วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สุขภาพลูกรัก เรื่อง เจ็บไข้วัยเด็ก โรคหวัด...แค๊กๆ..ฟรืด


สุขภาพลูกรัก เรื่อง เจ็บไข้วัยเด็ก โรคหวัด...แค๊กๆ..ฟรืด
ศ.นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา

โรคหวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสครับ จัดเป็นโรคยอดฮิตของเด็กๆ ก็ว่าได้ โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ ปีหนึ่งจะเป็นหลายครั้งทีเดียว ทั้งนี้เพราะมีเชื้อไวรัสกว่าร้อยชนิดที่ทำให้เกิดอาการหวัด แถมบางครั้งยังเป็นจากเชื้อไวรัสตัวเก่าอีกแน่ะ ผิดจากโรคหัดหรือโรคอีสุกอีใสที่เป็นครั้งเดียวแล้วมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตเลย ที่เป็นเช่นนี้พราะเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหวัดนั้นมีระยะฟักตัวสั้นและเชื้อไม่ค่อยได้เข้าไปในเลือดเหมือนโรคหัด แต่เชื้อโรคหวัดจะทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่บนผิวของทางเดินหายใจ จึงกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เกิดเฉพาะที่บนผิวของเยื่อบุทางเดินหายใจ ซึ่งภูมิคุ้มกันชนิดนี้อยู่ได้ไม่นานครับ

ทารกแรกเกิดมักไม่เป็นหวัด
เพราะได้ภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมาทางรกตั้งแต่อยู่ในท้องครับ ไม่ว่าลูกจะกินนมแม่หรือไม่ก็ตาม เด็กจะได้ภูมิคุ้มกันมา ฉะนั้น ถ้าแม่ไม่เป็นหวัดจากเชื้อไวรัสตัวนั้นลูกก็มักจะไม่เป็นด้วย แต่ถ้าแม่เป็นหวัดลูกก็มีโอกาสติดเช่นกัน เพราะถ้าแม่ไม่มีภูมิ ลูกก็จะไม่มีภูมิด้วย

นอกจากนึ้เด็กเล็กๆ ยังไม่ได้ออกไปนอกบ้านบ่อยนัก โอกาสที่จะรับเชื้อมีน้อย เด็กทารกแรกเกิดบางครั้งเวลาหายใจจะมีเสียงดังฟืดฟ่าด พ่อแม่มักคิดว่าลูกเป็นหวัด ความจริงไม่ใช่ ถ้าเด็กเป็นหวัดต้องมีน้ำมูกไหล ไอนะครับ แต่เหตุที่หายใจมีเสียงดัง อาจเพราะมีน้ำมูกแห้งติดที่รูจมูก ถ้าเอา cotton bud ชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว เช็ดน้ำมูกออกก็จะหาย แต่ถ้าเด็กมีไข้หรือไอเป็นชุด หรือไอบ่อยควรพาไปพบแพทย์

วัยเริ่มเป็นหวัด

ตอนอายุ 5-6 เดือนไปแล้วครับ เพราะภูมิคุ้มกันที่แม่ให้มาหมด ดังนั้นถ้าเด็กไปสัมผัสกับเชื้อก็จะเป็นได้ เช่นเด็กอยู่ ในบ้านเดียวกันหรือแถวบ้านมีเด็กมาก เด็กเล็กก็จะเป็นบ่อยขึ้น เพราะพี่ๆ ที่โตกว่าไปรับเชื้อจากที่โรงเรียนมาแจกน้องที่บ้าน เด็กที่ไปอยู่รวมกัน เช่น สถานที่เลี้ยงเด็ก ชุมชนแออัด โอกาสที่เด็กจะติดเชื้อจะสูงกว่าเด็กที่อยู่แต่ที่บ้านเดี่ยวๆ หลายเท่า พอเริ่มไปโรงเรียนอนุบาลเด็กก็จะเป็นหวัดบ่อยอีกเพราะติดเชื้อจากเพื่อน พอหายจากเชื้อตัวหนึ่งไปสัมผัสกับเชื้อตัวใหม่ ซึ่งยังไม่เคยเป็นมาก่อนก็จะติดหวัดอีก
โดยทั่วไปอาการหวัดจะลดน้อยลงหลังจากอายุ 7 ปีหรือขึ้นประถม 2 ไปแล้วครับ ตอนประถมหนึ่งเด็กบางคนยังเป็นบ่อยอยู่ เพราะเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ พบเพี่อนใหม่ที่มีเชื้อไม่เหมือนกัน แต่หลังจากนั้นพบเชื้ออะไรก็ไม่ค่อยเป็น เพราะเชื้อที่พบบ่อยนั้นเป็นหมดแล้ว ภูมิคุ้มกันของเด็กรู้จักเชื้อหมดแล้ว

