วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะวิศวกรรมศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำวิทยาการและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ คิดค้น ออกแบบและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาดัดแปลงและปรับปรุง เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้ศึกษาด้านวิศวกรรม ต้องมีพื้นฐานที่ดีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มีความถนัดเชิงวิศวกรรมเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการต่อไปภายหน้า มีสาขาให้เลือกศึกษา ดังนี้
1. สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ การออกแบบและสร้างสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่นำเอาความรู้ทางด้านระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้ และวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยจะศึกษาพื้นฐานทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และทฤษฎีคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งในเชิงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมทั้งความชำนาญเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศ โดยเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความสามารถเป็นนักวิจัย นักวิเคราะห์ หรือนักพัฒนาระบบทางคอมพิวเตอร์ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ
2. สาขาวิศวกรรมเคมี
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ จัดสร้างและกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก ยาง กระดาษ แก้ว เซรามิกส์ ปูนซีเมนต์ เส้นใย เครื่องอุปโภคบริโภค และสารเคมีพื้นฐาน เช่น กรด ด่าง แก๊ส สารละลาย เป็นต้น โดยศึกษาหลักการของกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนผสม สถานะ ภาวะ และลักษณะสมบัติของวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัยและประหยัด โดยเน้นการออกแบบอุปกรณ์และโรงงาน กระบวนการอุตสาหกรรมเคมี การควบคุมปฏิกรณ์เคมีและกระบวนการการหน่วยปฏิบัติการ การคำนวณดุลมวลและพลังงาน ตลอดจนเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม
3. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วิเคราะห์และออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรและสิ่งประดิษฐ์ ออกแบบแปลนการติดตั้ง ควบคุมการใช้งาน ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระบบความเย็น ระบบปรับภาวะอากาศ หม้อไอน้ำ กังหันไอน้ำ และระบบท่อประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางด้านประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เครื่องยนต์ เชื้อเพลิงผสม เป็นต้น
4. สาขาวิศวกรรมเรือ
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา วิเคราะห์ การออกแบบ รวมทั้งการผลิตและการประกอบพาหนะทางน้ำชนิดต่าง ๆ ตลอดจนถึงการออกแบบระบบต่าง ๆ ภายในตัวเรือ เช่น ระบบขับเคลื่อน ระบบท่อ ระบบปรับอากาศ รวมถึงโครงสร้างข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท่าเรือ อู่ต่อเรือ จึงเป็นวิชาชีพที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิศวกรรมสาขาอื่น ๆ เช่น วิศวกรรมโยธา เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหกรรม โดยมีลักษณะที่นำเอาความรู้ในสาขานั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ในทางเรือ
5. สาขาวิศวกรรมยานยนต์
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวช้องกับการนำเทคโนโลยีพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลมาประยุกต์ใช้ในด้านการออกแบบและด้านการผลิต มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และรู้จักการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ทันสมัยอย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย
6. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ ออกแบบ และสร้างสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์และระบบไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์และระบบควบคุม โดยเน้นหนักทางด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ความเชื่อถือได้ ความปลอดภัย ความประหยัดของสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว และยังเกี่ยวข้องกับการใช้งาน การตรวจสอบวัสดุสิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ ระบบดังกล่าวด้วย
7. สาขาวิศวกรรมโยธา
ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ซึ่งครอบคลุมวิชาการด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่
---   วิศวกรรมสำรวจ
เพื่อการจัดทำแผนที่จากภาคสนาม การสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม
---   วิศวกรรมโครงสร้าง
เกี่ยวกับหลักกลศาสตร์ของวัสดุและโครงสร้าง การทดสอบคุณสมบัติทางกล และกำลังของวัสดุทางวิศวกรรม การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างไม้ เหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง
