วิทยาศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สะสมมาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันและต่อไปถึงอนาคตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เริ่มตั้งแต่ธรรมชาติรอบ ๆ ตัว จากองค์ประกอบที่เล็กที่สุด ไปจนถึงใหญ่ที่สุดในเอกภพ ในแง่ที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติมีความเป็นมาอย่างไร สัมพันธ์กันหรือไม่อย่างไร ลำดับการพัฒนาเป็นอย่างไร มีระเบียบแบบแผนและหลักเกณฑ์หรือไม่อย่างไร
การเรียนวิทยาศาสตร์อาศัยรากฐานของการสังเกต การตั้งสมมติฐาน โดยใช้หลักปรัชญาและตรรกวิทยา พยายามสังเกตและวัดปริมาณเป็นตัวเลขออกมาเพื่อความแม่นยำ โดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์ ดังนั้น ส่วนสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การเรียนเกี่ยวกับเทคนิคในการสังเกต การทดลอง ผนวกกับการประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์
การศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่ในชั้นปีที่ 1 นิสิต-นักศึกษาจะเรียนรวมกันก่อน หลังจากนั้นจึงจะแยกย้ายกันไปเรียนในสาขาที่ตนเองถนัดหรือสนใจ ซึ่งมีสาขาที่เปิดสอนดังนี้
1. สาขาคณิตศาสตร์
ศึกษาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ โดยเน้นทั้งในด้านทฤษฎีและการนำไปใช้ เน้นหนักการศึกษาเพื่อให้รู้คุณค่าของคณิตศาสตร์ในการคิด มีเหตุผลทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ สามารถนำไปประยุกต์ในการดำเนินงานวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้มาก โดย
*** คณิตศาสตร์บริสุทธิ์
เป็นการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานในเชิงทฤษฎี เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก และเพื่อทำวิจัยคณิตศาสตร์ขั้นสูง
*** คณิตศาสตร์ประยุกต์
เป็นการศึกษาทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ เพื่อนำไปใช้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ และสาขาอื่น ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
2. สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
ศึกษาเกี่ยวกับหลักการเขียนโปรแกรมและการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ การวิเคราะห์และออกแบบระบบการจัดการฐานข้อมูล ระบบควบคุมการดำเนินงานสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูลและข่ายงานคอมพิวเตอร์
3. สาขาเคมี
ศึกษาเน้นหนักด้านความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีของสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับอะตอมถึงระดับโมเลกุล เพื่อให้ผู้เรียนเคมีสามารถศึกษาขั้นสูงต่อไป และนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับเคมีในทางอุตสาหกรรมทั้งหลายได้
4. สาขาฟิสิกส์
เป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญยิ่งวิชาหนึ่ง ที่หยั่งลึกลงไปในธรรมชาติของสสาร และพลังงาน เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์พื้นฐานของความเป็นไปในธรรมชาติ โดยศึกษาจากโครงสร้างของสิ่งที่เล็กที่สุด ไปจนถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของจักรวาล รวมทั้งการนำไปใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์สาขาต่าง ๆ ซึ่งในการศึกษานักศึกษาสามารถเลือกกระบวนวิชาต่าง ๆ ในสายวิชาที่สนใจ ได้แก่ ฟิสิกส์ของของแข็ง ฟิสิกส์นิวเคลียร์ สารตัวนำยิ่งยวด สเปกโตรสโกปี เลเซอร์และทัศนศาสตร์ ผลึกศาสตร์ ดาราศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีลำไอออน เป็นต้น
5. สาขาชีววิทยา
เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งรูปร่างกระบวนการทำงานในสิ่งมีชีวิต การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมและชีววิทยาระดับโมเลกุล เทคโนโลยีการตัดต่อยีนและแยกชนิดของเอนไซม์ การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อพืช สัตว์ จุลินทรีย์ในสภาพปลอดเชื้อ
6. สาขาสัตววิทยา
ศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับสัตววิทยาทั่วไป อนุกรมวิธานสัตว์ วิวัฒนาการของสัตว์ สัตว์ภูมิศาสตร์ กายวิภาคเปรียบเทียบสัตว์คอร์เดท สัตว์มีและไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม วิชาเฉพาะเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ สรีรวิทยาสัตว์ จุลกายวิภาคศาสตร์ การพัฒนาตัวอ่อน ฮอร์โมน พยาธิของสัตว์ วิธีการเก็บรักษาตัวอย่างสัตว์ ด้วยการทำสไลด์ถาวร การดองใสสัตว์และสตัฟฟ์สัตว์
7. สาขาพฤกษศาสตร์
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะการเจริญเติบโต การดำรงชีวิต การสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์ ความสัมพันธ์ของพืชกับสิ่งแวดล้อม วิวัฒนาการของพืช การจัดจำแนกหมวดหมู่พันธุ์ไม้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เภสัชกรรม
