วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2555

0 - 1 ปี โตแล้วจ้า ลูกจ๋า "ไม่"

พ่อแม่หลายคนอาจรู้สึกว่าการจะออกคำสั่ง "ไม่" เพื่อห้ามลูกน้อยวัยทารกนั้นเป็นเรื่องยากเรื่องเย็นถึงออกจะเหลือเชื่อด้วยซ้ำ เพราะลูกยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจอะไรๆ ได้ แต่ในความจริงเราสามารถค่ะ

ว่ากันว่าช่วงที่เป็นทารกนี่แหละมีความสุขที่ซู้ดเลย แค่ร้องแอะเดียวทุกอย่างก็ถึงพร้อมใครๆ ก็ตามใจ แหม...ขืนไม่ตามใจน้องหนูตัวน้อยก็แย่สิ เพราะหนูยังดูและตัวเองไม่ได้เลย

ตรงนี้ล่ะค่ะที่สำคัญ เพราะมันอาจทำให้ลูกติดอาการ "ร้องปุ๊บต้องได้รับการตอบสนองปั๊บ" หรือ "จะทำอะไรก็ได้ เพราะหนูยังเล็กอยู่" แล้วเลยโตมากลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้กาละเทศะ ไม่รู้จักรอคอย ฯลฯ ได้ อย่างไรก็ตาม หนทางป้องกันนั้นมีอยู่ โดยการเริ่มต้นสอนลูกน้อยให้รู้จักอะไรควรอะไรไม่ควรกันตั้งแต่ขวบแรกเลย แต่ต้องอย่างค่อยเป็นค่อยไปนะคะ

เริ่มต้นบทเรียน

ในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิตลูก ถ้าลูกร้องแล้วคุณรีบเข้าหาน่ะถูกต้องแล้วค่ะ แต่หลังจากนั้นพอลูกโตมากขึ้นคุณสามารถให้ลูกรอสัก 2 - 3 นาทีได้ถ้าคุณยังทำงานค้างอยู่ แต่ต้องส่งเสียงให้ลูกได้ยินนะคะว่าเดี๋ยวคุณจะมาหาเขาแล้ว ลูกจะได้คลายความรู้สึกกลัวนั้นลง และนี่ก็คือบทเรียนเริ่มแรกของการรู้จักคำว่า "ไม่" ของลูกค่ะ

ที่สำคัญวิธีนี้ยังช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้จักที่จะดูแลตัวเองปลอบโยนตัวเองในระหว่างที่รอแม่ด้วย ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมีวิธีแตกต่างกันไป บางคนก็ดูดนิ้วตัวเอง ขณะที่เด็กบางคนใช้วิธีหันไปมองสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น โมบายล์ที่แขวนอยู่ ลำแสงของแดดที่ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา หรือม่านที่ปลิวเพราะแรงลม
ซึ่งบทเรียนที่ลูกได้รู้จักดูแลตนเองนี้ จะช่วยให้ลูกสามารถผ่านช่วงเวลาของความรู้สึกสับสน วิตกกังวล ที่เป็นพัฒนาการและมักเกิดขึ้นในวัย 9 เดือนไปได้อย่างง่ายดายค่ะ

ถึงเวลา "ไม่" แล้วจ๊ะ

ทารกอายุต่ำกว่า 7 เดือนลงมา ระบบความจำในประสาทของลูกยังทำงานได้จำกัดอยู่ แต่พออายุได้ 7 เดือนครึ่งถึง 8 เดือน ลูกก็พร้อมสำหรับคำห้าม "ไม่" แล้วค่ะ เพราะแกสามารถปะติดปะต่อระหว่างสิ่งที่แกกระทำกับคำว่า "ไม่" ที่แม่พูดออกมาได้ โดยลูกจะเรียนรู้และจดจำจากโทนเสียงที่แม่พูด พร้อมกับดูท่าทางของแม่ที่แสดงออกมาขณะใช้คำพูดนี้ประกอบกัน ซึ่งโดยทั่วไปลูกจะไม่ชอบทั้งท่าทีและโทนเสียงที่ไม่ให้ความสุขอย่างนี้หรอกค่ะ

