พิธีรับขวัญ
ณ วันที่ชีวิตน้อยๆ กำเนิดขึ้น ท่ามกลางความดีใจของพ่อแม่ผู้ให้ชีวิต พิธีกรรมรับขวัญเด็กน้อยแรกเกิดในแต่ละศาสนาก็ล้วนเป็นแรงหนุนให้ช่วงเวลานี้สำคัญและน่าจดจำมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว ยังนับเป็นกุศโลบายที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้อย่างแนบเนียนที่สุด...การที่คนรุ่นหลังอย่างเราๆ มีโอกาสได้สัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ไม่ว่าในรูปแบบใดจึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี พุทธ คริสต์ อิสลาม และเต๋า คือ 4 ศาสนาที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรา มาร่วมให้ความสำคัญกับชีวิตน้อยๆ ผ่านภาพและเรื่องราวบอกเล่าของคนรุ่นเก่าก่อนกัน
ทำขวัญเดือนแบบพุทธ
"มันเป็นเหมือนหลักยึด เป็นกำลังใจให้เรา อะไรที่น่าอายก็ไม่ต้องนึกถึงใคร เพราะไม่รู้
หนึ่งในร้อยของผู้ที่ยังคงสืบสานประเพณี "ทำขวัญเดือน" แก่เด็กแรกเกิดของคนไทยคงต้องยกให้ ชุมชนบ้านช่างหล่อ ที่ยังคงกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยในสมัยโบราณเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะครอบครัวเนตร์นรินทร์ ที่มีคุณป้าจิราวรรณ หรือป้าแพรวของหลาน ๆ เป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่าผู้สืบทอดประเพณีที่ดีงามสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานจวบจนทุกวันนี้ มาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้ฟังกัน
"ถ้าเป็นสมัยก่อนพิธีจะเต็มรูปแบบมากกว่าปัจจุบันนะ แต่ของป้ามีบางอย่างที่ตัดออกไป อย่างเช่นสมัยก่อนถ้าเด็กคลอดที่บ้านก็จะต้องมีการทำขวัญวันเกิด เอาเด็กใส่กระด้งแล้วบอกว่า 3 วันลูกผี 4 วันลูกคน ลูกของใครมาเอาไป เหมือนกับประกาศว่า ไม่ใช่ลูกของเรา ผีจะได้ไม่มาแย่งไป
แต่เดี๋ยวนี้เด็กส่วนใหญ่คลอดที่โรงพยาบาลก็จะตัดพิธีนี้ไป แล้วมีพิธีต้อนรับที่บ้านแทน เริ่มแรกก็จะอุ้มเด็กไว้เอาเท้าเด็กแตะพื้นธรณีประตู เหมือนกับเป็นการฝากเนื้อฝากตัว ให้แม่พระธรณีช่วยดูแลเขา แล้วก็หาทองคำเปลวมาผสมกับนํ้าผี้งกวาดคอเด็ก เขาเชื่อว่าจะทำให้เด็กมีเสียงที่ไพเราะ
หลังจากนั้นพอเด็กอายุครบเดือนก็จะมีการทำขวัญเดือนให้ด้วยการ "โกนผมไฟ" เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่าผมที่ติดมากับเด็กตั้งแต่แรกเกิดนั้นไม่ดี ต้องโกนออก ซึ่งต่างกับคนสมัยนี้ มองว่าผมที่สร้างมาจากรกดี ถ้าโกนแล้วอาจจะไม่ขึ้นอีก ตรงนี้ทำให้พิธีโกนผมไฟในปัจจุบัน ถูกตัดตอนจากโกนผมทั้งหัวเหลือแค่ขลิบผมเด็กแทน
ก็จะมีการเลี้ยงพระสงฆ์ 9 รูป พร้อมกับเชิญญาติผู้ใหญ่ แขกเหรื่อมา ป้าจำได้ว่าวันที่ทำให้หลานชายคนเล็ก(น้องเนตร) คนมากันเต็มบ้าน ยังถ่ายรูปเก็บไว้ให้เขาดูเลย แขกพวกนี้ถ้าเขาจะมาร่วมขลิบผมให้เด็กด้วยก็ได้ ช่วงที่จะขลิบผม พิธีบ้านช่างหล่อ เขาจะต้องมีการเตรียมขันนํ้ามนต์ มีใบเงิน ใบทอง ใบนาก และดอกไม้หอมต่างๆ ลอยอยู่เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เด็ก เตรียมกรรไกร ผ้าขาวผ้าแดงใส่พานไว้ ส่วนผมที่โกนแล้ว ก็จะต้องเตรียมใบบัวไปลอยนํ้า