8. สาขาพันธุศาสตร์
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ ความแตกต่างของลักษณะที่มีสาเหตุเนื่องมาจากสารพันธุกรรมทั้งในคน สัตว์ และพืช ตลอดจนศึกษาเชิงพฤติกรรมของสารพันธุกรรมระดับโมเลกุล และโครงสร้างของสารเหล่านั้น ความรู้ในสาขาวิชานี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแนะนำ ป้องกันและรักษาโรคที่เนื่องมาจากพันธุกรรมของคนและสัตว์ อีกทั้งนำไปปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิต ตลอดจนใช้ปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบ สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรและการเภสัช
9. สาขาเคมีวิศวกรรม
จะศึกษาเน้นหนักใน 2 สาย คือ
*** สายเคมีวิศวกรรม
ซึ่งเน้นหนักเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตเคมีภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้กระบวนการเคมี ตลอดจนการออกแบบและการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปฏิกรณ์เคมี หอกลั่นลำดับส่วน เครื่องต้มระเหย เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน
*** สายเทคโนโลยีทางเชื้อเพลิง
จะศึกษาเน้นหนักไปทางด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงแข็งและพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ การประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน
10. สาขาธรณีวิทยา
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับทรัพยากรธรณี เช่น แร่ หิน เชื้อเพลิงธรรมชาติ น้ำ ตลอดจนวัสดุก่อสร้างทั้งการสำรวจและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และศึกษาเกี่ยวกับโลกทั้งทางเคมีและกายภาพ เช่น แผ่นดินไหว ธรณีเคมี
11. สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
เน้นการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขาวิชา เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ
12. สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ของท้องทะเลและมหาสมุทร ตลอดจนการนำทรัพยากรจากท้องทะเลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 สายวิชา คือ สมุทรศาสตร์สกายะและเคมีและสายชีววิทยาทางทะเลและประมง
13. สาขาชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยี
ศึกษาสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดตั้งแต่จุลินทรีย์ สัตว์และมนุษย์ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงสารต่าง ๆ เหล่านั้น ตลอดจนกลไกต่าง ๆ ที่ควบคุมให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้เป็นปกติ รวมทั้งการใช้ความรู้ด้านพันธุวิศวกรรมในการปรับปรุงสิ่งมีชีวิต ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตนี้เอง ได้นำไปสู่การประยุกต์วิชานี้ในทุกด้านที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม
14. สาขาวัสดุศาสตร์
จะศึกษาเน้นหนักใน 2 ทาง คือ
*** ทางเซรามิกส์
ซึ่งเน้นกระบวนการผลิตวัสดุภัณฑ์ ตลอดจนการใช้งานของผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมด้านวัสดุ คาบเกี่ยวอีกทางหนึ่ง คือ
*** ทางพอลิเมอร์
ซึ่งเน้นกระบวนการในอุตสาหกรรมด้านพอลิเมอร์ เส้นใย สิ่งทอ พลาสติก สี วัสดุเคลือบผิวต่าง ๆ
15. สาขาจุลชีววิทยา
ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ได้แก่ รา แบคทีเรีย ไวรัส โดยนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม การเกษตร การอาหาร การแพทย์ การสาธารณสุข และปรับปรุงมลภาวะและสภาพแวดล้อม
16. สาขาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์
จะศึกษาเน้นหนักทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการถ่ายภาพและเทคโนโลยีการพิมพ์
17. สาขาเทคโนโลยีทางอาหาร
มี 2 สายได้แก่
*** สายเทคโนโลยีทางอาหาร
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปและการถนอมอาหาร โดยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง
*** สายเทคโนโลยีทางชีวภาพ
จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับการผลิตสารชีวเคมี ซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิต และการนำเอาชีวเคมีไปประกอบในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตเอนไซม์ และการผลิตสารปฏิชีวนะ
18. สาขาสถิติ
