วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

8 วิธีเพิ่มความฉลาดให้ลูกน้อย

ทักทาย...
การที่คุณพ่อคุณแม่มุ่งหวังที่จะส่งเสริมลูกน้อยวัยขวบปีแรกให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดได้นั้น ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ และไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมแต่อย่างใด เพราะจากผลงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นของนักวิชาการก็ได้พิสูจน์แล้วว่า พันธุกรรมไม่ได้มีผลต่อความฉลาดของมนุษย์เราแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าปัจจัยทางด้านอาหาร ดนตรี และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เหมาะสมก็จัดเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เติบโตไปเป็นเด็กที่มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน

หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่าการที่เราจะกระตุ้นสมองของลูกรักตามตำราแล้วจะเหนื่อยเปล่านั้น อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งกลุ่มทำงานที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสติปัญญาพบว่า ทั้งสองปัจจัยมีความสำคัญต่อความฉลาดของเด็กเท่าๆ กัน

นั่นหมายความว่า แม้พันธุกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญต่อความฉลาดของเด็ก ทว่าวิธีการเลี้ยงดูลูกของคุณพ่อคุณแม่ที่เหมาะสม ก็จะสามารถพัฒนาสติปัญญาของลูกน้อย ให้ชาญฉลาดได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลูกน้อยอยู่ในวัยแรกเกิดจนถึง 3 ปี สมองของลูกในช่วงวัยนี้ กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เส้นใยประสาทอันซับซ้อนที่อยู่ภายในสมองของลูกรักจะแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่เริ่มโตวันโตคืน และหากคุณพ่อคุณแม่กระตุ้นการเรียนรู้ของลูกอย่างถูกวิธีแล้ว เซลล์สมองของลูกน้อยก็จะสานต่อกันจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งอย่างไม่หยุดยั้ง และการเชื่อมต่อของเซลล์สมองที่เป็นร่างแหเครือข่ายอันแน่นหนานี้ จะส่งผลดีต่อการพัฒนาความคิดและสติปัญญาของลูกน้อยต่อไปในอนาคต

ดังนั้น ทุกบททุกตอนของการเลี้ยงดูลูกในวัยนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาอาหาร ดนตรี และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จึงล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อยให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้ด้วยกันทั้งสิ้น

อาหารช่วยพัฒนาสมอง

การรับประทานอาหารของเด็กทารกที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโตนั้น เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรพิถีพิถันให้ความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เป็นเพราะถ้าลูกน้อยขาดสารอาหาร หรือได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนนั้น นอกจากจะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ลูกมีร่างกายแคระแกรน ไม่เจริญเติบโตสมวัยเท่าที่ควรแล้ว การขาดสารอาหารยังมีผลต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยด้วย จากงานวิจัยพบว่า เด็กทารกที่ขาดสารอาหารจะทำให้กระบวนการคิด และการเรียนรู้ของเด็กบกพร่องไป

เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ทุกวันเป็นประจำ เพื่อลูกน้อยจะได้เติบโตเป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งนี้สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและสมองของลูกน้อยนั้นมีมากมาย อาทิ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม สังกะสี และทอรีน

ในส่วนของทอรีนนั้น จัดเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมอง และสายตาของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กในวัยเจริญเติบโตขาดสารอาหารประเภททอรีนแล้ว จะทำให้เด็กเกิดภาวะบกพร่องทางด้านสมอง เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ช้า และสายตาของเด็กยังจะไม่ดีอีกด้วย

