วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

กลัวลูกเป็นสมาธิสั้น

คำถาม

ลูกชายเรียนอยู่อนุบาล 3 คุณครูประจำชั้นจะบ่นเรื่องการไม่สนเรียน (ชอบเล่นและคุยในเวลาเรียน) คุณครูต้องเรียกอยู่บ่อยครั้งเวลาทำงานไม่เรียบร้อยและไม่สะอาด ผมกังวลใจว่าจะเป็นโรคสมาธิสั้นครับ (แต่ว่าเวลาอยู่บ้านดูทีวีหรือ VDO จะสนใจดูได้เป็นเวลานานๆ) ควรจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เป็นอยู่ดี เพราะผมกังวลใจมากครับ

คำตอบ

จากลักษณะที่คุณพ่อเล่ามา ยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าลูกชายเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ในเด็กชั้นอนุบาลการจะวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นบางครั้งทำได้ลำบากมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังมีธรรมชาติที่จะชอบเล่น พูดคุย อยากรู้อยากเห็น และควบคุมตัวเองได้น้อย  จึงทำให้ยากที่จะแยกเด็กปกติที่อยากรู้อยากเห็นกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ยกเว้นในรายที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นอย่างมากๆ ก็อาจจะวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาล

การวินิจฉัยจะบอกได้ชัดเจนแน่นอนมากขึ้นในช่วงเด็กขึ้น ป.1 ซึ่งเด็กจะต้องนั่งอยู่กับที่มากขึ้นและเด็กปกติจะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น รวมทั้งการเรียนในช่วง ป.1 เริ่มจะต้องมีกฏเกณฑ์และขอบเขตมากขึ้น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นก็จะแสดงออกให้เห็นชัดเจนแตกต่างจากเด็กทั่วไปได้

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะต้องมีอาการหลายอย่าง

อาการที่สำคัญ 3 ด้านคือ มีสมาธิความสนใจสั้นจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นาน และว่อกแว่กได้ง่าย
อาการที่ 2 คืออยู่ไม่นิ่ง นั่งไม่ค่อยติด จะยุกยิกตลอดเวลา
อาการที่ 3 คือมีความหุนหันพลันแล่นสูง จะยั้งตัวเองไม่ค่อยอยู่ ซึ่งบางครั้งจะทำให้ดูเหมือนกับเป็นคนที่ก้าวร้าว รุนแรง

สำหรับอาการที่เด็กแสดงออกนั้น จากอาการข้อที่ 1 ที่มีสมาธิสั้นและจดจ่อได้น้อยและว่อกแว่กนั้น ก็จะทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องการเรียน มักจะทำงานไม่เสร็จ ผลการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร ดูเหมือนไม่ตั้งใจเรียน เพราะว่อกแว่กเก่ง เวลาเล่นมักจะเล่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ไม่นานและเปลี่ยนบ่อยๆ

ส่วนลักษณะในข้อที่ 2 คืออยู่ไม่นิ่ง ยุกยิกนั้น ก็จะทำให้เด็กมีลักษณะที่นั่งไม่ค่อยติดที่ ขยับยุกยิกตลอดเวลา รบกวนผู้อื่น ซน ชอบแหย่คนโน้นคนนี้ ทำข้างของเสียหายบ่อยๆ และก็ช่างพูดช่างคุย

ส่วนปัญหาลักษณะอาการข้อที่ 3 ที่หุนหันพลันแล่นนั้นก็ทำให้เด็กมีอุบัติเหตุบ่อย ดูเหมือนจะรอคอยไม่เป็น มักจะพูดแทรก รอคิวไม่ค่อยเป็น และบางครั้งยั้งตัวเองไม่อยู่ ทำให้เหมือนกับเล่นแรง และก็มีปัญหาทะเลาะกับคนอื่นได้ง่าย

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีลักษณะอย่างที่กล่าวมานี้ในแทบทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน ห้องเรียน หรือในโรงพยาบาล ในห้องตรวจของแพทย์ ในกรณีที่คุณพ่อกังวลใจมากก็ควรจะพาลูกไปพบกุมารแพทย์หรือจิดแพทย์เด็ก ซึ่งจะให้การวินิจฉัยที่แน่นอนขึ้น

ตอนที่ไปพบแพทย์ควรจะขอรายงานความคิดเห็นจากคุณครูประจำชั้นไปให้แพทย์ดูด้วยจะเป็นประโยชน์อย่างมาก รวมทั้งนำสมุดพก สมุดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ที่เด็กใช้เรียนในชั้นเรียนไปให้แพทย์ดูด้วย จะมีประโยชน์ในการช่วยการวินิจฉัยให้ชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น