วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จิตวิทยาลูกรัก-เมื่อหนูไม่ยอมนอน


จิตวิทยาลูกรัก-เมื่อหนูไม่ยอมนอน
น.พ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

คนที่มีอาชีพที่ต้องอยู่เวรยาม เช่น แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร หรือ ยามรักษาการณ์คงเข้าใจดีถึงการอดหลับ อดนอนว่าเป็นอย่างไรนะครับ อยู่เวรวันนึ้ ยังไงพรุ่งนึ้ก็ยังได้นอนพัก แต่ใครที่มีลูกเล็กๆ ทึ่มีปัญหาการนอนจะแย่กว่ามาก เพราะมันเป็นประสบการณ์อยู่เวร อยู่ยามทุกคืน โดยไม่มีวันได้หยุดพักเลยครับ เมื่อลูกตื่น พ่อแม่ก็ต้องตื่น (พ่อบางคนอาจไม่ตื่น แต่คนเป็นแม่ตื่นแน่) อดนอนหลายคืนแล้ว ทุกเช้าก็ต้องไปทำงานตามปกติ เล่นเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนถึงกับโทรม เดินไปทำงานแบบเบลอๆ เลยครับ ปัญหาการนอนของลูกอาจเริ่มตั้งแต่รับลูกมาจากโรงพยาบาลจนบางทีไปถึงวัยอนุบาลก็ไต้ครับ เราลองมาทำความเข้าใจเรื่อง การนอนของเด็กกันดีกว่านะครับ

การนอนกับพัฒนาการ

การนอนก็เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กครับ จากการศึกษาวิจัย เด็กทารกจะใช้เวลากับการนอนมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยมักตื่นร้องทุก 3 - 4 ชั่วโมง ซึ่งสัมพันธ์กับความหิว เนื่องจากเด็กทารกต้องกินนมทุก 3 - 4 ชั่วโมงนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กทารกจะตื่นกลางคืนทุก 3 - 4 ชั่วโมง ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องทนเหนื่อยไปก่อนครับ แต่เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะหลับกลางคืนได้นานขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 70 ของเด็กอายุ 3 เดือน จะเริ่มหลับยาวได้เกือบตลอดคืน และที่อายุ 4 เดือน เด็กหลายคนจะหลับต่อเนื่องได้ถึง 8 ชั่วโมง ดังนั้นพอลูกอายุ 3 - 4 เดือน คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็จะเริ่มสบายขึ้น แต่ก็พบว่าเด็กส่วนหนึ่งยังตื่นร้องกลางคืนไปเรื่อยๆ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ให้นมลูกบ่อยเกินไป เช่น ในตอนกลางวันพ่อแม่ให้นมลูกทุก 1 - 2 ชั่วโมง หรือให้นมทุกครั้งที่ลูกร้องเด็ก (ซึ่งเราเคยคุยกันไปแล้ว) กลางคืนลูกก็ตื่นร้องบ่อยเพื่อกินนมเหมือนช่วงกลางวัน (Trained night feeders)
อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่ตอบสนองต่อการตื่นของลูกทุกครั้งด้วย การให้นม ( Trained night crier) อันนี้พบบ่อยมากจริงๆ ครับ คือเวลากลางคืน ถ้าลูกร้อง ไม่ว่าจะร้องดัง หรือแค่ร้องแอ๊ะๆ ก็รีบเอาขวดนมใส่ปากทันที ถ้าทำอย่างนี้เด็กจะถูกฝึกให้ตื่นร้องมากินนมกลางคืนไปตลอด คราวนี้ล่ะครับ แทนที่จะได้หลับยาวๆ ตามที่ควรจะเป็น ก็เลยร้องตื่นคืนละ 3 - 4 รอบ พ่อแม่อดหลับอดนอนไปตามๆ กัน
การที่เราเอาขวดนมใส่ปากแล้วเด็กทารกหยุดร้องชั่วคราวนั้น เกิดจากกลไกทางระบบประสาทที่เรียกว่า 'รีเฟลกซ์' (Sucking reflex ) ครับ โดยเมื่อมีวัตถุเช่นจุกนมหรือหัวนมแม่เข้ามาสัมผัสในปาก ระบบประสาทจะสั่งให้เกิดการดูดโดยอัตโนมัติ เมื่อต้องดูดก็ต้องหยุดร้อง เพราะไม่มีใครสามารถดูดไปด้วย ร้องไปด้วยในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ซ้ำๆ แบบนี้ล่ะครับ จะทำให้พ่อแม่หลายคนคิดว่าลูกร้องเพราะหิว เพราะเอานมใส่ปากทีไรก็หยุดร้องทุกที เด็กเองก็ถูกฝึกให้คุ้นเคยกับการตื่นขึ้นมากินนมตอนกลางคืน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขนี้ เมื่อลูกร้องกลางคืนก็ควรปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่ได้แนะนำไปแล้วในตอนที่แล้วครับเช่นหาสาเหตุก่อน เช่น เปียกอุจจาระ ปัสสาวะหรือไม่ อากาศร้อน เย็นเกินไป ถ้าไม่เจอสาเหตุ ลองตบก้นให้หลับหรืออุ้มปลอบดูก่อน ถ้าไม่หยุดจริงๆ อาจให้ดูดน้ำจากขวดนม เด็กหลายคนก็จะหลับต่อได้ โดยไม่ต้องให้นม