ศึกษาเกี่ยวกับสถิติทั้งทฤษฎีและประยุกต์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการทดลอง การสุ่มตัวอย่าง สถิติควบคุมคุณภาพ การวิจัยดำเนินการ สถิติประกันภัย สถิติธุรกิจ การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันสถิติได้มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยตัดสินใจ แก้ปัญหา และวางแผน ตลอดจนการนำทางและควบคุมกิจกรรมในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม การแพทย์ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ข้อมูลสถิติและการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติจะช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและรัดกุม วิชาการทางสถิติสามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
*** สถิติคณิตศาสตร์
จะเป็นกลุ่มวิชาที่ว่าด้วยทฤษฎีทางสถิติต่าง ๆ เช่น การเลือกตัวอย่าง การวางแผน การทดลอง การวิเคราะห์และการพยากรณ์ ทฤษฎีการตัดสินใจ
*** สถิติประยุกต์
เป็นกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการนำเอาสถิติไปใช้ในงานด้านต่าง ๆ เช่น ประกันภัย ประชากรศาสตร์ การควบคุมคุณภาพ การวิจัยดำเนินงาน การวิจัยเชิงสำรวจ เป็นต้น
19. สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ศึกษาในด้านสุขภาพอนามัยและการสาธารณสุข ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยชุมชน การวางแผนงาน การดำเนินงาน การตรวจสอบและการประเมินผลงาน ตลอดจนสามารถเป็นผู้นำและผู้ประสานงานด้านสุขภาพอนามัยและการสาธารณสุข อีกทั้งสามารถพัฒนาตนเองด้านวิชาการในระดับสูงต่อไป การศึกษาจะเน้นหนักเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์โลก กระบวนการเกิดโรค การระบาดของโรค และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ชุมชน และอุตสาหกรรม รวมถึงกระบวนการเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมป้องกันรักษา และส่งเสริมสุขภาพอนามัย
20. สาขาเทคโนโลยีชนบท
ศึกษาในด้านเทคโนโลยีชนบท เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนา ดัดแปลง เสริมสร้างเครือข่ายและขบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม
21. สาขารังสีประยุกต์และไอโซโทป
ศึกษาพื้นฐานทางนิวเคลียร์ รังสี สุขภาพและการป้องกัน เทคนิคการวัดรังสี ชีววิทยารังสี รังสีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทคนิคการถ่ายภาพด้วยรังสี รังสีและการกลายพันธุ์ การวิเคราะห์โดยวิธีทางนิวเคลียร์ การใช้รังสีและไอโซโทปในการเกษตร เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น
22. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
เน้นการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ใช้งานโดยการสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับระบบงานขนาดใหญ่บนพื้นฐานระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเน้นกระบวนการวิเคราะห์ ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมเชิงวัตถุ การจัดการฐานข้อมูลและการพัฒนางานประยุกต์บนระบบเครือข่าย
23. สาขาอัญมณีวิทยา
ศึกษาเกี่ยวกับแร่รัตนชาติและอัญมณีอื่น ๆ ตั้งแต่เกิด การจำแนกประเภท การทำเทียมเลียนแบบ การเพิ่มคุณค่า การตรวจสอบวิเคราะห์ การจัดคุณภาพ การประเมินราคา ไปจนถึงการตลาดและการขายด้วย
24. สาขาวิทยาการสิ่งทอ
ศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาพื้นฐานของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ความรู้ในเรื่องขั้นตอนการผลิต กระบวนการแต่ละขั้นตอน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการ และการควบคุมการผลิตให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
25. สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
ศึกษาด้านการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Envirommental Impact Analysis Assessment) และทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม
26. สาขาคหกรรมศาสตร์
ศึกษาเกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกาย พัฒนาการครอบครัวและเด็ก บ้านและศิลปสัมพันธ์ อาหารและโภชนาการ
คุณสมบัติของผู้ศึกษา
ต้องจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ มีความสนใจด้านการค้นคว้า ทดลอง และเป็นคนช่างสังเกต
แนวทางในการประกอบอาชีพ
สามารถประกอบอาชีพรับราชการ เช่น เป็นอาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัย หรือนักวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาและกระทรวงต่าง ๆ สามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานของรัฐและธุรกิจเอกชน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม โดยทำหน้าที่เป็นนักเคมี นักวิเคราะห์ระบบ นักวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ หรือสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว และสามารถศึกษาต่อได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น