"ไม่" ครั้งแรกที่คุณจะใช้ ควรใช้อย่างมีเหตุมีผล ทั้งเหมาะสมด้วย เพราะคุณคงไม่อยากให้ลูกเรียนรู้ เข้าใจ และจดจำคำๆ นี้ในเชิงลบไปเสียหมด ดังนั้น ถ้าจะใช้ก็ใช้ในกรณีสำคัญเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อลูกทำอะไรที่ดูแล้วอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ใช้เมื่อลูกดึงสายไฟ ซึ่งโดยทั่วไปลูกอาจจะหันมามอง แล้วสักพักก็ดึงใหม่ คุณจึงต้องใช้คำว่า "ไม่" เพื่อห้ามย้ำเมื่อลูกกระทำสิ่งนั้นๆ อีก

แล้วสำหรับพ่อหนูแม่หนูวัย 9 เดือนที่ตีเด็กอื่นล่ะ คุณก็ต้องทำเสียงเข้มห้ามว่า "ไม่" ทันทีเลยล่ะค่ะ เพราะถ้าคุณแค่เข้าไปอุ้มเจ้าตัวน้อยออกมา แล้วเบี่ยงเบนความสนใจโดยหาตุ๊กตาตัวใหม่ให้ลูกเล่นแทน นี่เท่ากับคุณได้ยืดเวลาการสอนไม่ให้ลูกใช้ความรุนแรงออกไปเท่านั้น ดังนั้น ถ้าลูกใช้ความรุนแรงแล้วส่งผลกับคนอื่นก็ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดค่ะ

อย่าใช้ "ไม่" บ่อยๆ หรือในเรื่องทั่วๆ ไป เพราะจะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าคุณห้ามอย่างจริงจัง เช่น ลูกหยิบเสื้อผ้าของแกออกจากตะกร้าผ้า ซึ่งคุณอาจจะเบื่อหน่ายกับการตามเก็บตามพับ แต่สำหรับลูกแล้วนี่เป็นเรื่องสนุกเหมือนกำลังเล่นเกมเชียวล่ะ

แม่เองก็ต้องใจเย็นๆ

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะออกอาการประสาทเสียทันทีที่เจ้าตัวน้อยคว่ำจานอาหารจนทำให้พื้นเลอะเทอะ จากนั้นก็จะโยนคำพูดดุว่าใส่ลูกแบบไม่ยั้ง แถมบางคนอาจเผลอ "เผี่ยะ" เข้าที่ก้นลูกด้วย การกระทำเช่นนี้มีแต่จะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ทั้งลูกก็อาจจะจำวิธีการที่คุณแสดงออกมาไปใช้ต่อได้ วิธีที่ดีที่สุดคือคุณต้องใจเย็นๆ และพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง (แต่ไม่ใช่โวยวายนะคะ) ว่า "เราไม่คว่ำจานนะลูก" ซึ่งคุณอาจต้องบอกหลายครั้ง เพราะลูกอาจทำอย่างนี้ซ้ำอีก ก็เด็กวัยขวบนี่ค่ะ การเรียนรู้ของแกจะเกิดจากการทำซ้ำค่ะ

และโปรดตระหนักอยู่เสมอว่าการห้าม หรือใช้คำว่า "ไม่" กับลูกนั้นต้องเป็นไปด้วยความรัก ดังนั้น ถ้าลูกปฏิบัติตามที่คุณห้ามแล้ว อย่าลืมชมลูกด้วยนะคะ เช่น "หนูทำถูกต้องแล้ว เราไม่เอาแจกันมาเล่นกันหรอก" เป็นต้น รวมทั้งการแสดงออกของคุณก็ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะบางครั้งลูกน้อยอาจไม่เข้าใจคำพูดที่คุณพูดบอกแก แต่แกจะเข้าใจท่าทีที่คุณแสดงออกมากกว่า ซึ่งอย่างที่บอกล่ะค่ะว่าลูกชอบจะทำอะไรแล้วคุณพอใจมากกว่า

อีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือในบางสถานการณ์ถ้ามันเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ลูกน้อยทำถ้วยน้ำตกจากมือ โดยที่แกไม่ตั้งใจ ก็ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาห้าม หรือใช้คำว่า "ไม่" กับลูก แต่ควรปลอบลูกและสอนให้ลูกถืออย่างมั่นคงแทน ทั้งฝึกให้ลูกได้ทำบ่อยๆ ก็จะช่วยให้ลูกมีทักษะด้านนี้เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การจะสอนลูกวัยขวบแรกนี้ให้เข้าใจคำห้าม พ่อแม่สามารถทำได้ค่ะ แต่ต้องเหมาะสมกับสถานการณ์นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น