เหรียญกษาปณ์
คือตัวกลางที่ทำให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายรายย่อยทั่วไป เหรียญกษาปณ์ที่ใช้กันแต่เดิมมามักทำด้วยโลหะที่มีราคาในตัวเอง ได้แก่ เงินบริสุทธิ์ และทองคำ รวมเรียกว่า เงินตรา
.......... รูปลักษณะของเงินตราไทยนั้น นับเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แตกต่างกว่าเหรียญของโลกสากล ซึ่งทำเป็นรูปกลมแบน หรือแบนเหลี่ยมเป็นพื้น ส่วนของไทยมีตั้งแต่รูปใบไม้ รูปขดงอเหมือนตัวด้วง รูปงอเหมือนกำไลมือ รูปยาวเหมือนเรือ รูปกลมแบน แบบเหรียญฝรั่ง ดังนั้นจึงมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเงินตราไทยมากมาย และมีความหมายเฉพาะแบบเฉพาะกาลและเฉพาะอาณาเขตและแว่นแคว้น เช่น เงินเจียง เงินใบไม้ เงินขาคีม ใช้ในอาณาจักรลานนา เงินฮาง เงินฮ้อย เงินลาด ใช้ในอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต หรือ ล้านช้าง เงินพดด้วง ใช้ในอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น เงินเหรียญ ทองเหรียญ ส่วนเงินปลีก จะเรียก เบี้ย กระแปะ เหตุที่เป็นเช่นนื้เพราะเงินตราไทย มีรูปร่างพิสดาร นอกจากรูปร่างแล้ว พิกัดราคาของเงินตราไทยมีความสัมพันธ์โดยตรงกับนํ้าหนักของโลหะเงินที่ใช้ทำ กล่าวคือ เงินตราพิกัด ราคาหนึ่งบาท จะต้องมีเนื้อโลหะเงินบริสุทธิ์หนักหนึ่งบาท นอกจากนี้ยังทำให้มาตราพิกัดเงินตรากับมาตรานํ้าหนักของโลหะเงินเป็นเสมือนมาตราเดียวกัน เช่น เงินบาท นํ้าหนักของโลหะเงินที่ใช้ผลิตจะต้องหนักหนึ่งบาท และกำหนดราคาที่ใช้ชำระหนี้กันเป็นราคาหนึ่งบาทด้วย
.......... เงินพดด้วง เป็นเงินตราที่ใช้กันในประเทศไทย ในอาณาจักรที่เป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรใกล้เคียง จะผลิตเงินตราขึ้นใช้ตามรูปแบบของตัวเอง อย่างไรก็ตามในแต่ละอาณาจักรที่กล่าวถึง ต่างก็ใช้โลหะเงินผลิตเป็นเงินตราเพี่อแลกเปลี่ยนซื้อขายซึ่งกันและกัน รูปแบบของเงินตราจึงไม่เป็นปัญหา เพราะใช้เนื้อเงินเป็นพิกัดราคา เงินพดด้วงยังคงเป็นเงินตราที่ใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์ มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯปฏิรูประบบเงินตราไทย ให้มีรูปแบบเช่นเดียวกับของต่างประเทศ เนื่องจากมีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น มีการนำเหรียญของประเทศต่างๆ เข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯ แต่ประชาชนไม่ยอมรับ เนื่องจากรูปร่างของเหรียญผิดแปลกกว่าเงินตราที่เคยใช้ ประการสำคัญประชาชนไม่เชื่อในความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน ตังนั้นเพื่อขจัดความสับสนวุ่นวายในการใช้เงินตราชำระหนี้ระหว่างพ่อค้าชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้ทรงมีพระราชตำริให้ตั้งโรงจักรทำเหรียญ และออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญ พ.ศ. 2403 กำหนดเป็นเงินเหรียญที่มีรูปลักษณะเหมือนเหรียญที่มาจากยุโรป โดยกำหนดเหรียญอย่างไทย เหรียญละบาท และนี่คือที่มาของคำว่า "เหรียญบาท" และ เป็นเหรียญกษาปณ์ ในเวลาต่อมา ซึ่งในพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ได้ให้นิยามไว้ว่า "เงินตรา" ได้แก่ "ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์"
.......... เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตตั้งแต่ พ.ศ. 2403 เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ทำด้วยโลหะเงิน (น้ำหนักเงินหนัก หนึ่งบาท พิกัดราคาหนึ่งบาท) จนถึง พ.ศ. 2468 ในระหว่างปลายปี ถึง พ.ศ. 2477 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ราคาหนึ่งบาทขึ้นใช้ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ จึงผลิตเพียงเหรียญกษาปณ์ราคา 50 สตางค์
.......... ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการผลิตเงินตราประจำรัชกาลขึ้นใช้มากแบบและมากชนิด เกือบจะกล่าวได้ว่าได้มีการปฏิรูปการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเริ่มผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสสำคัญๆ โดยการนับเนื่องเอาวาระสำคัญนั้นๆ เป็นมูลเหตุในการผลิต เหรียญกษาปณ์เพี่อใช้เป็นเงินตราและในขณะเดียวกันให้เป็นเหรียญที่ระลึกในโอกาสดังกล่าวด้วย
.......... เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในปัจจุบันมีหลายประเภทด้วยกัน แบ่งตามวัตถุประสงค์ในการผลิตและนำออกใช้ได้เป็น 2 ประเภทคือ เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน (Circulated Coin)
เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนอยู่โดยทั่วไป มี 8 ชนิดราคา คือ 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ ปัจจุบันเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวใช้หมุนเวียนเพียง 4 ชนิดราคา คือ 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ส่วนเหรียญชนิดราคา 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ มีใช้ในทางบัญชีเท่านั้น