เวลาขลิบผมถ้าเป็นเด็กผู้ชายพระสงฆ์จะเป็นผู้ทำพิธีให้ แต่ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็จะให้ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ขลิบให้ พระสงฆ์จะสวดชยันโตก่อนแล้วจึงทำพิธีขลิบ เจิมแป้งกระแจะที่หน้าผากเด็กแล้ว เอานํ้ามะพร้าวมาแตะที่ลิ้น เป็นอันเสร็จพิธี
พอเสร็จพิธีโกนผมไฟแล้ว ก็เอาเด็กไปอาบนํ้ามนต์ในอ่างนํ้า ก็จะมีทอง นาก เงิน แช่อยู่ พออาบนํ้าแต่งตัวเรียบร้อย คราวนี้ ญาติพี่น้อง แขกทั้งหลายก็ทยอยกันมาผูกข้อมือข้อเท้าให้
พอถึงตอนจะเอาเด็กลงอู่ พ่อแม่ก็จะต้องเตรียมถุงผ้าสีชมพู ใบเล็กๆ ไว้ ข้างในจะมีข้าวตอก ข้าวเปลือก ถั่วเขียว งา เม็ดฝ้าย อยู่รวมกัน วางไว้บนหัวนอนเด็ก ข้างๆ ถุงผ้าก็จะมีใบมะตูม ฟัก แป้งกระแจะ หินบดยา ก้อนหิน เครื่องเย็บปักถักร้อย (สำหรับเด็กผู้หญิง) และสมุดดินสอ (สำหรับเด็กผู้ชาย) ข้างๆ เตียงจะมีมะพร้าวอ่อนทาสีเงินและสีทองอย่างละลูกวางไว้ข้างๆ
มีอันหนึ่งที่ป้าตัดออกคือ คนสมัยก่อนเขาจะเอาแมวมาทำความสะอาด แต่งตัวให้ ใส่สายสร้อยให้ แล้วอุ้มไปนอนข้างๆ เด็ก เหมือนกับว่าให้เชื่อง เลี้ยงง่ายเหมือนแมวนอนหวด แต่ป้าไม่เอา เพราะไม่ชอบ กลัวว่าแมวมีเชื้อโรคเดี๋ยวเด็กอ่อนๆ จะไม่สบายเอาได้
ทีนี้พอเอาเด็กลงเรียบร้อย ก็ไกวเปลพร้อมกับร้องเพลงกล่อม เท่านี้ก็เสร็จพิธี อีตอนร้องเพลงกล่อมนี่นะหนูเอ๋ย ถ้าให้คนสมัยโบราณเป็นคนร้องนะมันเพราะจริงๆ ฟังแล้วเพลิน ผู้ใหญ่ยังง่วงเลย แล้วเด็กจะไม่หลับได้ยังไง (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้หายากแล้วล่ะ ป้าเองยังร้องไม่ค่อยจะได้เลย"
และแม้ว่าปัจจุบันหลายคนอาจมองว่าประเพณีเหล่านี้เก่าคร่ำครึและโบราณเกินไปแล้ว แต่สำหรับครอบครัวคุณป้าแพรว นี่คีอความภูมิใจสำหรับทุกคน
"ใครจะไม่ทำก็ปล่อยเขาของแบบนี้มันบังคับกันไม่ได้หรอกหนู มันอยู่ที่ว่าเขาได้เห็นได้รับการปลูกฝังมายังไง อย่าง ลูกๆ หลานๆ ของป้าเขาก็เต็มใจที่จะสืบทอดกันทุกคน ถึงจะลัดขั้นตอนบ้าง ตกหล่นไปบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย
อย่างหลานป้าคนโต ตอนนี้อายุ 18 แล้ว พอว่างๆ เขามานั่งเปิดรูปเก่าๆ ดู เขาจะยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ถูกใจ ถามเขาว่าชอบมั๊ยเขาบอกว่าชอบ ตรงนื้ป้ามองว่ามันมีส่วนทำให้เด็กเขาเติบโตมาอย่างรู้สึกภูมิใจ เพราะพิธีนี้ถือว่าเป็นการแสดงความรักต่อเด็กที่เกิดมา ให้เขาเห็นว่าเราทุกคนมีใจที่จะต้อนรับเขาเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว แล้วยังมีผลดีต่อเด็กคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน พอเขาเห็น เขารู้ว่าพ่อแม่ก็เคยทำแบบนี้ให้ เขาจะสัมผัสได้ว่าทุกคนรักเขาแค่ไหน พอเด็กโตขึ้นถ้าเขาเผลอไผลคิดจะทำไม่ดี เขายังมีสรณะ เขาจะย้อนนึกถึงญาติพี่น้องที่รักเขา ความเป็นครอบครัวจะยิ่งเหนียวแน่น ญาติพี่น้องจากที่ไกลๆ ก็ได้มารวมกันในวันนี้