อาการอย่างนี้...หวัดแน่

อาการของโรคหวัดอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ ถ้ามีไข้ก็จะมีเพียง 1-3 วันแรก ส่วนใหญ่มีน้ำมูก คัดจมูก ไอเล็กน้อย ระคายคอ เด็กบางคนไม่มีน้ำมูกแต่ไอมาก เพราะจมูกคัด น้ำมูกไหลออกทางรูจมูกไม่ได้ ก็ไหลกลับลงคอ พอเป็นอย่างนึ้ร่างกายจะป้องกันตัวอัตโนมัติเพื่อไม่ให้น้ำมูกไหลลงในปอด โดยพยายามไอออกมา ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกาย แต่เด็กเล็กบางคนเมื่อไอออกมาแล้ว บ้วนเสมหะไม่เป็นก็เลยกลืนลงไปในกระเพาะอีก ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือน้ำมูกไปอุดที่รูกระเพาะ ทำให้เบื่ออาหาร เพราะกินไปแล้วผ่านกระเพาะไปไม่ได้เนื่องจากติดน้ำมูก ยิ่งถ้ากินนมก็ยิ่งมีปัญหาเพราะนมรวมกับน้ำมูกก็จะตกตะกอนเป็นก้อนๆ เด็กจะยิ่งไอมากจนอาเจียน แต่เมื่ออาเจียนออกมาแล้วก็จะนอนหลับได้ เพราะเสมหะที่กลืนลงไปออกมาหมดแล้ว
บางคนพ่อแม่รู้สึกว่าอาหารไม่ย่อยเพราะอาหารที่กินตั้งแต่ตอนเย็นเวลาอาเจียนออกมายังอยู่ครบ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะติดเสมหะผ่านจากกระเพาะไปยังลำไส้เล็กไม่ได้ครับ ถ้าจะให้กินนมต้องชงจางๆ หรือถ้ารับประทานน้ำใสๆ ก็พอจะผ่านกระเพาะไปได้

ป้องกันง่ายๆ...
การป้องกันไม่ไห้เด็กเป็นหวัดเลยคงทำไม่ได้ แต่เราสามารถทำให้เป็นน้อยลงและไม่รุนแรงได้ครับ ส่วนวัคซีนป้องกันหวัดนั้นยังไม่มี เพราะเชื้อที่เป็นสาเหตุมีมาก ไม่คุ้มที่จะทำวัคซีน และภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นานต้วย
แต่เราสามารถลดการเป็นหวัดลงได้ ถ้าเด็กได้รับประทานอาหารครบทุกหมู่ ไม่ขาดอาหาร ได้เล่นและออกกำลังกาย อากาศเย็นก็ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ ไม่พาไปอยู่ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เพราะโรคหวัดติดต่อกันได้ 2 ทางคือ
1. ติดจากการสัมผัส 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมือ เด็กที่เป็นหวัดอาจจะเอามือเช็ดน้ำมูกหรือขยี้จมูกทำให้มีเชื้อไวรัสติดอยู่ที่มือ เมื่อเอามือนั้นไปจับสิ่งของหรือถูกกับมือหรือใบหน้าเด็กคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะติดไปด้วย ถ้าคนที่รับเชื้อเอามือไปเช็ดจมูกหรือใบหน้า ก็จะเอาไวรัสเข้าไปในร่างกายได้ ฉะนั้นวิธีการป้องกันที่สำคัญคือ ล้างมือหลังจากสัมผัสกับคนที่เป็นหวัด และควรล้างมือก่อนที่จะเอามือไปเช็ดใบหน้าของตนเอง เพราะคนที่เป็นหวัดมักมีเชื้อออกมาในน้ำมูกหรือเสมหะประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายอาจจะมีเชื้อออกมาถึง 3 สัปดาห์ก็ได้
2. ติดจากเชื้อในอากาศ 
จากการไอ จามรดกัน ส่วนเชื้อที่ปลิวมาตามลมนั้นพบน้อยครับ คนที่เป็นหวัดควรปิดปากและจมูกเวลาไอ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อลงได้

หวัด...รักษาตามอาการ
ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อหวัดครับ แต่โรคนี้หายได้เองจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะกำจัดเชื้อไป แพทย์ส่วนใหญ่จะให้ยารักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ก็ให้ยาลดไข้ พวกพาราเซตามอล ถ้ามีน้ำมูกมากก็อาจให้ยาแอนติฮสตามีนลดน้ำมูกลงบ้าง ถ้าคัดจมูกก็ให้ยาที่ลดการบวมของเยี่อบุหรือให้ยาหยอดจมูก ถ้าไอมากก็ให้ยาละลายเสมหะเพี่อให้ไอออกมาได้ง่ายขึ้น ถ้าไอแห้งๆ ควรให้จิบน้ำบ่อย ๆ ส่วนยาปฏิชีวนะนั้นโดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียแทรกช้อน ซึ่งอาการที่สงสัยว่าอาจจะมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็คือ การที่มีไข้กลับขึ้นมาใหม่ หรือมีอาการเลวลง หรือมีไข้อยู่นาน มีสะเก็ดน้ำเหลืองรอบๆ รูจมูก นํ้ามูกออกมาเขียวหรือเหลืองเป็นยวงเหมือนหนอง แต่การมีน้ำมูกสีเขียวหรือเหลืองอย่างเดียวไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสมอไป เพราะโรคภูมิแพ้หรือสาเหตุจากไวรัสก็อาจมีน้ำมูกเขียวได้
ถ้าน้ำมูกเขียวแห้งติดในรูจมูกก็อาจจะเป็นระยะที่กำลังจะหาย ถ้าเด็กไอมาก มีไข้สูง ซึมลง มีอาการหอบ บ่นปวดศีรษะ หรือบ่นปวดหู ควรพาไปพบแพทย์ ไม่ควรชื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด ถ้าให้ผิดตัวนอกจากไม่ได้ผลแล้วยังสร้างปัญหาการดื้อยาด้วย ยาปฏิชีวนะบางตัวเป็นพิษและทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะฉะนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ทางที่ดีถ้าจะใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์ก่อนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น