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (Commemorative Coin)
เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตออกใช้เนื่องในโอกาสสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งสามคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือ เหตุการณ์ระหว่างประเทศ โดยผลิตเป็นเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 2 บาท (ในกรณี เหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาท มีขนาดและโลหะที่ใช้เช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน) ส่วนเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกที่มีราคาสูง จะใช้โลหะประเภททองคำและเงิน ปัจจุบันนิยมผลิตเป็น เหรียญประเภทขัดเงา (Proof Coin) ซึ่งผลิตจากเหรียญตัวเปล่าที่ขัดเงาที่จัดทำขึ้นด้วยความประณีตเป็นพิเศษ การผลิตเหรียญประเภทนี้ จะเน้นคุณภาพและความสวยงามเป็นสำคัญ ลักษณะของพื้นเหรียญจะเป็นมัน แวววาวคล้ายกระจกเงา ส่วนลวดลายและตัวหนังสือลอยเด่นชัดตัดกับพื้นผิวเหรียญ แล้วบรรจุในกล่องพลาสติคใส ชนิดพิเศษ ป้องกันฝุ่นละอองและความบอบช้ำของเหรียญ ทั้งเป็นการรักษาความมันเงาของเหรียญด้วย จากนั้นจะบรรจุใส่ในกล่องผ้าหรือกล่องหนังอีกชั้นหนึ่ง เหรียญประเภทนี้จึงมีกรรมวิธีการผลิตที่ยุ่งยาก ต้นทุนการผลิตสูงกว่าเหรียญกษาปณ์ธรรมดาเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมเหรียญ ราคาจำหน่ายจึงสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ
.......... ข้อแตกต่างระหว่างเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกก็คึอ การวางลวดลาย ด้านหน้า และด้านหลัง ในกรณีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน หากจะพลิกดูลวดลายด้านหน้าจะต้องพลิกในแนวดิ่ง (Vertical) ส่วนเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจะต้องพลิกในแนวนอน (Horizontal)
.......... สำหรับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เป็นเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง
เหรียญ Uncerculated Coin (ยังไม่มีการบัญญัติเป็นศัพท์ภาษาไทย)
หมายถึงการคัดเลือก เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน หรือเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกชนิดธรรมดา มาบรรจุในบรรจุภัณท์ต่างๆ กัน เช่น จัด ทำเป็นแผง เป็นรูปเล่มพร้อมคำบรรยายหรือกล่อง เป็นต้น เพื่อความสวยงาม และสะดวกต่อการเก็บสะสม
เหรียญที่ระลึก (Medal)
เป็นเหรียญที่ไม่มีราคาหน้าเหรียญ ผลิตขึ้นเนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ โดยมีสัญลักษณ์ หรีอการจำลองภาพของเหตุการณ์สำคัญนั้นๆ ลงไว้พร้อมกับคำจารึกและเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น สำหรับเหรียญที่ระลึกของไทยนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์และประวัติศาสตร์ของประเทศ เช่น เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เหรียญที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา บางเหรียญได้จัดทำให้มีแพรแถบเพื่อให้ประดับได้เป็นเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ เช่น เหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปยุโรปและอเมริกา เหรียญที่ระลึกเหล่านี้ จัดเป็นหลักฐานขั้นต้นของการศึกษาทางประวัติศาสตร์อันหนึ่ง เช่นเดียวการจารึกและพงศาวดาร ดังนั้นเหรียญที่ระลึกจึงมีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีอื่นๆ ควรค่าแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติอันมีค่าของชาติ
.......... อย่างไรก็ตาม เงินตราดังกล่าวในระยะต่อมามิได้มีแต่เหรียญกษาปณ์อย่างเดียว นับตั้งแต่ระบบมาตราเงินได้เปลี่ยนแปลงไป เหรียญกษาปณ์มิได้มีค่าในตัวของตัวเอง และในขณะเดียวกันการค้าขายของประเทศเจริญขึ้นเป็นลำดับ การชำระค่าสินค้าด้วยเหรียญเงินเป็นจำนวนมาก ย่อมไม่สะดวกในการขนส่ง การรับและจ่ายเงิน ตลอดจนการดูแลด้านความปลอดภัย ดังนั้นเพี่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทางการจึงได้นำเงินกระดาษที่เรียกว่า "ธนบัตร" ออกใช้ควบคู่กันไปกับเงินเหรียญบาท การนำธนบัตรออกใช้นั้น กำหนดให้ผู้ถือธนบัตรสามารถนำมาขอขึ้นเป็นเงินเหรียญได้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขของพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม รัตนโกสินทร์ศก 121 การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนึ้รัฐบาลจะต้อง เก็บเงินเหรียญบาทสำรองไว้สำหรับรองรับการขึ้นเป็นเหรียญบาทของธนบัตร ด้วยเหตุนี้การนำธนบัตรออกใช้จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีทุนสำรองหนุนหลังธนบัตรอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน
.......... นับตั้งแต่รัฐบาลไทยได้นำธนบัตรออกใช้ใน พ.ศ. 2445 เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. 2471 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเจริญขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอีกด้วย รัฐบาลจึงได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติธนบัตรสยามให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2471 ให้มีผลใช้บังคับ ในขณะที่ประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยต่างก็ออกกฎหมายเทียบค่าเงินตราของตนกับโลหะทองคำและโดยที่ประเทศไทยทำการค้าขายกับประเทศเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง จึงต้องถือปฏิบัติในแนวเดียวกันด้วยการกำหนดเทียบค่าของเงินบาทกับทองคำบริสุทธิ์ โดยกำหนดให้เงินหนึ่งบาท มีค่าเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 0.66567 กรัม และกำหนดให้ทองคำ และหลักทรัพย์ทองคำ เป็นสิ่งอันชอบด้วยกฎหมายที่จะประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา
.......... หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบแล้ว ปัญหาเรึ่องการค้าและการเงินระหว่างประเทศได้กลายเป็น หัวข้อสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นพิจารณากันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้นำของประเทศต่างๆ ดังนั้นเพื่อสร้างระบบการเงินของโลกให้เป็นที่เชื่อถือ อำนวยความสะดวกในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินของประเทศสัมพันธมิตรได้บรรลุในข้อตกลงร่วมกันจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวและความเจริญของประเทศสมาชิกอย่างมีเสถียรภาพ รัฐบาลไทยในขณะนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะมีประโยชน์ในทางที่จะช่วยให้ ค่าของเงินบาทที่นับวันจะต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศมากขึ้น มีเสถียรภาพและความมั่นคงตามไปด้วย จึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศใน พ.ศ. 2492 อย่างไรก็ดีเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่างคล่องตัว รัฐบาลจึงได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติเงินตราขึ้นใหม่ โดยประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เคยมีมาทั้งหมด แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2501 อย่างไรก็ดีในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาทนั้น พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องรักษาทุนสำรองไว้กองหนึ่งเรียกว่า "ทุนสำรองเงินตรา" และกำหนดให้ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้โดยไม่จำกัดจำนวน
.......... ดังไต้กล่าวมาแล้วว่า ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่เดิมที่ใช้เหรียญกษาปณ์ ไต้เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อ ธนบัตร เข้ามามีบทบาทสำคัญในการชำระหนี้ และตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2536 กำหนดว่า เงินตรา คือ ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ และตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดพิมพ์และนำออกใช้ซึ่งธนบัตร ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเงินตรา การออกใช้ธนบัตรแต่ละครั้ง กฎหมายให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศชนิดราคา สี ขนาด และลักษณะอื่นๆ ของธนบัตรที่ออกใช้ในราชกิจจานุเบกษา
.......... นอกจากธนบัตรแล้ว ประเทศไทยได้จัดทำบัตรธนาคาร หรือ Bank Note ขึ้นใช้อีกครั้งหนึ่งเพี่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 บัตรธนาคาร หรือ Bank Note นี้ ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศได้นำเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2432 และเริ่มไถ่ถอนคืนใน พ.ศ. 2445 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลไทยนำธนบัตรออกใช้และไม่มีการนำออกใช้ในระบบเงินตราของประเทศนับแต่นั้นมา จนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดหนึ่งที่ธนาคารพิมพ์ขึ้น เพื่อใช้อำนายความสะดวกในการชำระหนี้ระหว่างธนาคารและลูกค้าของธนาคารซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้จัดพิมพ์ขึ้น ธนาคารผู้ออกบัตรพร้อมที่จะรับบัตรธนาคารของตนคืน และจ่ายเงินตราที่เป็นโลหะตามราคาที่พิมพ์ไว้บนบัตรธนาคารนั้นให้แก่ผู้นำบัตรธนาคารของตนมาขอแลกเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ
.......... นอกจากนี้ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ไต้มีการจัดทำธนบัตรที่ระลึกกาญจนาภิเษกโดยมีรูปลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าธนบัตรที่นำออกใช้โดยทั่วไป ทั้งลวดลายในธนบัตรและวัสดุ โดยเจาะจงใช้วัสดุพอลิเมอร์หุ้มฟอยส์สีทองเพื่อสื่อความหมายถึง พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รูปตราจักรีในเนื้อพอลิเมอร์ใช้สีทองเป็นหลัก ส่วนพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นภาพแบบ Optical Variable Device
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ
ตอบลบ