วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ขอจับนมหน่อย พฤติกรรมช่วงอายุ 3-6 ปี

จับนมแม่...ได้ไออุ่น...แต่หากไปคว้าหมับของคนอื่น ชักไม่ดี...อันตราย
"พี่ดูน้องนัทสิ มาจับหน้าอกหนูดื้อๆ เลย"
ใครเป็นแม่เจ้าลูกชายวัยซนแล้วมีสาวๆ มาฟ้องอย่างนี้ จะทำไงได้นอกจากหัวเราะแหะๆ ขอโทษเข้าไป ลับหลังจึงค่อยมาสอนกติกามารยาทให้คนของตัวเองกัน
เอ้อ...แม่เองน่ะชินแล้วที่เจ้าจับหน้าอกแม่ แม้บางทีลูกจะประเจิดประเจ้อไปหน่อยก็ตาม แต่ถึงขั้นไปจับไปฉวยของสาวอื่นเข้านี่ ชักมากไปนิด เขาจะไม่เข้าใจ แล้วจะเหมาเอาว่าลูกลามกได้นา...

จับเพราะอุ่นใจ

พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญงานจิตเวชเด็ก กรมสุขภาพจิต บอกว่าการที่เด็กชอบจับนมแม่นั้น อาจมาจากความต้องการความสนใจจากแม่ที่ทิ้งเขาไว้นาน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กันช่วงหนึ่ง เช่น ไปโรงเรียนทั้งวันเจอกับปัญหาต่างๆ นอกบ้านมากมายทั้งจากครู การเรียน การเล่น และเพื่อนๆ
ระยะเวลาที่เขาห่างแม่ออกไปอยู่นอกบ้านวันหนึ่ง เขาจะมีทั้งความเหนื่อย ความท้อ ความคิดถึง ได้กลับมาเจอแม่อยากขอความรักความอบอุ่นจากอกแม่เช่นที่เคยได้ ก็จะมาจับสัมผัสความนุ่น แน่น รับความรู้สึกอุ่นใจผ่านอวัยวะที่คุ้นเคยนี้ เพราะเคยได้กิน ได้นอนซบอยู่เสมอ
ทีนี้พอเห็นหน้าอกของสาวอื่น ดูๆ เอ๊ะ...มันก็เหมือน (หรือมันไม่เห็นเหมือน) ของแม่ ลองจับดูสิว่าจะได้ความรู้สึกเดียวกันไหม สาวไหนเจอมือหนุ่มน้อยอย่างนี้ก็ไม่ต้องตกใจ คิดมากไปไกลแต่ประการใด เด็กๆ เขาแค่อยากได้ไออุ่นน่ะ

วัยชอบสำรวจ
อันที่จริงเด็กๆ ในวัยนี้ เป็นวัยอยากรู้อยากเห็นและชอบสำรวจร่างกาย บางครั้งนอนๆ อยู่ หนุ่มน้อยอาจเอามือจับลูบคลำ "เจ้าหนู" ของตัวเองเล่นอย่างเพลิดเพลิน หรือแม่สาวน้อยก็ใช่ย่อยชอบขอเปิดกระโปรงเพื่อน "ขอดูของเธอ" หน่อย บางคนไปไกลขอจับของหนุ่มน้อยก็มี การกระทำเหล่านี้อย่าได้คิดเลยเถิดไปไกลว่าลูกเรานี่ "เซ็กซ์จัดเสียจริง" หรือ เอ๊ะ...ไปแอบเห็นใครทำมา นักจิตวิทยาหลายท่านบอกตรงกันว่า เป็นธรรมชาติเขาล่ะ เพราะหนูเขาเริ่มเรียนรู้จักร่างกายของตนเอง จึงอยากสำรวจให้ถ้วนทั่ว วิ่งมาขอดูของพ่อแม่พิสูจน์ความจริงกันไปเลยก็หลายครั้ง เรื่อง "จับอกสาว" ของลูกจึงมิได้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศแต่อย่างใด บางครั้งเป็นเพียงเพราะหนูๆ อยากรู้...ทำไมอกของคุณน้า คุณอา ใหญ่ (เล็ก) กว่าของแม่เรา หรือเพียงเพราะอยากได้ไออุ่นจากอกแม่เท่านั้นเอง

ให้ลูกเรียนรู้...ควร...ไม่ควร
แม้พฤติกรรม "จับอกสาว" ของลูก จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ สามารถพัฒนาให้เหมาะสมกับวัย ปรับให้หายไปได้ในที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปล่อยให้หนุ่มน้อยของเราทำการโจรกรรมอกสาวๆ ชาวบ้านเขาไปเรื่อย ถึงพี่ป้าน้าอาที่ถูกโจรกรรมจะทำใจได้ เพราะพ่อแม่จำเลยยกธรรมชาติของเด็กขึ้นมาอ้างอิงก็ตาม แต่ก็ยังนับว่าเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับอยู่ดี พ่อแม่จำต้องสอนให้ลูกรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ ไม่ควรทำ
"เราจะต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมนี้ออกไปและต้องเข้าใจก่อนว่าที่เด็กทำเช่นนี้เขาทำโดยธรรมชาติของเขา เด็กจะไม่ทราบว่านี่เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรทำ ซึ่งเป็นกติกาทางสังคมที่เราต้องบอกต้องสอนและสร้างเสริมให้ลูก" คุณหมอพรรณพิมลให้ความเข้าใจ

