิดอาการสองจิตสองใจและโน้มไหวไปทางที่จะผ่าตัดคลอด เพราะเขาเล่าว่า ไม่รู้สึกเจ็บปวด แถมปลอดภัยต่อลูกด้วย
ในยุคหลังๆ ที่ผ่านมา ผู้หญิงเราจึงหันหลังให้ความเจ็บปวดในการคลอดตามธรรมชาติ หันมาเรียกร้องต้องการให้กำเนิดแบบสบายๆ ไร้ความเจ็บปวดด้วยวิธีผ่าคลอดในอัตราสูงขึ้นทุกทีๆ แล้วเลยเถิดไปถึงผ่าคลอดด้วยต้องการกำหนดฤกษ์เกิดให้ลูก
ยิ่งมีการเสนอข้อมูลชวนให้คล้อยตามว่า ผ่าคลอดดีกว่าคลอดเอง อ้างอิงถึงความน่ากลัว เสี่ยงอันตรายต่างๆ นานาของการคลอดเองตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็สรรเสริญการคลอดด้วยวิธีผ่าตัดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่า ทั้งต่อแม่และลูกน้อย
ชวนให้เข้าใจว่า การคลอดเองตามธรรมชาติจะทำให้แม่บอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีผลอย่างมากต่อชีวิตเซ็กซ์หลังคลอด (ถึงกับหย่าร้างกันเพราะช่องคลอดหลวม) ลูกน้อยเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน มีศีรษะเบี้ยว ยาว ปากเบี้ยว กะโหลกร้าว เลือดคั่งในสมอง
เกิดความสับสนว่าการคลอดด้วยตัวเองที่ผู้หญิงนับล้านเคยคลอดมาแล้วนั้นมันเสียหายร้ายแรงถึงเพียงนี้หรือ อย่างนี้เปลี่ยนเป็นผ่าตัดคลอดกันทุกคนมิดีกว่าหรือ
เรื่องอย่างนี้คงถามเองตอบเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญแล้วละ ซึ่งเราก็ได้รับความกรุณาจาก รศ.พญ.เสาวคนธ์ อัจจิมากร อาจารย์แพทย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้รับการยอมรับในหมู่สูติแพทย์ด้วยกันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการผ่าไม่ผ่า ที่เราได้ยินได้อ่านมา
ผ่าคลอดดีกว่าคลอดเองจริงหรือ
พอทักถามท่านถึงประเด็นนี้ คุณหมอขอทำความเข้าใจก่อนว่าสูติแพทย์จะทำการผ่าตัดคลอดให้ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้ อย่างเช่น แม่เชิงกรานเล็ก ลูกตัวใหญ่... "การแพทย์ก็แสวงหาวิธีที่มาช่วยให้แม่เหล่านี้คลอดเองได้ และกำหนดข้อบ่งชี้ไว้ชัดเจนว่ายังไงควรผ่า ผ่าเมื่อไร สูติกรรมสมัยใหม่เราไม่ได้ปล่อยให้มีการเจ็บคลอดเนิ่นนาน เรามีการให้ยากระตุ้นให้คลอดเร็วขึ้นได้ ถ้าปากมดลูกไม่ยอมเปิดก็ค่อยตัดสินใจผ่าตัดก่อนจะบอบช้ำหรือมีปัญหา ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผ่าเลย
อาการเจ็บนั้นสามารถให้ยาระงับได้ ถึงแม้ไม่หายเป็นปลิดทิ้งแต่อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ พูดถึงความเจ็บปวดแล้วมันก็ผ่านไปได้ มันทำให้คนเป็นแม่รู้สึกว่า มีลูกยากจริงหนอ เราจึงต้องรักลูก แล้วในความเจ็บทรมานในที่สุด เราก็ได้สิ่งที่ปรารถนาเป็นความสุข เปรียบเหมือนหลังมรสุมแล้วเราจะเจอฟ้าใสสว่าง ปลื้มปีติยินดี... ท้องแรก อาจจะเจ็บมากหน่อย แต่ส่วนใหญ่ท้องหลังจะดีขึ้น
