วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะเภสัชศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะเภสัชศาสตร์
เภสัชศาสตร์
คือศิลปะและวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรุงผสม ผลิตและจ่ายยา การเลือกสรรจัดหายาสำเร็จรูป เวชภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริการและให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสม ตรวจสอบทบทวนการใช้ยา พร้อมทั้งติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย โดยภาพรวมคือ ระบบความรู้ที่ก่อให้เกิดความสามารถที่จะให้บริการด้านสุขภาพด้วยความเข้าใจในเรื่องของยาและผลที่เกิดจากยา เพื่อให้การบำบัดรักษาได้ผลดีที่สุด โดยรับผิดชอบร่วมกับบุคลากรสุขภาพอื่น ๆ ในอันที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการค้นคว้าประดิษฐ์ ผลิตยาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและสะดวกต่อการนำมาใช้บำบัดรักษาโรคในผู้ป่วย ตลอดจนควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานตามกำหนด

ปัจจุบันหลักสูตรเภสัชศาสตร์ แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 หลักสูตร คือ
1. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร 5 ปี)
เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และให้โอกาสแก่ผู้เรียนที่จะเลือกเน้นเพื่อเพิ่มทักษะประสบการณ์ และความชำนาญในการปฏิบัติงานให้มากขึ้นในทางใดทางหนึ่ง โดยในชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 หรือ 4 (ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน) นักศึกษาจะได้เรียนรายวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ พื้นฐานวิชาชีพและวิชาชีพ ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพเภสัชกรรมได้ทุกสาขา นอกจากนั้นในชั้นปีที่ 4 หรือ 5 นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสาขาย่อยที่ตนเองสนใจได้อีก 4 สาขา เช่น
---   เภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมโรงพยาบาล (การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในผู้ป่วย)
---   เทคโนโลยีเภสัชกรรม (เทคนิคการผลิตยาเตรียมรูปแบบต่าง ๆ )
---   เภสัชศาสตร์สังคม (การตลาดยาและการบริหารจัดการด้านเภสัชกรรม)
---   วิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์ (การค้นหายาใหม่ การพัฒนายาด้วยการสังเคราะห์ การวิจัยเพื่อพัฒนายาจากสมุนไพร การควบคุมคุณภาพยาและเภสัชภัณฑ์) และเภสัชเทคโนโลยีชีวภาพ

2. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (หลักสูตร 6 ปี)
เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ในการให้การบำบัดรักษาด้วยยาและแก้ไขปัญหาด้านยาและสุขภาพของผู้ป่วย เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้ทางเภสัชกรรมบำบัดและเภสัชกรรมคลินิกมาประยุกต์ในกระบวนการใช้ยาและให้บริการในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วย โดยมุ่งเน้นถึงการพัฒนาความรู้ ความชำนาญและฝึกฝนทักษะที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การบำบัดรักษาด้วยยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาโรคด้วยยา โดยสามารถเลือกใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย มีทักษะในการติดตามผลการใช้ยา ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อำนวยประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติโดยรวม

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ต้องจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ต้องไม่เป็นโรค อาการของโรค หรือความพิการที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการปฏิบัติหน้าที่เภสัชกร มีสุขภาพอนามัยทางจิตดี มีความสนใจในวิชาชีพ มีมนุษยสัมพันธ์และบุคลิกภาพดี

แนวทางในการประกอบอาชีพ
เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิตและสามารถประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเภสัชกรรมชั้นหนึ่ง ในการประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรม โดยมีแนวทางในการประกอบอาชีพ เช่น
* ด้านการผลิตยา
รับผิดชอบตั้งแต่การผลิต การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของยา เพื่อการจำหน่ายยาให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ร้านขายยา และประชาชนทั่วไป โดยทำหน้าที่เป็น
1. เภสัชกรโรงงานผลิตยา อาหาร เครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์อื่น ๆ รับผิดชอบการผลิต การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของยาสำเร็จรูป อาหาร เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์อื่น ๆ
2. เภสัชกรฝ่ายผลิตยาประจำโรงพยาบาล และสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
3. เภสัชกรในหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งรับผิดชอบในด้านการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของยา อาหารและเครื่องสำอาง รวมทั้งงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. เภสัชกรในหน่วยงานราชการอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่าง ๆ ศุลกากร สถาบันนิติเวช สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค โรงงานเภสัชกรรมทหารและอื่น ๆ

* ด้านการใช้ยาในผู้ป่วย ทำหน้าที่เป็น
1. เภสัชกรโรงพยาบาล ทำหน้าที่ในการจัดหาเวชภัณฑ์สำหรับโรงพยาบาล สถานพยาบาล ดูแลและรับผิดชอบในการผลิตตำรับยาต่าง ๆ ในโรงพยาบาล และการจ่ายยาให้คนไข้ ให้คำปรึกษาเรื่องยาแก่บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป
2. เภสัชกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องเวชภัณฑ์ อาหารและเครื่องสำอาง
3. เภสัชกรในหน่วยงานต่าง ๆ ในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
4. เภสัชกรในบริษัทยาต่าง ๆ รับผิดชอบการจัดจำหน่ายยา เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์อื่น ๆ
5. ประกอบธุรกิจ สถานที่จำหน่ายยาและเวชภัณฑ์อื่น ๆ (ร้านยา) พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องยาแก่ประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น