ข้อควรปฏิบัติเพื่อการนอนที่ดีของลูก

- ให้ลูกหลับบนเบาะหรือเตียงเสมอ ไม่อุ้มเดินให้เด็กหลับคาอกแล้วจึงเอาไปวางบนเบาะ คุณพ่อคุณแม่บางคนเมื่อลูกร้องมักจะอุ้มไปมาเป็นชั่วโมงๆ ให้ลูกหลับคาอกขณะอุ้ม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องครับ วันหลังก็ต้องทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พ่อแม่บางคนปวดหลังไปเลย เพราะลูกโตขึ้น ก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับ เช่น เงียบ ไม่มีเสียงรบกวน ปรับอากาศให้เย็นสบาย มืด ปิดไฟนอน ไม่เปิดไฟหรือเปิดทีวีในห้องนอนทิ้งไว้
- ก่อนเข้านอนไม่กระตุ้นหรือเล่นกับลูกมากเกินไป คุณพ่อบางคนทำงานมาก กลับบ้านดึก มาถึงก็พยายามเล่นกับลูกการเล่นกับลูกก็ดีอยู่ครับ แต่ถ้าเล่นใกล้เวลาเข้านอนมาก หรือเล่นจนเด็กสนุกตื่นเต้นมากเกินไป อาจมีผลต่อการนอนหลับได้ อาจเปลี่ยนกิจกรรมเป็นอ่านนิทานให้ฟังสบายๆ ชวนพูดคุยให้เคลิ้มหลับไป จะดีกว่า

ลูกน้อยกลายเป็นมนุษย์ค้างคาว

เด็กทารกบางคนอาจมีปัญหามนุษย์ค้างคาว คือกลางคืนตื่นมาเล่น ไม่ยอมนอน แต่พอกลางวันกลับหลับยาว มักเกิดในเด็กเล็ก แรกเกิดถึงอายุ 1 - 2 เดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็คือสมองที่ควบคุมการนอนของเด็กเล็กยังไม่ค่อยพัฒนา เมื่อเด็กโตขึ้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็มีวิธีช่วยปรับพฤติกรรมการนอนได้บ้าง โดยเวลากลางคืน แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พยายามตอบสนองลูกให้น้อยที่สุด เช่น พยายามกอดและตบๆ ก้นให้หลับต่อ ถ้าลูกไม่ยอมนอนจริงๆ ก็อย่าตอบสนองโดยการอุ้มเดินไปมา หรือถ้าลูกจะมาเล่นด้วย (ตอนกลางดึก) ก็พยายามอย่าตอบสนอง พอโตขึ้นก็มักจะดีขึ้น นอนเวลากลางคืนได้ตามปกติครับ