---   วิศวกรรมปฐพี
เกี่ยวกับพฤติกรรมทางวิศวกรรมของดินและหิน เพื่อเป็นฐานรากของสิ่งก่อสร้างบนดิน ใต้ดิน และเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น อาคาร ถนน อุโมงค์ เขื่อนดิน
---   วิศวกรรมขนส่ง
เกี่ยวกับการคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การออกแบบทางระบบการจราจร ระบบขนส่งมวลชน
---   การบริหารการก่อสร้าง
เกี่ยวกับการวางแผนงาน ก่อสร้าง การจัดการขนส่ง เครื่องจักรกล บุคลากรและการเงินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
8. สาขาวิศวกรรมโลหการ
เป็นศาสตร์และศิลปะในการสกัดโลหะจากสินแร่ของมันแล้วทำให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจัดเตรียมและทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะแก่การใช้งาน
9. สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงสภาวะแวดล้อม และสร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ ขอบเขตวิศวกรรมสุขาภิบาลยังครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาสุขอนามัยภายในโรงงานอุตสาหกรรม การขจัดมลพิษและมลภาวะของน้ำ อากาศ และอื่น ๆ อันสืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัย ในสาขาวิชานี้มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันและรณรงค์กับมลภาวะต่าง ๆ ของสภาวะแวดล้อม
10. สาขาวิศวกรรมสำรวจ
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวกับการวางแผน การรังวัด การคำนวณ และวิเคราะห์รายละเอียดของพื้นผิวโลก เพื่อนำมาใช้ในการทำแผนที่ แผนผังหรือกำหนดค่าพิกัด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมต่าง ๆ เช่น การออกแบบทางหลวงและเขื่อน การรังวัดที่ดิน งานชลประทาน งานปฏิรูปที่ดิน งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และผลิตผลทางเกษตร และงานผังเมือง
11. สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่
เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแร่ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งเพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศ
12. สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม
เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในการพัฒนาประเทศ
13. สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ
เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน วิเคราะห์ และควบคุมระบบการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม และการบริหารทางธุรกิจ โดยเน้นหนักเรื่องการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนการผลิต ศึกษาแก้ไขปัญหาทางการผลิตและปัญหาต่าง ๆ ของโรงงานอย่างมีระเบียบแบบแผน การวางแผนและการควบคุมการผลิต อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงงานกับฝ่ายบริหารด้วย
14. สาขาวิศวกรรมวัสดุ
มุ่งเน้นเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของวัสดุ ทั้งการใช้งานและการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้หลักสูตรได้ครอบคลุมวิชาหลักที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โครงสร้าง สมบัติ กระบวนการ และสมรรถนะของวัสดุ เช่น การแพร่และจลนศาสตร์ ปรากฏการณ์การถ่ายเท การจำแนกลักษณะเฉพาะทางโครงสร้างจุลภาคสมบัติทางกลและสมดุลของเฟส นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถเลือกเรียนวิชาเฉพาะเลือกในสาขาวิศวกรรมวัสดุด้านต่าง ๆ เช่น โลหะการ พอลิเมอร์ เซรามิกส์ และอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์
15. สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน
ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานทางวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน 3 สาขา ซึ่งประกอบด้วยอากาศพลศาสตร์และการขับดันอากาศยาน ระบบควบคุมอัตโนมัติและการควบคุมการบิน และการออกแบบโครงสร้างอากาศยาน การให้การศึกษามุ่งเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีจะมีการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านงานวิเคราะห์ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาใช้ในการศึกษา และในด้านภาคปฏิบัติจะมุ่งเน้นการทดลองวิจัย เพื่อให้ทางปฏิบัติมีความคล่องตัวสูงสุด สาขาวิชานี้ให้การศึกษาครอบคลุมไปถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมชีวกลศาสตร์ เป็นต้น
16. สาขาวิศวกรรมเกษตร
ศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรม และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมในการผลิตทางการเกษตร การแปรสภาพและการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพทฤษฎีของเครื่องจักรกลเกษตร การออกแบบเครื่องจักรกลเกษตร กำลังทางระบบการเกษตร การถ่ายเทความร้อนและมวลสาร วิศวกรรมการแปรรูปผลิตผลการเกษตร สมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์เกษตร รถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร ระบบและเครื่องจักรกลไฮดรอลิกนิวแมติก พัดลม เครื่องสูบและระบบการจ่าย การวัดและอุปกรณ์วัด การออกแบบเครื่องมือลำเลียงผลิตผลเกษตร วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมการเกษตรและการออกแบบ โครงสร้างอาคารเกษตร
