วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะสหเวชศาสตร์ / เทคนิคการแพทย์

การศึกษาในหลักสูตรคณะสหเวชศาสตร์ / เทคนิคการแพทย์
สหเวชศาสตร์ / เทคนิคการแพทย์
คือ คณะซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายสาขา ในปัจจุบันได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาต่าง ๆ ดังนี้

1. สาขาเทคนิคการแพทย์
เป็นวิชาชีพที่ใช้เทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการในการวิเคราะห์ วิจัย สุ่มตัวอย่างจากร่างกายมนุษย์ เพื่อนำผลการตรวจไปใช้ในการประเมินสุขภาพ วินิจฉัยโรค ติดตามการดำเนินของโรค และผลของการรักษาและพิสูจน์ทางนิติเวชศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และยังทำหน้าที่เป็นนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในการตรวจทางห้องปฏิบัติการชันสูตรและงานวิจัย โดยเน้นให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เป็นผู้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ และเป็นผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

2. สาขากายภาพบำบัด
เป็นวิชาชีพทางการแพทย์สาขาหนึ่ง ผลิต "นักกายภาพบำบัด" ที่ให้บริการทางด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การบริการรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ผู้พิการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายเพื่อการรักษา การดัดดึงข้อต่อและกระดูกสันหลัง การนวดและกดจุด การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้า การฝึกการเคลื่อนไหวสำหรับผู้ป่วยอัมพาต การฝึกการหายใจ การระบายเสมหะสำหรับผู้ป่วยทางระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต กายภาพบำบัดในผู้ป่วยศัลยกรรมและการออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น

กระบวนการทางกายภาพบำบัดครอบคลุมถึงการตรวจประเมิน การวิเคราะห์ปัญหา วางแผนและให้การรักษา โดยสามารถให้บริการการรักษากับผู้ป่วยหลายประเภทในทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่ทารก เด็ก ถึงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ผู้ป่วยทางระบบประสาท ผู้ป่วยทางระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด สุภาพสตรีมีครรภ์ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากกีฬา งานบริการสปาเพื่อสุขภาพ และอื่น ๆ

ผู้ที่เลือกเรียนกายภาพบำบัด จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ มีความพร้อมและความเสียสละตนเองในการบริการบำบัดรักษาผู้ป่วย ผู้พิการและผู้ไร้สมรรถภาพต่าง ๆ

3. สาขารังสีเทคนิค
เป็นวิชาชีพที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการให้บริการทางเทคนิคในการตรวจวิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี รวมทั้งการป้องกันอันตรายจากรังสีแก่ผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการทางเทคนิค ในการตรวจวิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะงาน คือ

--- งานทางรังสีวินิจฉัย --- 
เช่น จัดนำผู้ป่วย และถ่ายภาพเอกซ์เรย์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยกำหนดค่าปริมาณรังสีที่พอเหมาะ ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบาย ได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด และภาพรังสีที่ได้มีคุณภาพดี ถ่ายภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วยระบบดิจิตอลอิมเมจจิง เช่น เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ร่วมมือกับแพทย์ในการตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และการตรวจทางรังสีร่วมรักษา เช่น การขบายหลอดเลือด ควบคุมดูและการใช้งานและการเก็บรักษาเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์บันทึกภาพทางรังสี เช่น ฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม เครื่องล้างฟิล์ม เป็นต้น

--- งานทางรังสีรักษา --- 
เช่น วางแผนการรักษามะเร็งด้วยรังสี โดยกำหนดตำแหน่ง และขอบเขตของก้อนมะเร็งด้วยเครื่องจำลองการรักษา เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ และตรวจสอบผลการรักษาเป็นระยะด้วยเครื่องมือดังกล่าว จัดท่าทางฉายรังสีแก่ผู้ป่วยเพื่อฉายรังสีเอกซ์เรย์พลังงานสูง รังสีแกมมาหรืออิเล็กตรอนจากเครื่องกำเนิดรังสีไปยังก้อนมะเร็ง หรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีสู่ร่างกายเพื่อทำลายมะเร็งจากการควบคุมระยะไกลและระยะใกล้ คำนวณหาแผนภูมิการกระจายรังสีของแต่ละพื้นที่การรักษาเพื่อให้ได้แผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด รวมทั้งคำนวณหาเวลาการฉายรังสีที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง

--- งานทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ --- 
เช่น ควบคุมการทำงานเครื่องถ่ายภาพ และบันทึกภาพการทำงานของอวัยวะภายในด้วยสารกัมมันตรังสี และเครื่องนับวัดปริมาณรังสีจากร่างกายผู้ป่วยที่ได้รับการฉีด การกิน การสูดดมสารเภสัชรังสีเพื่อวินิจฉัย และหรือติดตามผลการรักษาโรค สำหรับเครื่องถ่ายภาพระบบดิจิตอล เช่น SPECT, PET สามารถปรับตั้งพารามิเตอร์ให้ได้ภาพรังสีที่มีคุณภาพดีที่สุด ประมวลผลภาพและสามารถเรียกข้อมูลภาพกลับมาดูได้อย่างถูกต้อง ควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสร้างภาพและคำนวณค่าทางสรีรวิทยาจากภาพได้อย่างถูกต้อง ใช้วิธีการทางห้องปฏิบัติการร่วมกับสารกัมมันตรังสีในการวิเคราะห์ตรวจสอบสิ่งที่ส่งมาตรวจจากผู้ป่วย ควบคุมการทำงานเครื่องนับวัดปริมาณรังสี วัดสิ่งส่งตรวจแล้วรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและพยากรณ์ความรุนแรงของโรค ร่วมจัดระบบการเก็บสารกัมมันตรังสี การกำบังรังสี การป้องกันการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระหว่างคน เครื่องมือ สิ่งแวดล้อม การกำจัดกากกัมมันตรังสีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างถูกวิธี ถูกต้องตามกฎหมาย

4. สาขากิจกรรมบำบัด
นักกิจกรรมบำบัดเป็นบุคลากรหนึ่งในทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันความพิการ บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพในผู้ที่มีความเสื่อมสมรรถภาพ หรือความพิการทางด้านร่างกาย จิตสังคม พัฒนาการ การรับรู้ และความรู้ความเข้าใจ ด้วยวิธีการทางกิจกรรมบำบัด ซึ่งได้แก่การใช้กิจกรรมที่ได้วิเคราะห์โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การใช้เครื่องพยุงส่วนของร่างกาย หรืออุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ รวมทั้งการใช้เทคนิคพิเศษในการบำบัดรักษาเฉพาะทาง เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยอิสระ นักกิจกรรมบำบัดจะให้การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ อายุรกรรม ศัลยกรรม ระบบประสาท กระดูกและข้อ จิตเวช และผู้สูงอายุ โดยมีความรับผิดชอบดังนี้ ช่วยตรวจสอบค้นหาข้อบกพร่อง การบำบัดรักษาในเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ ช่วยกระตุ้น ฟื้นฟูและส่งเสริมความสามารถในผู้ที่มีปัญหาด้านการรับรู้ การเรียนรู้ สอน ฝึกหัดกิจวัตรประจำวัน เช่น การเคลื่อนย้ายตัว สุขอนามัยส่วนบุคคล การรับประทานอาหาร เป็นต้น ให้การรักษาพิเศษเพื่อเพิ่มพูนความสามารถทางกาย ได้แก่ เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ เพิ่มความทนทานในงาน ฯลฯ รวมถึงการดัดแปลงอุปกรณ์ช่วย อุปกรณ์เสริมและเทียมให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย รวมทั้งฝึกหัดการใช้และการดูแลรักษา ดัดแปลงสภาพบ้านและขจัดสิ่งกีดขวางทางสถาปัตยกรรม ให้การรักษาพิเศษแก่ผู้ที่มีปัญหาด้านจิตสังคม อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยโรค ช่วยลดหรือขจัดแรงขับทางอารมณ์ แก้ไขและปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แนะนำวิธีจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล ประเมินสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ การปรับตัวให้เข้ากับสังคม ความสนใจงาน นิสัยในการทำงาน ปรับปรุงทักษะและศักยภาพในการประกอบอาชีพ แนะนำโปรแกรมการใช้ชีวิต การปรับตัวภายหลังการเกษียณให้ผู้สูงอายุ