ลูกนอนดึก ตื่นสาย

แทบไม่น่าเชื่อว่าผมได้พบเด็กชายอายุ 2 ปีที่นอนดึกมาก คือกว่าจะนอนเกือบตี 1 แล้วไปตื่นเอา 10 โมงเช้า รายนึ้พ่อแม่ขายของกลางคืน เลยเลิกงานดึกเกือบเที่ยงคืน ลูกก็รอเล่นด้วย พอจะปิดไฟให้นอน ลูกก็ร้องไห้ ไม่ยอม จะเล่นต่อ พ่อแม่เห็นลูกร้องมากก็ตามใจ เด็กก็เริ่มนอนดึกขึ้นเรื่อยๆ หรือบางทีปัญหาการนอนของลูกอาจเกิดจากคุณพ่อคุณแม่บางคนมีพฤติกรรมนอนดึกอย่างอื่น เช่น ชอบนั่งดูทีวี หรือ เล่นคอมพิวเตอร์จนดึก เด็กมักคุ้นเคยกับการนอนดึกตามไปด้วย ผลเสียของการนอนดึกเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต (Growth hormone) ซึ่งจะหลั่งออกมาในสมองเฉพาะเวลานอนหลับตอนกลางคืนเท่านั้น มันจะไม่หลั่งเวลาเช้าหรือสายๆ ดังนั้นเด็กที่ไม่นอนกลางคืน แต่มานอนกลางวัน ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมาน้อย อาจมีผลกระทบการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรนอนดึกเกิน 4 ทุ่มครับ สำหรับเด็กที่นอนผิดเวลาไปแล้ว อาจปรับพฤติกรรมโดยลองปลุกลูกให้เช้ากว่าปกติ เช่น ปกติตื่น 10 โมงเช้า ก็ค่อยๆ ปลุกเร็วขึ้นเป็น 9 โมงครึ่ง วันต่อไปก็เป็น 9 โมงเช้า เด็กอาจง่วงนอนตอนกลางคืนเร็วขึ้น เราก็พยายามค่อยๆ เอาลูกเข้านอนเร็วขึ้น เช่น เคยนอนเที่ยงคืน ก็เลื่อนลงเป็น 5 ทุ่มครึ่งจากนั้นเป็น 5 ทุ่ม พร้อมกับจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอนหลับอย่างที่แนะนำไปแล้วตอนต้น
ปัญหาการนอนในเด็กเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย และแตกต่างจากปัญหาการนอนของผู้ใหญ่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญกับการนอนของลูก คอยป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือถ้ามีปัญหาก็ปรึกษาแพทย์เพื่อคำแนะนำที่ถูกต้อง ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้พัฒนาการและสุขอนามัยของลูกดีขึ้นครับ
นอกจากนี้เด็กส่วนใหญ่จะมีการนอนกลางวัน ซึ่งปกติแล้วเด็กทารกมักมีนอนกลางวัน (nap) ประมาณ 1 - 2 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 1 - 2 ชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 2 - 3 ปีก็จะมีนอนกลางวัน ประมาณ 1 ครั้งต่อวัน ถ้าเด็กมีปัญหานอนดึก ให้ลองสำรวจว่านอนกลางวันกี่ครั้ง เวลาใดบ้าง ที่ผมเคยเจอบ่อยๆ ก็คือ เด็กบางคนมีนอนกลางวัน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 อาจเป็นตอนเย็นหรือหัวค่ำ เช่น ถ้านอนตอน 6 โมงเย็นถึง 1 ทุ่มไปแล้ว ก็จะทำให้เด็กนอนดึกขึ้น เช่น นอน 5 ทุ่มหรือเที่ยงคืน ดังนั้นควรปรับการนอนกลางวันให้เหลือครั้งเดียว เอาเฉพาะที่ง่วงจริงๆ และเลื่อนเวลานอนตอนเย็นหรือหัวค่ำไปเป็นนอนช่วงบ่ายแทน

ร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror)

ลักษณะการร้องแบบนี้มักพบบ่อยในเด็ก 2 - 6 ปี ครับ เด็กมักกรีดร้องเหมือนร้องตื่นตกใจ บางคนหลับหูหลับตาร้อง บางคนมีเหงื่อออก หัวใจเต้นแรง การร้องมีลักษณะเฉพาะคือมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังการหลับไม่นาน ต่างจากฝันร้ายซึ่งมักเกิดตอนเช้ามืด ดังนั้นการร้องแบบนี้ไม่ใช่ฝันร้ายนะครับ เป็นคนละแบบกัน คุณพ่อคุณแม่หลายคนพอเห็นลูกร้องตกใจตื่นกลางดีกก็มักรีบอุ้มขึ้นมาและเขย่าปลุกให้ตื่น ซึ่งไม่ควรทำครับ เพราะการร้องแบบนี้เกิดในช่วงของการนอนที่เรียกว่า Non REM Sleep เป็นช่วงซึ่งเด็กจะจดจำเหตุการณ์ไม่ได้เมื่อเด็กถูกพ่อแม่เขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมา ก็จะยิ่งตกใจ ที่ควรทำก็คือ พยายามตอบสนองลูกให้น้อยที่สุด เช่น พยายามกอด และตบๆ ก้นให้หลับต่อ ถ้าลูกร้องมากจริงๆ ก็อุ้มปลอบได้บ้าง แล้วรีบให้กลับไปนอนโดยเร็วครับ พอลูกโตขึ้นอาการร้องนี้มักจะค่อยๆ ดีขึ้นครับ แต่ถ้าลูกร้องมากผิดปกติก็ควรปรีกษาแพทย์ครับ

ฝันร้าย (Nightmare)

ไม่ว่าใครก็คงจะเคยฝันร้ายกันนะครับ ฝันร้ายมักเริ่มเกิดในช่วงอายุ 3 - 6 ปี ซึ่งช่วงวัยอนุบาลมักมีเรื่องของจินตนาการค่อนข้างมากอยู่แล้ว ฝันร้ายมักเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ากลัว เช่น หนีผี ปีศาจ ตกจากที่สูง หรือเรื่องความตาย ฝันร้ายมักเกิดในช่วงการนอน REM Sleep ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ และมักเกิดเวลาเช้ามืดครับ ซึ่งแตกต่างจากการร้องตกใจกลางคืน (Sleep terror) ซึ่งมักเกิดช่วงหัวค่ำ หลังจากนอนไม่นาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น