ส่วนการผ่าคลอดนั้นทำให้เสียเลือดเป็นสองเท่าของการคลอดปกติ เสี่ยงต่อการดมยา มีโอกาสผ่าโดนอวัยวะภายในโดยไม่ตั้งใจ เช่น ลำไส้ ท่อปัสสาวะ กระเพาะ ถ้าโดนแล้วเรื่องยาว อยู่โรงพยาบาลนานอีกหลายๆ อาทิตย์
แล้วผ่าคลอดตามฤกษ์... มีกรณีเด็กตายหรือเป็นอันตรายแต่ไม่มีใครรู้
ที่เดี๋ยวนี้นิยมผ่าก็เป็นเพราะแม่กลัวเจ็บกันมาก ประกอบกับระบบการแพทย์พาณิชย์ เอื้ออำนวยให้หมอตามใจคนไข้ โดยไม่คำนึงว่าสมควรหรือไม่ กลัวเจ็บกับกลัวไม่สาว กลัวช่องคลอดหลวม สามีเบื่อ มักผ่าเพราะสองกรณีนี้ล่ะ
ที่จริงคนผ่าคลอดน่าจะต้องจ่ายหมอน้อยกว่าคนที่คลอดเองด้วยซ้ำ เพราะคนที่คลอดเองหมอใช้เวลาในการดูแลให้คลอดยาวนานกว่า นี่กลายเป็นว่าผ่าคลอดเสียเงินมาก เสียค่าใช้จ่ายมากเพราะอยู่โรงพยาบาลนานกว่าคลอดเอง"
เขาบอกว่าผ่าตัดคลอดช่วยลดอัตราตายของแม่และลูก
"แน่นอนว่า การผ่าตัดทางหน้าท้องอย่างปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการลดอัตราตายของแม่และทารก แต่ต้องมีเหตุที่สมควรผ่าด้วย ผ่าคลอดนั้นต้องมีเหตุผลประกอบซึ่งในทางวิชาการเขาได้กำหนดมาเรียบร้อยแล้ว อย่างเช่น รกเกาะต่ำเลือดออกบ่อยๆ เด็กตัวโตมาก และการตัดสินนั้นก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ในโรงพยาบาลเรามีคลินิกแม่ตั้งครรภ์เสี่ยง เช่น แม่ที่เป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ไทรอยด์ แน่นอนว่าคนเหล่านี้ มีโอกาสผ่าสูงกว่าคนทั่วไป
หรืออย่างลูกแฝดก็ไม่จำเป็นต้องผ่าเสมอไป แต่ส่วนใหญ่ลูกแฝดเกิดจากการผสมเทียมของคนที่มีลูกยาก ซึ่งเขาถือว่าเป็นพรีเมียมเบบี้ มีค่ามากกว่าจะได้มา หมอไม่อยากให้เสี่ยง อย่างนี้ก็ให้ผ่า
ไม่ใช่ผ่าเพราะเหตุผลทางพาณิชย์หรือเพื่อความสะดวกหรืออย่างที่อ้างว่าผ่าท้องคลอดแล้วจะได้ตัดไส้ติ่งด้วย มันไม่จำเป็น คุณอาจจะตายโดยไม่เป็นไส้ติ่งอักเสบเลยก็ได้ ถ้าทำหมันละโอเค ควรทำ
หรือที่คุณแม่กลัวการเจ็บคลอดนานๆ และหวาดวิตก ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่า ตรงนี้หมอแก้ไขได้ด้วยการอธิบายให้คุณแม่เข้าใจขั้นตอนการคลอดและวิธีการที่จะช่วยแม่ไม่ให้เจ็บครรภ์นาน ถ้าในกรณีผ่าตามความต้องการของคุณแม่ หมอก็ไม่ต้องอธิบาย
ในการผ่าคลอดก่อนกำหนด ถ้าหมอคำนวณอายุครรภ์ไม่ถูกต้อง ปอดเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอาจจะทำงานไม่ดี หอบตายได้"
ที่บอกว่าคลอดเอง แม่จะมีความบอบช้ำมากกว่าผ่าคลอดล่ะค่ะ
"ความบอบช้ำทางไหนล่ะ ถ้าทางจิตใจ อาจจะมีเจ็บมากที่เกิดอาการเรียกว่า ไซคิกทรอมา แพทย์ก็จะไม่ให้เจ็บทรมานจนทนไม่ได้อีกแล้ว เรามียาระงับเจ็บที่สามารถให้ได้อย่างปลอดภัย