ป้ามองว่ามันมีแต่ข้อดี เพราะทุกอย่างที่เราทำ เราทำด้วยความตั้งใจดี เราไม่ได้งมงาย มีประเพณีดีๆ เราก็ต้องปฏิบัติ แล้วลูกหลานป้าก็ดีทุกคนนะ ลูกบ้านหล่อจะเป็นแบบนี้หมด เราอยู่ในศาสนา เราผูกมั่นอยู่กับเรี่องไม่ทำผิด พอได้ทำสิ่งดีๆ เราก็รู้สึกว่าชีวิตเราน่าจะมีแต่สิ่งดีๆ มันเป็นเหมือนหลักยึด เป็นกำลังใจให้เราดำเนินชีวิตต่อไปอย่างถูกต้อง ไม่เหมือนเด็กสมัยนี้ที่ขาดหลักยึด ขาดครอบครัว โดดเดี่ยว เคว้งคว้าง ทำอะไรที่น่าอายก็ไม่ต้องนึกถึงใคร เพราะไม่รู้ว่าพ่อแม่รักตัวเองยังไง ครอบครัวก็ไม่ผูกพัน"
ล้างบาปแบบคริสต์
สำหรับคริสต์ชนแล้ว การผ่าน "พิธีล้างบาป" ถือเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวสู่การเป็นลูกของ "พระเจ้า"
"พิธีศีลล้างบาป คือการชำระล้างทั้งร่างกายและวิญญาณให้สะอาด บริสุทธิ์ เมื่อผ่านพิธีกรรมนี้แล้วก็ถือว่าเด็กผู้นั้นได้ชี่อว่าเป็น "ลูกของพระเจ้า"
นี่คือจุดมุ่งหมายของพิธีกรรมล้างบาปตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ซึ่ง บาทหลวงสุพจน์ ฤกษ์สุจริต หรือคุณพ่อสุพจน์ แห่งอาสนวิหารอัสสัมชัญเล่าเพิ่มเติมว่า
"ศีลล้างบาป เป็นพิธีตามความเชื่อและความศรัทธาของศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่าเป็นก้าวแรกของคนๆ หนึ่งที่จะมาเป็นลูกของพระ หมายความว่าเขาได้รับการชำระล้างให้สะอาด คือเรามองว่าร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยฝ่ายชีวิตและฝ่ายวิญญาณ
ฝ่ายวิญญาณเรามองว่าตอนแรกเกิดยังไม่ได้รับการชำระล้างให้สะอาด เมื่อรับพิธีศีลล้างบาปแล้วก็ถือว่าพระเจ้าได้ชำระล้างให้แล้วโดยผ่านพระสงฆ์ ซึ่งชีวิตฝ่ายร่างกายเราก็กินอาหารตามปกติ ส่วนชีวิตฝ่ายวิญญาณก็กินอาหารเหมือนกัน แต่เป็นพรพิเศษจากพระเจ้า ส่วนมากแล้วศีลล้างบาปถ้าเด็กเกิดมาในครอบครัวซึ่งนับถือคริสต์อยู่แล้วก็สามารถทำได้ตั้งแต่แรกเกิดเลย แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถรับพิธีศีลล้างบาปได้เช่นกันถ้าเพิ่งตัดสินใจเลือกนับถือภายหลัง
สำหรับเด็กที่เข้าพิธีจะต้องใส่เสื้อขาว อันนึ้ต้องบอกให้พ่อแม่เด็กเตรียมมาให้เรียบร้อย โดยเริ่มจากพ่อหรือแม่อุ้มเด็กมายืนหน้าแท่นพิธี (เด็กใส่ชุดขาว) มีพ่อหรือแม่ทูนหัวเดินมาพร้อมกัน (ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะมีพ่อทูนหัว ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะมีแม่ทูนหัว) ระหว่างนี้พระสงฆ์ผู้ทำพิธีจะกล่าวเตือนใจว่าหน้าที่ของพ่อแม่ทูนหัวคืออะไร จากนั้นร่วมกันสวดภาวนา บาทหลวงทำเครื่องหมายไม้กางเขนที่หน้าผากเด็ก ตามด้วยการสวดมนต์บทเร้าวิงวอน พระสงฆ์ซักถามและให้พ่อแม่ตอบยืนยันความเชื่อและความศรัทธาที่จะอบรมเลี้ยงดูลูกตามศรัทธาของคาทอลิก แล้วจึงเจิมน้ำมันศีลล้างบาปที่หน้าอก 1 ครั้ง