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ลูกน้อยที่อยู่ในวัยที่สามารถรับประทานอาหารเสริมได้แล้ว มีโอกาสได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารประเภททอรีนในปริมาณที่เพียงพอต่อการพัฒนาสมอง และสายตาให้เกิดความสมบูรณ์ ซึ่งอาหารที่มีทอรีนมากนั้นสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จาก เนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรือปลาประเภทต่างๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำนมแม่นั้น ปกติแล้วก็มีทอรีนที่ช่วยพัฒนาสมองและสายตาของทารกในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว ทว่าในกรณีที่มีคุณแม่บางท่านมีน้ำนมน้อย หรือไม่สามารถให้น้ำนมแม่กับลูกได้ ก็อาจให้ลูกน้อยรับประทานนมผสมที่มีทอรีนเป็นส่วนผสมเป็นการทดแทน ทว่าการเลือกผลิตภัณฑ์นมผสมชนิดใดก็ตาม คุณแม่ควรพิจารณาเลือกชนิดและขนาดของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับอายุ ตลอดจนน้ำหนักตัวของลูกน้อยด้วย

เคล็ดลับเพิ่มความฉลาดให้ลูกน้อย

นอกจากสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกรักแล้ว การจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยก็เป็นสิ่งจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยเหมือนกัน และเคล็ดลับทั้ง 8 วิธีเหล่านี้จะเป็นกลวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้พัฒนาศักยภาพทางสติปัญญาของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่

1.โอกาสแห่งการเรียนรู้

จากการศึกษาของนักประสาทวิทยา พบว่าในช่วงที่เด็กทารกอยู่ในวัย 6 เดือนแรกของชีวิต เซลล์ประสาทตาและการรับภาพของเด็กทารกจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการเรียนรู้ภาษา และการหัดพูดของเด็กก็จะมีการพัฒนามาตั้งแต่ทารกอยู่ในวัยแรกเกิดแล้ว

ดร.แพทริเซีย คูล ผู้เชี่ยวชาญประสาทวิทยาด้านการเรียนรู้ ได้ศึกษาถึงพัฒนาการทางภาษาในเด็กที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า จริงๆ แล้วเด็กทารกแรกเกิดทุกรายสามารถแยกความแตกต่างของเสียงในทุกภาษาได้ นั่นหมายความว่า ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกน้อยวัยแรกเกิดจนถึงขวบปีแรกนั้น ลูกน้อยจะเรียนรู้ภาษาที่คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับเขา และทำความเข้าใจความหมายของคำหรือประโยคนั้นๆ รวมทั้งยังทำการแยกแยะความแตกต่างของเสียงได้ทุกภาษาอีกด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการจะพูดคุยกับลูกเป็นภาษาไทย ในขณะเดียวกันก็พูดภาษาต่างประเทศกับลูกด้วยนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าลูกจะสับสนหรือไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด

ทั้งนี้ อย่างกรณีที่เราสอนภาษาต่างประเทศให้กับเด็กวัย 2 - 3 ขวบนั้นจะเห็นได้ว่าเด็กในวัยนี้จะสามารถจดจำสำเนียงภาษาได้ง่ายและเรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่อายุ 8 ขวบ ในทำนองเดียวกันเด็กวัย 8 ขวบ ก็จะสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้เร็วและออกสำเนียงได้ดีกว่าผู้ใหญ่ที่เพิ่งจะเรียนภาษาต่างประเทศนั้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน

2.หมั่นสบตากับเจ้าตัวน้อย

ในขณะที่ลูกน้อยอายุ 6 สัปดาห์เขาจะสามารถมองเห็นภาพที่อยู่ห่างประมาณ 7 นิ้ว เพราะฉะนั้นในช่วงเวลานี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นอุ้มลูกน้อยไว้ในวงแขน และสบตากับเจ้าตัวน้อยให้มากเข้าไว้ เพราะภาพใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกน้อยเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่บ่อยๆ นั้นจะค่อยๆ ถูกบันทึกเก็บไว้ในวงจรสมองของลูกน้อย เพื่อแยกแยะความแตกต่างของใบหน้า และภาพอื่นๆ ที่เขาได้พบเห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งสิ่งนี้จะมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของลูกน้อยต่อไปในอนาคต