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ควรมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์และชีววิทยา รักในเพื่อนมนุษย์ มีความเมตตากรุณา มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตวิทยา มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรับผิดชอบสูง มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีความพิการและโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ

แนวทางในการประกอบอาชีพ
อาจแบ่งได้เป็น 4 สายงานหลัก คือ

1. สาขาเทคนิคการแพทย์ 
เมื่อสำเร็จการศีกษาแล้ว นักเทคนิคการแพทย์มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แผนปัจจุบัน 1 สามารถปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการชันสูตรของโรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์ทั้งของรัฐและเอกชน ในตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ตามสถาบันนั้น ๆ ได้กำหนดตำแหน่งเอาไว้ เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุน การวินิจฉัยโรคและพิสูจน์หลักฐานทางนิติเวชศาสตร์ด้วยการตรวจชันสูตร หรือปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในฐานะนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานในบริษัทหรือดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายหรือซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการชันสูตร ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือศึกษาต่อไปในชั้นสูง เพื่อหาความชำนาญเฉพาะทางจนถึงระดับปริญญาเอกได้ เช่น ศึกษาในสาขาเทคนิคการแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก จุลชีววิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา ชีวเคมี เภสัชวิทยา นิติเวชศาสตร์ อณุพันธุศาสตร์ เป็นต้น

2. สาขากายภาพบำบัด
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถสมัครสอบเพื่อขออนุมัติใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แผนปัจจุบัน ชั้น 1 สาขากายภาพบำบัด ซึ่งมีแนวทางในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นนักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลของรัฐ ส่วนราชการของกระทรวงต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ (กรมชลประทาน) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย โรงเรียนการศึกษาพิเศษ เป็นต้น รวมถึงการทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดในภาคเอกชน เช่น โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิต่าง ๆ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน หรือศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกายภาพบำบัด (Post graduate Diploma in Physiotherapy) ปริญญาโท (กายภาพบำบัด วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และการออกกำลังกาย วิทยาศาสตร์การกีฬา กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ฯลฯ) รวมทั้งระดับปริญญาเอกทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น

3. สาขารังสีเทคนิค
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่นักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ ในงานรังสีวิทยาของโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน งานในสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในฐานะนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ งานสอนนักศึกษา หรือบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้รังสี สามารถศึกษาต่อในระดับหลังปริญญาได้หลายสาขา ทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น สาขาฟิสิกส์ การแพทย์ วิทยาศาสตร์รังสี นิวเคลียร์เทคโนโลยี เป็นต้น

4. สาขากิจกรรมบำบัด
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพเป็นนักกิจกรรมบำบัด / นักอาชีวบำบัดในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ โรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิต นิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม มูลนิธิ สถานสงเคราะห์คนชรา กระทรวงมหาดไทย นักกิจกรรมบำบัดของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือปฏิบัติงานในฐานะครูกิจกรรมบำบัดในโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ หรือทำหน้าที่เป็นอาจารย์สาขาวิชากิจกรรมบำบัด สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือศึกษาต่อไปในชั้นสูง เพื่อหาความชำนาญเฉพาะทางจนถึงระดับปริญญาเอก ทั้งในต่างประเทศในสาขานี้และสาขาที่เกี่ยวข้อง (กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ประสาทวิทยา Rechabilitation administration, Rehabilitation counselling, Accessary technology)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น