จากนั้นเป็นการกล่าวประกาศละทิ้งบาปของพ่อแม่และพ่อแม่ทูนหัวของเด็ก พระสงฆ์ทำพิธีล้างบาปด้วยการเทน้ำผ่านศีรษะเด็ก 3 ครั้งและพูดว่า "ข้าพเจ้าล้างท่านในพระนามของพระบิดา พระบุตร พระจิต (ถ้าเป็นสมัยก่อนจะมีการชำระล้างโดยจุ่มตัวเด็กลงไปในแม่น้ำ 3 ครั้ง) เมื่อผ่านการล้างบาปแล้วก็ถือว่าเด็กคนนี้บริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว จากนั้นจะเจิมน้ำมันคริสมาบนศีรษะเด็ก สวมเสื้อขาวหรือมอบผ้าขาวให้แก่เด็กก็ได้เพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกความบริสุทธิ์ และมอบเทียนที่จุดสว่างให้แก่พ่อทูนหัว
ขั้นตอนสุดท้ายต่อจากนั้นคือพระสงฆ์จะสัมผัสหูและปากของเด็ก กล่าวอวยพร ทุกคนในโบสถ์ปรบมือต้อนรับสมาชิกใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่จะพามาทำพิธีตั้งแต่เล็กๆ เราไม่ได้จำกัดว่าต้องเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ แล้วแต่เขา บางครั้ง 2 อาทิตย์มาก็มี บางครั้งก็ 3 เดือน แล้วแต่พ่อแม่จะพร้อม
การที่เด็กทำพิธีศีลล้างบาปตั้งแต่เล็กๆ เพราะชาวคริสต์เชื่อว่าถ้าเด็กมีอันเป็นไปก่อนที่จะเติบโต อย่างน้อยๆ เขาจะไต้ไปสวรรค์ ได้ไปพบพระเจ้า เพราะเขาสะอาดและบริสุทธิ์แล้ว เมื่อเด็กคนหนึ่งได้รับศีลล้างบาปก็ถือว่าเป็นเรี่องน่ายินดี พ่อแม่ญาติพี่น้องก็จะร่วมกันแสดงความยินดี ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลีก พร้อมทั้งฉลองให้ความสำคัญ เด็กก็จะเปลี่ยนสภาพจากที่เคยเป็นเพียงลูกของพ่อแม่ในโลกนี้ กลายเป็นมีพ่อแม่บนสวรรค์ ซึ่งดลบันดาลและสร้างให้เขาเกิดมาคอยคุ้มครองเขาอยู่ด้วย
การที่ทำพิธีศีลล้างบาประหว่างมิสซา ก็เพี่อให้กลุ่มคริสต์ชนร่วมรับรู้ว่ามีสมาชิกใหม่ในคริสต์ศาสนจักร ต้องร่วมกันประคับประคอง สวดมนต์ ดูแลสมาชิกใหม่ให้เติบโตในฝ่ายวิญญาณ และแม้ว่าตัวเด็กจะยังเล็กเกินกว่าจะรับรู้ แต่เด็กคนอื่นๆ ที่ไต้มาร่วมพิธีก็จะได้เห็นถีงการร่วมเป็นหนึ่งเดียวของชาวคริสต์ มีการชื่นชมยินดี เป็นบรรยากาศของสังคมอย่างหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ การที่ทุกคนเข้ามารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้เห็นว่าความเป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ความเชี่อความศรัทธามันมีผลดีต่อตัวเขาและสังคม มีความผูกพัน ความรักใคร่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"
ตัดผมไฟแบบอิสลาม
"โต๊ะอิหม่าม" คือผู้นำทางศาสนาของอิสลามและเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันสิ้นสุดชีวิตของชนชาวมุสลิม...ที่ชุมชนอิสลามแถบอยุธยา ใครผ่านไปมามักจะได้เห็นพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ "พิธีตัดผมไฟ" หรือพิธีต้อนรับเด็กแรกเกิดของชาวมุสลิมกันเป็นประจำ และทุกครั้ง อิหม่ามยามาลี ชัยมงคล จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธี...และครั้งนี้พิธีเริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าที่บ้านเจ้าภาพ (พ่อแม่เด็ก) และเสร็จสิ้นในตอนเย็นวันนั้น บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีชาวมุสลิมที่อยู่ละแวกเดียวกันเมื่อทราบข่าวก็พร้อมใจกันมาร่วม "กินบุญ" ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของพิธีตัดผมไฟ
โดยส่วนใหญ่เด็กๆ ในหมู่บ้านและบรรดาผู้นำทางศาสนาและผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชน จะมานั่งรวมกันในห้องที่ทำพิธี โดยนั่งคนละ 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน โดยก่อนที่พิธีสวดมนต์เริ่มขึ้น จะมีการแจกขนมคอนดุรีซึ่งถือเป็นขนมมงคลแก่แขกทุกท่าน และตามด้วยการร่วมกินของว่างซึ่งมักจะเป็นข้าวเหนียวเหลืองกับไก่
จากนั้นเป็นการสวดมนต์กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ช่วงนี้พ่อหรือแม่ก็จะอุ้มเด็กเข้ามา โดยนำถาดทองเหลืองที่เตรียมไว้มาด้วย ในถาดจะมีถ้วยทองเหลือง 4 ใบใส่แหวนทอง นาก เงิน 1 ใบ ใส่ข้าวบดผสมกล้วยครูด 1 ใบ ใส่น้ำผึ้ง 1ใบ และสำหรับแป้งดินสอพองผสมนํ้าอบอีก 1 ใบ ข้างๆ ถ้วยทั้งสี่ จะมีขวดนํ้าอบและมะพร้าวอ่อน 1 ลูก โต๊ะอิหม่ามจะทำพิธีเจิมหน้าผากเด็กด้วยแป้งดินสอพองและผ่าปากเด็กดยใช้แหวนทองนากเงินที่เตรียมไว้กรีดจากมุมปากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งก่อนที่จะป้อนข้าวบดผสมกล้วยครูดให้เด็กกิน 1 คำแล้วใช้กรรไกรขลิบผมออกปอยหนึ่ง โดยผมที่ขลิบแล้วจะทิ้งลงไปในมะพร้าวอ่อนที่เตรียมไว้ (หลังจากนี้จะนำมะพร้าวอ่อนไปลอยน้ำในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น) หลังจากนี้เป็นการเลี้ยงอาหาร และตามด้วยช่วงเวลาที่เด็กๆ รอคอย เพราะเป็นช่วงการ "แย่งเปล" อิหม่ามยามาลี ชัยมงคล บอกถึงจุดมุ่งหมายของพิธีส่วนนี้ให้ฟังว่า
"การแย่งเปลคือการนำขนม ของเล่น ของกินมาแขวนไว้ที่เหนือเปลเด็ก เมื่อถึงเวลา เด็กๆ จะไปรวมตัวกันที่หน้าเปล แล้วจะมีคนคอยหย่อนขนมที่แขวนอยู่ลงมา เด็กทุกคนจะกรูกันเข้าไปแย่งของเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นเสน่ห์ที่สำคัญของพิธี เพราะช่วยสร้างสีสันและโน้มน้าวให้เด็กๆ มาร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ตรงนี้เป็นกุศโลบายของพิธีกรรม เพราะเมี่อเด็กๆ มาร่วมงานกันเขาก็จะได้เห็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ในการต้อนรับเด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งในอดีตเขาก็ได้รับการต้อนรับแบบนี้ ตรงนี้นี่แหละที่จะผูกพันเขาไว้กับชุมชน เกิดความรักและซาบซึ้งต่อทุกคนที่แวดล้อมตัวเขา ความเป็นหนึ่งเดียวมันก็เกิดขึ้น