3."การพูดคุย" ช่วยพัฒนาสมองของลูกรัก

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาพบว่า ภาษามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาสติปัญญาของลูกน้อยมาก เพราะการเรียนรู้ภาษาของเด็กเล็กไม่ใช่เพียงแค่เป็นการจดจำคำและพูดออกมาได้เท่านั้น ทว่าการเรียนรู้ภาษาของเด็กจัดเป็นกระบวนการพัฒนาสมองที่ทำงานอย่างมีระบบ และยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่หมั่นพูดคุยกับลูกน้อยที่อยู่ในวัยแรกเกิดจนถึง 2 ขวบบ่อยๆ ด้วยแล้ว ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเรียนรู้ศัพท์ และสามารถแยกแยะความแตกต่างของคำแต่ละคำได้มากขึ้น

4.ดนตรีสื่อชีวิต

คุณพ่อคุณแม่ที่รักเสียงดนตรีนั้น อาจจะปลูกฝังให้ลูกน้อยเป็นเด็กที่รักเสียงดนตรีมาตั้งแต่ยังแบเบาะ ทั้งนี้ อาจจะเป็นรูปแบบของการเปิดดนตรีประเภทต่างๆ ให้ลูกน้อยฟังอยู่เป็นประจำหรือการร้องเพลงกล่อมลูกนอนก็ตาม ซึ่งวิธีที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกน้อยได้มีโอกาสสัมผัสกับเสียงดนตรีตั้งแต่ที่อยู่ในวัยแรกเกิดนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดผลดีทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยแล้ว ยังเป็นการช่วยทำให้ลูกรู้จักและคุ้นเคยกับจังหวะ ตลอดจนท่วงทำนองของดนตรีด้วย

นอกจากนี้ ได้มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่าเด็กกลุ่มที่เรียนเปียโน และฝึกร้องประสานเสียงนั้น จะมีความสามารถทางด้านการเรียนรู้มิติและการใช้เหตุผลได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเปียโน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้ลูกน้อยเรียนรู้ดนตรีนั้น คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจจะเพียงแค่ปรารถนาให้ลูกน้อยเป็นเด็กที่รักดนตรี และมีจิตใจสุนทรีย์เท่านั้น ไม่ได้มุ่งหวังที่จะให้ลูกเป็นเลิศหรืออัจฉริยะแต่อย่างใด ซึ่งก็นับว่าดนตรีมีความสำคัญทั้งทางด้านสติปัญญา และจิตใจของลูกน้อยเป็นอย่างยิ่ง คุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกน้อยรักเสียงดนตรีตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์

5.ส่งเสริมนักสำรวจตัวน้อย

นักสำรวจตัวน้อยจะเริ่มทำการสำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบกายตั้งแต่วัยแบเบาะ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าลูกน้อยที่นอนอยู่ในเปลนั้น มักจะมองและจดจ้องสิ่งต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าเขาอย่างตั้งอกตั้งใจ เพราะความอยากรู้อยากเห็นของเด็กทารกจะไม่มีขอบเขตจำกัด จึงทำให้เจ้าตัวน้อยพยายามเรียนรู้โลกกว้างด้วยตัวของเขาเองอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ของเด็กทารกนั้น จะช่วยให้เด็กมีความเฉลียวฉลาดมากขึ้น เพราะเขาจะมีประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมให้ลูกน้อยได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น การมองเห็น การฟัง การดมกลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัสอย่างเต็มที่

ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีการร่วมสำรวจโลกกว้างกับลูกน้อย ไปด้วยกันทั้งสามคนพ่อแม่ลูก โดยผ่านรูปแบบการเล่น เพราะวิธีนี้จะช่วยทำให้ลูกน้อยเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างสนุกสนานมากขึ้น ที่สำคัญจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นใจ เมื่อเห็นคุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้างเขาเสมอ

6."คุณแม่ขา ช่วยอธิบายให้หนูฟังหน่อยค่ะ"

แม้ลูกน้อยวัยแบเบาะยังพูดกับคุณพ่อคุณแม่เป็นคำไม่ได้ ทว่าเจ้าตัวน้อยที่ได้แต่นอนตาแป๋วอยู่นั้น ก็มักจะแสดงท่าทีสนอกสนใจ อยากรู้อยากเห็นโลกกว้างอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับว่าถ้าลูกพูดได้เขาคงขอให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ผ่านสู่สายตาของเขาว่า สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้คืออะไร?