ส่วนช่องคลอด แน่นอนลูกโป่งที่เป่าย่อมมีการขยาย แต่เราก็มีการเย็บคืนสภาพ อาจจะมีความแตกต่างจากก่อนคลอดบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหาในเรื่องเซ็กซ์ แต่มันอยู่ที่เทคนิคต่างหาก เพราะการมีเซ็กซ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่องคลอดอย่างเดียว นอกเสียจากว่ามีปัญหาสามีจะตีจาก เลยหาเหตุว่าเซ็กซ์ไม่เหมาะกัน มันเป็น 1 ใน 100 ปัจจัยที่จะหาสาเหตุ
หรือที่บอกว่าคลอดเองแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูก... ไม่มี เพราะปากมดลูกอยู่ในที่ที่เชื้อโรคไม่ได้เข้าไปง่ายๆ มันขยายเปิดเวลาคลอดแล้วก็จะปิดเข้าที่ได้เอง
มดลูกล่ะ จะบอบช้ำได้อย่างไรในเมื่อช่องเชิงกรานนั้นกว้าง แล้วมดลูกก็เหมือนลูกโป่ง ถ้าทำจากยางชนิดดี มันโป่งแล้วก็หดเกือบจะเหมือนเดิม แต่มดลูกที่ไม่สมบูรณ์อยู่แล้วก็เหมือนลูกโป่งเนื้อไม่ดีนั่นเอง จะบอบช้ำก็ต่อเมื่อมีการประเมินผิด เช่น เด็กตัวโตมาก เชิงกรานแคบ อย่างนี้เราไม่ควรประเมินให้คลอดเอง
สิ่งสำคัญสูติแพทย์ต้องประเมินให้ถูกต้อง นี่คือทำไมต้องเป็นสูติแพทย์ สูติแพทย์คือคนที่เรียนมาเพื่อประเมินวินิจฉัยสิ่งเหล่านี้ให้เหมาะให้ควร...
เมื่อไรควรให้คลอดเอง เมื่อไรควรให้ผ่า ถ้าพูดถึงทักษะความชำนาญในการผ่า เอาคนขายหมูมาฝึกหัดอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ สูติแพทย์ที่เก่งหรือไม่เก่งอยู่ที่มีความสามารถในการวินิจฉัยมากกว่า ถึงต้องเรียนไง ไม่ใช่จับผ่าหมด"
ลูกจะบอบช้ำหรือมีโอกาสขาดออกซิเจนไหมคะ
"ถ้าคลอดเองจะต้องมีโอกาสโง่เง่าปัญญาอ่อนสูง บรรพบุรุษของเรา รวมถึงตัวเราก็คลอดเองเป็นส่วนใหญ่
แล้วเดี๋ยวนี้ประเภทหมอปล่อยให้แม่นอนรอคลอดค้างคืนไม่มีอีกแล้ว เราจะไม่ให้แม่อยู่ในห้องคลอดเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเกิน 1 ครั้ง ด้วยระบบของยา ระบบการแพทย์ที่เอื้ออำนวย แต่ถ้าต้องผ่าเราก็จะทำในเวลาที่เด็กไม่บอบช้ำเกินไป เด็กไม่ทันขาดออกซิเจนแน่นอน เพราะจะมีการประเมินสุขภาพทารกในครรภ์เป็นระยะๆ มีการฟังเสียงหัวใจเด็ก ดูว่าน้ำคร่ำมีสีอย่างไร สายสะดือรัดคอเด็กหรือเปล่า ประเมินว่าคลอดเองได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็เอาไปผ่า ซึ่งจะมีห้องผ่าตัดอยู่ติดๆ กัน
การที่เราดูดศีรษะเด็กในการคลอดเอง ศีรษะลูกจะดูยาว หรืออาจมีการบวม เพราะเลือดมาคั่งบ้าง แต่เป็นเฉพาะผิวหนังที่หุ้มกะโหลกอยู่ แล้วจะหายไปเองในไม่ช้า
ผลหลังคลอดล่ะค่ะ