ให้ความอบอุ่นแบบอื่น
เพราะเด็กทำไปโดยไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรตามมา แกทำไปด้วยความไร้เดียงสา ผู้ใหญ่จึงต้องไม่ไปมีอารมณ์ แต่ต้องช่วยให้หนุ่มน้อยของเราเข้าใจกติกาสังคม ด้วยท่าทีที่นุ่มนวล เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่เราอยากจะสอนลูกนั่นเอง
เมื่อลูกต้องการความอุ่นใจ คุณแม่ต้องให้ความมั่นใจกับลูกเสียก่อนที่เขาจะพุ่งเข้ามาทำแบบเดิมๆ คือ จับนมแม่ เรียกว่าไม่เปิดโอกาสให้ อาจจับมือลูกเสียก่อน หรือกอด โดยให้มือของหนุ่มน้อยโอบไปรอบตัวแม่ ไม่ปล่อยให้มาสัมผัสหน้าอกแม่ได้ แต่ต้องทำอย่างนุ่มนวล (และแนบเนียน)
นี่เป็นการสอนพฤติกรรมใหม่ที่ยังคงให้ความรักความอบอุ่น สนองตอบความต้องการส่วนหนึ่งของลูกได้ และปรับลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไปได้ด้วย
คุณหมอพรรณพิมลบอกว่าสำหรับคุณแม่ที่ห้ามลูกด้วยคำพูดนั้น ส่วนใหญ่ลูกไม่ค่อยเชื่อ การใช้คำพูดกับพฤติกรรมนี้ไม่ค่อยได้ผล ลูกคว้าหมับเข้าให้แล้วก่อนแม่จะทันพูด ทางที่ดีคือกันไม่ให้เกิดขึ้นเลย
ถ้าไปจับของคนอื่น
สำหรับกรณีที่อยู่ในขั้นแอดวานซ์ หรือกำลังจะเทิร์นโปรขยับไปจับของคนใกล้ชิดอื่นๆ เช่น คุณน้าสาว พี่สาว หรือคุณพี่ใจดีข้างบ้าน หากตอบโต้พฤติกรรมนี้ด้วยการลงโทษ เพียะพะทันทีทันควัน อาจได้ผลในแง่ที่ลูกอาจหยุดพฤติกรรมไม่ทำอีก แต่เขาจะรู้สึกติดลบไม่เข้าใจว่าเรื่องเล็กๆ แค่จับนมหน่อยเดียว ทำไมต้องโดนตี มีดุแถมอีกต่างหาก ที่สำคัญคือลูกไม่เรียนรู้กติการสังคมที่ถูกต้อง
หากเป็นอย่างนี้ คุณแม่คงต้องขอโทษขอโพยพี่ป้าน้าอาสาวๆ แล้วอธิบายที่มาที่ไปของพฤติกรรมของลูกให้เขาเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือในการแก้ไขพฤติกรรมเจ้าตัวเล็ก แถมเป็นวิธีป้องกันตัวกลายๆ ด้วยว่า หากลูกโฉบเข้ามาจะจับ (ถ้าระวังตัวทันนะ) ก็จับ (มือ) เขาก่อน หรือกอดเขาก่อนแบบเดียวกับที่คุณแม่ใช้
แต่หากเขามาด้วยความอยากรู้อยากลองอยากสนุก ไม่ใช่ต้องการความคุ้นเคย อบอุ่น เหมือนที่ทำกับแม่ เราก็เสนอสถานการณ์ใหม่ชดเชยสิ่งที่เขากำลังจะทำ เช่น เมื่อหยุดยั้งการจับของเขาได้แล้ว เราอาจจูงมือเขาไปนั่งอ่านหนังสือนิทานภาพด้วยกัน ไปช่วยกันเล่นระบายสีลงในสมุดวาดภาพ หรือหาอะไรสนุกๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเขา
ท้ายสุด คุณหมอได้ฝากไว้ว่าให้ระวังการย้อนกลับมาของพฤติกรรมไม่เหมาะสมเมื่อลูกกำลังลำบากใจ ว้าเหว่ ต้องการที่พึ่งทางความรู้สึก การได้โอบกอดพูดคุยกับลูกสม่ำเสมอ จะช่วยให้สังเกตปัญหาในใจลูกได้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้น พฤติกรรมจับนม...ออกอาละวาดอีกแน่ๆ

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นความรู้อย่างมากเลยค่ะตอนนี้เค้า6ขวบเริ่มจะเป็นมาอาทิตย์กว่าๆแล้วตกใจค่ะแต่ไม่ได้ว่ากลัวเขาอายแล้วมีอะไรจะไม่พูดด้วย/เลยคิดไปอีกทางว่าคงเหมือนพ่อ😍😍 หายกังวลแล้วค่ะ👍👍

    ตอบลบ