หลังจากแย่งเปลกันแล้ว ช่วงนี้บรรดานักดนตรีก็จะเตรียมตัวตีกลอง ร้องเพลงกล่อมเด็ก เพลงที่ร้องจะเป็นภาษาอิสลาม แต่ก่อนจะร้องจะมีการแจกเงินแก่เด็กๆ และผู้มาร่วมงาน แล้วถึงจะเริ่มพิธี อุ้มเด็กนอนลงในเปล ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาวุโส ส่วนใหญ่จะเลือกผู้ที่มีอายุยืนยาวมาเป็นผู้ไกวเปล ขณะเดียวกันพวกตีกลองร้องเพลงก็ร้องไป โดยเนี้อหาของเพลงจะพูดถึงกำเนิดของคนว่ามาจากอะไร ที่ไหน บรรพบุรุษศาสดาโมฮัมหมัดเป็นใคร จากนั้นทุกคนแยกย้ายกันกลับก็เป็นอันเสร็จพิธี
หลังจากนั้น 1 วันจะมีพิธีเหยียบดิน พ่อแม่จะวางสร้อยหรือแหวนทอง นาก เงิน ลงบนดินพร้อมทั้งโรยข้าวตอก แล้วอุ้มให้เด็กหันหน้าไปทางเมกกะ คนที่อุ้มเด็กต้องสวดมนต์ไปด้วย แล้วให้เท้าเด็กสัมผัสที่ดินดูว่าเด็กจะเลือกสัมผัสอะไรระหว่าง แหวน สร้อย หรือกำไล
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือทุกวันพุธจะต้องนำเด็กมาให้โต๊ะอิหม่ามโกนผมให้จนกว่าจะครบ 40 ครั้ง จึงถือว่าพิธีกรรมนี้เสร็จสมบูรณ์
สำหรับอิสลาม พิธีตัดผมไฟ จะทำเหมือนกันทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย เราให้ความสำคัญกับทั้งสองเพศ เพียงแต่เมื่อโตขึ้นบทบาทอาจจะหนักที่ผู้ชาย เพราะพระเจ้าบอกว่า "สูเจ้า เราฝากของขวัญให้กับเจ้าคือภรรยาและบุตร จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ชายต้องดูแล ถ้าบกพร่องก็จะถูกสอบสวนในชาติหน้า"
ส่วนพิธีตัดผมไฟนั้นเป็นการร่วมกันแสดงความยินดีต่อเจ้าภาพที่มีเด็กเกิดขึ้นมาอีกคนในหมู่ชาวมุสลิม ในพิธีวันนี้ตัวเด็กคนนี้ไม่รู้หรอกว่าใครทำอะไรให้เขาเพื่ออะไร แต่วันนี้ก็อย่างที่บอกว่ามันเป็นตัวอย่างแก่เด็กที่มาร่วมพิธีว่าพ่อแม่ ชุมชนให้ความสำคัญกับเขายังไง เขาต้องทำตัวอยู่ในกรอบประเพณีที่ดีงาม เป็นกำลังใจให้เด็ก ให้รู้สึกภูมิใจที่ทุกคนให้ความสำคัญกับเขา โดยมีศาสนาเป็นตัวเชื่อมโยง ระหว่างเด็กกับครอบครัว และครอบครัวกับชุมชน ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ"
โกนผมไฟแบบเต๋า
อ.วิศิษฏ์ เตชะเกษม ผู้เติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่สืบทอดความเข้มข้นของวัฒนธรรมจีน รวมทั้งสนใจศึกษาศาสตร์ของจีนเพิ่มเติม อาจารย์วิศิษฎ์ย้อนเล่าถึงภูมิหลังวัฒนธรรมของคนจีนเกี่ยวกับเรี่องการเกิดว่า
"คนจีนให้ความสำคัญกับการเกิดมาก เขามองว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิต เพราะประเทศจีนเป็นประเทศเกษตรกรรม ต้องการสมาชิกในครอบครัวเยอะๆ เพื่อมาช่วยทำไร่ทำนา เขาต้องการลูก ยิ่งถ้าไต้ลูกชายจะรู้สึกได้กำไร เพราะลูกชายเป็นกำลังที่สำคัญ แถมเมื่อเติบโตขึ้นแต่งงานก็ยังรับลูกสะใภ้เข้าบ้าน พอมีลูกก็ถือเป็นการเพิ่มสมาชิกในครอบครัว แต่ถ้าได้ลูกสาวคนจีนจะรู้สึกว่าขาดทุน ทั้งแง่ความแข็งแรง และเมื่อแต่งไปแล้วก็ออกไปอยู่บ้านผู้ชายอันนี้เป็นที่มาของความเชื่อเรื่องอยากได้ลูกชายของคนจีน แต่ไม่ว่าจะเป็นลูกสาวหรือลูกชาย ก็จะมีพิธีรับขวัญที่เหมือนกัน จะต่างกันก็ตรงความยิ่งใหญ่ ถ้าเป็นผู้ชายจะจัดใหญ่โตกว่าครับ