คนคลอดเองฟื้นเร็วกว่า สบายดีกว่ากันเยอะเลย ขณะคุณคลอดเอง คุณรู้สึกตัวตลอดเวลา ส่วนผ่า ส่วนใหญ่ดมยาชนิดหลับ หรือบางทีใช้บล็อกหลังก็จะสะลึมสะลือ เพราะเขาไม่อยากให้เรารู้ตัวมากเดี๋ยวเจ็บ พอคลอดลูกออกมาก็พลาดโอกาสที่จะได้ตื่นเต้นดีใจ หลังจากนั้นจะรู้สึกเหมือนคนนอนไม่พอ แล้วก็ให้นมลูกได้ช้ากว่าแม่ที่คลอดเองด้วย เพราะต้องรอให้ฟื้นตัวก่อน แถมอุ้มลูกลำบาก เจ็บแผล
แล้วคนที่คลอดเองกลับบ้านได้เร็วกว่า แผลผ่าตัดต้องอยู่ดูอาการที่โรงพยาบาล 7 วัน หรืออยากจะออกกำลังบริหารหุ่นให้เข้าที่ คนผ่าก็เริ่มได้ช้ากว่าคนคลอดเอง
หมอว่า การชักจูงคนให้มาเชื่อในทางที่ผิด เป็นเรื่องของจริยธรรมนะ เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกสูติแพทย์ ใครที่มีอัตราการผ่าสูงๆ หมอว่าน่าจะหลีกเลี่ยง ต้องคิดว่าเขาขี้เกียจดูแลคนไข้ เพราะในระยะเจ็บครรภ์คลอดนั้นเป็นระยะเวลาที่ต้องการการดูแลใกล้ชิดสม่ำเสมอ จะได้ทราบความผิดปกติว่าถึงเวลาคลอดหรือยัง หรือจะต้องผ่าหรือไม่ ถ้าทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ผลที่ได้ไม่ต่างจากที่เขาอ้างถึงผลดีของการผ่าคลอด หรือตรงข้ามจะดีกว่าในหลายๆ กรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพเด็กไม่ต่าง แต่ค่าใช้จ่ายสิต่างกันอย่างเห็นได้ชัด"
ได้คำตอบชัดแล้ว ทีนี้ขึ้นอยู่กับพ่อแม่แล้วล่ะค่ะ ที่จะหันมาใช้วิจารณญาณของตัวเอง หาความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องแทนฟังเขาเล่าว่า... เสียที
แบบนี้ต้องผ่า
ในการฝากครรภ์ คุณหมอสามารถบอกได้ว่าคุณแม่รายใดที่ต้องผ่าคลอด เช่น คุณแม่ที่
มีโรคที่จะทำให้เกิดอันตรายขณะเบ่งคลอด อาทิ โรคหัวใจ มีความผิดปกติที่ช่องเชิงกรานหรือกระดูกบริเวณนี้เคยแตกหัก มีภาวะติดเชื้อมากเต็มช่องคลอด (เอดส์ ไวรัสตักอักเสบ หูดหงอนไก่ เริม ฯลฯ)
รกเกาะต่ำจนปิดปากมดลูก มีประวัติคลอดยาก
เคยทำรีแพร์มาก่อน
เด็กตัวใหญ่มาก (แม่ตัวเล็ก) ฯลฯ
คุณแม่ที่ไม่อยู่ในภาวะข้างต้นก็อาจจะต้องได้รับผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ถ้าในระยะคลอดหมอวินิจฉัยพบว่ามีเหตุให้คลอดเองไม่ได้ เช่น เด็กอยู่ในท่าก้นไม่ยอมเปลี่ยนท่าหรือกลับตัวเลย สายสะดือโผล่ ตกเลือดเนื่องจากรกเกาะต่ำ ฯลฯ
คลอด...ฉากสำคัญของกระบวนการเป็นแม่ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ หากจะถามเจ้าตัวว่าเธออยากคลอดเองตามธรรมชาติหรือฝืนธรรมชาติ แบบที่ต้องอาศัยคมมีดผ่าตัด เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองของธรรมชาติ แม้ว่าใจหนึ่งอดประหวั่นพรั่นพรึงกับสิ่งที่ต้องเผชิญไม่ได้ อย่างเช่น ความเจ็บปวด หรือร้อยแปดพันเก้าที่คนเขาเล่าว่า... มันเป็นช่วงเวลาวิกฤติเจียนตาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น