อย่างในเรื่องของความแตกต่างระหว่างสี เด็กทารกที่วัยไม่ถึงขวบจะยังไม่สามารถเรียกชื่อของสีที่แตกต่างกันได้ เช่น สีแดงหรือสีเขียว ฯลฯ หากแต่เด็กจะมีความเข้าใจในเรื่องความแตกต่างของสีแต่ละสีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้จักชื่อที่จะเรียกจำแนกเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ก็คืออธิบายให้ลูกน้อยเข้าใจในเรื่องของสี ขนาด รูปร่าง และรูปทรงของสิ่งต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำให้ลูกน้อยมีความเข้าใจ ในรายละเอียดต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

7.สำคัญที่กำลังใจ

ในขณะที่ลูกน้อยทำสิ่งใดก็ตามสำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของผู้ใหญ่ก็ตาม ทว่าในจิตใจของลูกแล้ว สิ่งที่เขาทำสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่หมั่นพูดชมลูกน้อยในความสำเร็จเล็กๆ ของเขาอยู่เสมอ ก็จะทำให้ลูกน้อยมีกำลังใจที่จะใช้ความพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เมื่อลูกเกิดความอิ่มเอมใจกับความสำเร็จก้าวเล็กๆ ของเขาแล้วยังได้รับคำชมเชยจากคุณพ่อคุณแม่เป็นแรงใจอีก ภายในร่างกายของลูกน้อยก็จะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน หรือสารแห่งความสุขออกมา ซึ่งสารนี้จะเสริมให้เส้นใยประสาทของลูกประสานสัมพันธ์กันแน่นหนามากขึ้นทีละน้อย เป็นผลให้สมองของลูกมีการทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณพ่อคุณแม่แสดงท่าทีเฉยชาต่อความสำเร็จ เล็กๆ น้อยๆ ของลูกตั้งแต่ที่เขายังอยู่ในวัยแบเบาะแล้ว วงจรประสาทของลูกน้อยก็จะไม่มีการประสานสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่นเท่าที่ควร และผลจากการขาดการกระตุ้นทางด้านการเรียนรู้ในสิ่งนี้ จะทำให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องการทำสิ่งใหม่ๆ อีกต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อยต่อไปในอนาคต

8.ทำอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าสมองของลูกในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 3 ปี จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด ทว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ยังคงต้องส่งเสริมการเรียนรู้แก่ลูกไปอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะถึงแม้สมองของลูกน้อยในช่วงวัยที่เพิ่มมากขึ้น จะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนเมื่อครั้งที่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ก็ตาม ทว่าความสามารถในการพัฒนาเครือข่ายการประสานกันของเซลล์ประสาทของลูกก็จะค่อยๆ ก่อร่างประสานใยประสาทไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าลูกอายุสิบกว่าปี

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างเส้นใยประสาทของลูกให้เจริญเติบโตไปอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน พูดคุยหยอกล้อกับลูก เล่นดนตรีร่วมกับลูก หรือโอบกอดลูกรักให้เขาได้รับความอบอุ่นทางจิตใจมากที่สุด ฯลฯ ทุกบททุกตอนเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ลูกรักของคุณพ่อคุณแม่มีพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านสติปัญญาและอารมณ์

สิ่งสำคัญก็คือ หากคุณพ่อคุณแม่สวมบทบาทของการเป็นพ่อแม่มืออาชีพตาม 8 วิธีข้างต้นนี้ ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเติบโตไปเป็นเด็กที่มีความสุข มีสติ ปัญญาเฉลียวฉลาดและมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้ ทั้งนี้ เวลาและความต่อเนื่องในการส่งเสริมลูกรักให้มีศักยภาพทั้งทางด้าน ความคิด จิตใจ และร่างกาย ก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเหมือนกัน ดังคำกล่าวที่ว่า

"กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด ลูกน้อยก็ไม่ได้เป็นอัจฉริยะเพียงแค่ข้ามคืนฉันนั้น"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น