พิธีที่ว่านี้ไล่เรียงกันตั้งแต่ส่งเทียบเชิญ หลังจากเด็กเกิดจะมีการจัดเทียบเพื่อเชิญญาติผู้ใหญ่และแขกมาร่วมแสดงความยินดี ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน ในระหว่างนั้นประมาณวันที่ 3 หลังจากเด็กเกิดก็จะมีพิธีรับขวัญ (เพราะก่อนหน้านั้นเด็กและแม่ ยังไม่แข็งแรงพอที่จะร่วมพิธี) ซึ่งพิธีกรรมจะมีหมอตำแยเป็นคนจัดการเตรียมสมุนไพรหรือที่เรียกว่าสี่ซานสำหรับให้เด็กอาบโดยใช้สมุนไพร 2 อย่างคือ อ้ายเอี๊ยะ กับ วาเจี่ยะ ในทางความเชื่อมองว่าป้องกันภูตผีปีศาจที่จะมาทำร้ายเด็ก แต่ในแง่หลักความเป็นจริงก็เปรียบเหมือนการล้างคราบไขมัน คราบเลือด คราบสิ่งสกปรกที่ติดตัวเด็กมา
จากนั้นก็เป็นพิธีไหว้แม่ชื้อหรือฉึ่งคาผัวะ ชึ่งแปลว่าผู้หญิงอายุมากคนหนึ่ง เป็นพี่เลี้ยงทางวิญญาณของเด็ก คนจีนมองว่า เด็กที่เกิดใหม่ร่างกายยังไม่แข็งแรง แม่ก็ยังไม่แข็งแรงจึงต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในที่นี้ก็คือเทพผู้หญิงที่อยู่ใต้เตียงมาคอยดูแล แล้วตามด้วยการไหว้ไข่ไก่ หมอตำแยจะเตรียมไข่ไก่ที่ต้มแล้วนำมาทาสีแดงหลังจากไหว้แล้ว นำไข่แดงมาเคาะเอาเปลือกออก เอาไข่ขาวมาลูบหัวเด็กให้ทั่วก่อนที่จะโกนผมออก
แล้วก็จะมีไหว้ขนมหวาน เช่น จันทร์อับ ขนมแป้งชุบน้ำตาลโรยงา ถั่วชุบน้ำตาล น้ำตาลกรวด ขนมธัญพืชต่างๆ งาดำ มีไหว้ผลไม้ ส่วนมากจะเป็นลิ้นจี่กับลำไย
พอถึงวันที่แขกมาร่วมแสดงความยินดีมักจะมีอั่งเปาหรือ เครื่องประดับอันเป็นมงคลติดไม้ติดมือมาฝากเด็ก ของมงคลก็จะนิยมพวก กำไลหยก สร้อยคอ(ยู่อี่) เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ให้รองเท้าเพื่อป้องกันให้เท้าอบอุ่นอยู่เสมอ (เพราะเมืองจีนเป็นเมืองหนาว) และถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะได้เอี๊ยม ส่วนเด็กผู้หญิงจะได้เอี๊ยมและจับปิ้ง
นอกจากนั้นคนจีนจะให้ด้าย 5 สีแก่เด็กด้วย สีที่สำคัญคือ ดำ เขียว แดง เหลือง ขาวหรือทอง พิธีก็จะมีแค่นี้นอกจากว่า มีการผูกดวงดูแล้วเด็กอ่อนแอก็จะมีการแก้เคล็ดด้วยการนำเด็ก ไปฝากไว้ที่ศาลเจ้าเพื่อให้ศาลเจ้าคุ้มครอง โดยเอาผลไม้ไปไหว้ และอธิษฐานขอฝากเด็กไว้เป็นลูก เท่านี้ก็เสร็จพิธี
แต่สำหรับคนจีนแล้วนอกจากพิธีรับขวัญเด็กก็ยังมีพิธีกรรมต่างๆ เยอะมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ สิ่งต่างๆ ที่เขาไหว้หรือบูชาเป็นการรำลึกถึงคุณของธรรมชาติทั้งสิ้นเลย สมุนไพรก็ธรรมชาติ และเมื่อรำลึกถึงก็จะเห็นคุณประโยชน์ ทำให้ไม่ดูถูกของเหล่านี้ เขาจะเห็นว่าชีวิตของเขาตั้งแต่แรกเกิดนี่อยู่ได้ด้วยธรรมชาติ ทุกคนก็จะอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ
พิธีรับขวัญนี้ ถือว่าให้คุณค่าทางใจแก่เด็กมาก ตรงที่พิธีเป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดเรื่องราวสร้างความผูกพัน อย่างการไหว้แม่ซื้อหรือไหว้พ่อแม่ทุกๆ ปี เด็กก็จะรำลึกว่ามีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่คอยดูแลเขาอยู่ เขาจะเคารพและไม่กล้าที่จะหยิ่งผยอง ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของคนจีน
สมมติเราไม่สอนให้เด็กพึ่งธรรมชาติเขาก็จะคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่คับฟ้าอหังการและก้าวร้าว ไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น พี่น้อง ไม่เห็นคุณค่าของเพื่อนฝูง ไม่เห็นคุณค่าของแผ่นดิน เมื่อฮึกเหิมสังคมก็ปกครองยาก ความอบอุ่น ความกตัญญูต่อพ่อแม่ก็ไม่มี แต่สำหรับคนจีน พิธีกรรมเหล่านี้บ่งบอกว่าเรามีความผูกพันกัน ระหว่างพี่น้อง ระหว่างสายเลือด ไม่ว่าจะไปอยู่ไหนก็จะคอยช่วยเหลือกัน"
สรุป
"พิธีรับขวัญ" สำหรับเจ้าตัวน้อย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ความเชื่อใด ล้วนแล้วแต่ให้ผลในเชิงบวกแก่ผู้ปฏิบัติทั้งสิ้น ที่สำคัญในวันที่ทุกคนละเลยและหลงลืมอย่างเช่นทุกวันนี้ ขอยกคำกล่าวของ อาจารย์วิศิษฏ์ เตชะเกษม ที่ยังคงให้ความสำคัญต่อประเพณีที่ดีงามเหล่านี้ไว้อย่างมั่นคงไม่สั่นคลอนมาฝากเป็นแง่คิดให้คุณพ่อคุณแม่ ทุกท่าน
"ผมมองว่าในปัจจุบันนี้ความเชื่อหลายอย่างคนรุ่นใหม่อาจมองว่าไม่จริง ไม่ให้ความสำคัญเพราะ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มีน้ำหนักมากกว่า แต่ถึงแม้จะเป็นอย่างนี้ ผมก็คิดว่าเรายังน่าจะสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่ แต่สืบทอดด้วยเพราะเห็นในเสน่ห์ของวัฒนธรรมมากกว่า เพราะประเทศใดก็ตามที่มีวัฒนธรรม นั่นหมายความว่ายังคงรักษาชาติไว้ได้ ประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมก็จะเสื่อมสลายไปในที่สุด อย่างอียิปต์ โรมัน ฯลฯ อย่างเรามีวัฒนธรรมไทย ถ้าเราไม่สนใจคิดว่าเป็นเต่าล้านปี แล้วปล่อยให้มันสูญสลาย วันหนึ่ง เราก็เป็นขี้ข้าประเทศอื่นเขา ตรงนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะเลือกอย่างไหน แต่ถ้าเราเลือกที่จะปฏิบัติ ก็ต้องสอนให้ปฏิบัติอย่างไม่งมงาย ให้รู้ที่มา ความหมาย
และสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเกิดมาผ่านพิธีกรรมแบบใดก็ตาม สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ สิ่งที่จะให้เด็กได้ก็คือความเอาใจใส่ ความรัก ความรู้ที่เป็นคุณรรรม ให้ความถูกต้องแก่เขา พ่อแม่บางคนอาจสอนลูกให้เอาเปรียบคนอื่นเพื่อหวังให้ตัวเองอยู่รอด วันหนึ่งเขาก็จะไปเอาเปรียบพี่น้อง แล้วสุดท้ายก็จะไปเอาเปรียบ พ่อแม่ในที่สุด "
ทำขวัญเดือนแบบพุทธ ข้อทราบข้อมูลหน่อยได้มั๊ยครับ ชื่อ เบอร์โทร จะสอบถามเรื่องเพลงที่ใช้ร้องกล่อมเด็ก ขอบคุณครับ
ตอบลบใช่ค่ะ อยากทราบรายละเอียด พิธีพุทธเหมือนกัน สนใจ อยากสืบทอด ที่บ้าน คุณแม่ไม่เคยทำค่ะ คุณยายก็มีทำบ้าง เคยเห็นผ่านๆได้ยินผ่านๆตอนเด็กๆ เวลามีหลานๆเกิด แต่ละเอียดๆ แบบไทยโบราณ ไม่เคยเห็นค่ะ อยากนำไปสืบต่อ ยังไง ฝากรบกวนติดต่อกลับมาที่ E-mail : tungmae_domo@hotmail.com หรือ Line : iamtungmae นะคะ สนใจมากๆเลยค่ะ
ตอบลบ