17. สาขาวิศวกรรมการอาหาร
ศึกษาเกี่ยวกับหลักการของวิศวกรรมการอาหาร วิศวกรรมการแปรสภาพผลผลิตทางการเกษตรให้อยู่ในรูปของอาหาร วิศวกรรมการเก็บรักษาอาหาร และวิศวกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมถึงการออกแบบวิเคราะห์และทดสอบเครื่องจักรกลอาหาร ศึกษาระบบควบคุมในการผลิต ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
18. สาขาวิศวกรรมชลประทาน
ศึกษาเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรมของสาขาต่าง ๆ และวิชาเฉพาะของสาขาวิศวกรรมชลประทาน ได้แก่ หลักการชลประทาน การออกแบบ ระบบชลประทานในไร่นาชนิดต่าง ๆ เช่น การให้น้ำแบบผิวดิน แบบฉีดฝอยและแบบหยด การวางแผนและออกแบบระบบการส่งน้ำ ระบบสูบน้ำและระบบระบายน้ำ การออกแบบอาคารชลประทานแบบต่าง ๆ เช่น เขื่อน ฝาย คลองส่งน้ำ และอาคารประกอบการพิจารณาวางโครงการ การจัดการเรื่องน้ำ การส่งน้ำและบำรุงรักษา การบริหารโครงการชลประทาน การประยุกต์คอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกรรมชลประทาน
19. สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
ศึกษาเกี่ยวกับกลศาสตร์ของของไหล ชลศาสตร์ อุทกวิทยาผิวดินและใต้ดิน วิศวกรรมแม่น้ำ วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำ วิศวกรรมชายฝั่ง การป้องกัน และการระบายน้ำในชุมชนเมือง รวมทั้งการประยุกต์วิชาการเพื่อการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำทุกขนาด
20. สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม
ศึกษาวิเคราะห์และออกแบบระบบสื่อสารระยะไกลทุก ๆ รูปแบบ การศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมไปจนถึงการใช้ประโยชน์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสารระยะไกล
21. สาขาวิศวกรรมพอลิเมอร์
ศึกษาถึงวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ อาทิเช่น โครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์ ปฏิกิริยาการเกิดพอลิเมอร์และสมบัติทางกายภาพของพอลิเมอร์ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก เทคโนโลยีการใช้ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกทั้งการศึกษาการนำพอลิเมอร์มาใช้เป็นวัสดุเชิงประกอบกับวัสดุจำพวกเซรามิกและโลหะโดยมุ่งเน้นถึงการใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้าง การใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ การทำสายพาน เป็นต้น
22. สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเครื่องกลการผลิต
ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานทางวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์กำลัง และการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้าน CAD/CAM เครื่องจักร CNC ระบบการผลิตยืดหยุ่น (FMS) การออกแบบเครื่องจักรกล เครื่องมือวัดและการวัดเที่ยงตรง เทคโนโลยีการผลิต แม่พิมพ์และดาย การออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกล วัสดุศาสตร์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลักสูตรนี้เน้นภาคปฏิบัติการเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
23. สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้
ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์และวิศวกรรมความรู้ รวมทั้งทฤษฎีทางคณิตศาสตร์และทฤษฎีฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการวิจัยพัฒนาและออกแบบระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ และระบบการจัดเก็บข้อมูลและความรอบรู้ขององค์กร รวมทั้งความชำนาญเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ เช่น การกำหนดข้อมูลจำเพาะและการออกแบบซอฟต์แวร์ การตรวจทานและทดสอบความถูกต้องของซอฟต์แวร์ การจัดการคลังข้อมูล การทำเหมืองข้อมูล ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความสามารถเป็นนักวิจัย นักวิเคราะห์ หรือนักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ควรมีพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (เคมีและฟิสิกส์) และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

แนวทางในการประกอบอาชีพ
สามารถทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น
1. ทำงานในกระทรวง กรม หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักงานการพลังงานแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ ฯลฯ
2. ทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ เป็นต้น
3. ทำงานในหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ บริษัทก่อสร้าง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น