วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะนิเทศศาสตร์ - คณะวารสารศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะนิเทศศาสตร์ - คณะวารสารศาสตร์
นิเทศศาสตร์ - วารสารศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยศิลปะของการสื่อสารทุกประเภท ทุกระดับ โดยทางใดก็ตามไปยังบุคคลหรือมวลชนด้วยการใช้เทคนิควิชาการที่มีอยู่ เพื่อช่วยให้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่ โดยแยกเป็นสาขาต่าง ๆ ให้เลือกศึกษาได้ดังนี้
1. สาขาวารสารสนเทศ
ศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีข่าวสาร เช่น การสื่อข่าว เขียนข่าว การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ รวมทั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การรายงานข่าวผ่านสื่อพิมพ์ สื่อคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการออกแบบ การนำเสนอผ่านสื่อพิมพ์อื่น ๆ เช่น นิตยสาร แผ่นปลิว โปสเตอร์ เป็นต้น
2. สาขาวิทยุและโทรทัศน์
ศึกษาทฤษฎีแนวคิด กระบวนการของการส่งข่าวสารหรือสื่อ ความหมายต่าง ๆ โดยทางสื่อกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประกาศ การแสดง การเขียนบท การผลิตรายการวิทยุ การบริหารงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังได้รับการฝึกฝนการผลิตรายการวิทยุจากห้องบันทึกเสียง ทั้งรายงานข่าว สารคดี ละคร ดนตรี
3. สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ และการสื่อความหมายของภาพนิ่งและภาพยนตร์ รวมทั้งอิทธิพลและบทบาทของสื่อทั้ง 2 ประเภท ที่มีต่อสังคม ผู้ศึกษาในสาขานี้จะสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์จากรูปแบบของจินตนาการที่มีอยู่ ผลิตภาพยนตร์ที่ทันสมัย และได้มีโอกาสร่วมมือผลิตผลงานภาพยนตร์แนวต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย นอกจากนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาพนิ่ง การใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพ และการขยายภาพในห้องแล็บด้วยตนเอง
4. สาขาโฆษณา
ศึกษาการทำงานด้านโฆษณาต่าง ๆ ตั้งแต่การสร้างสรรค์และการผลิตสื่อโฆษณา การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค การเขียนบท การวางแผน การรณรงค์เพื่อการโฆษณา ตลอดจนศึกษาถึงบทบาทของการโฆษณาในการตลาด
5. สาขาประชาสัมพันธ์
เน้นหนักเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจอันดี ป้องกันและแก้ไขความเข้าใจผิด ความขัดแย้ง ส่งเสริมและรักษาภาพลักษณ์ของสถาบัน การจัดการภาวะวิกฤต การหยั่งเสียงประชามติ ประชาพิจารณ์ ตลอดจนการสร้างสรรค์และโน้มน้าวทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน
6. สาขาวาทวิทยา/บริหารการสื่อสาร
ศึกษาพฤติกรรมการใช้ภาษาในการสื่อสารของมนุษย์ในทุกระดับและในบริบทต่าง ๆ อาทิ การสื่อสารระหว่างบุคคล การสื่อสารหน้าที่ประชุมชน การสื่อสารในองค์การ การสื่อสารทางธุรกิจ และการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคม
7. สาขาการสื่อสารการตลาด
เน้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และทักษะในการสื่อสารการตลาด โดยใช้การโฆษณาการประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการขาย การขายโดยพนักงาน การตลาดทางตรง การตลาดเชิงกิจกรรม (Event Marketing) มาผสมผสานกันโดยผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อเทคโนโลยี อาทิ อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ เพื่อถ่ายทอดแนวความคิดและข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าและบริการในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relation) การใช้ฐานข้อมูลและสารสนเทศทางการตลาดด้วยคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ เป็นต้น
8. สาขาสื่อสารมวลชน
ศึกษาด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนครอบคลุมในทุกด้านทั้งวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ โดยสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ผู้เรียนในสาขานี้ต้องผ่านการฝึกงานในหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชน หรือศึกษาปัญหาพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้สนใจเรียนทางด้านนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ ควรเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. มีความสามารถในการใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร มีความรู้ด้านภาษาไทย และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
2. มีความสนใจทางด้านศิลปะการสื่อความหมายประเภทต่าง ๆ
3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
4. รักการอ่าน การเขียน มีความรู้กว้างขวาง สนใจศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทันต่อเหตุการณ์
5. มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ซื่อตรง และตรงต่อเวลาอยู่เสมอ
6. เป็นคนกล้าแสดงออก ช่างสังเกต มีบุคลิกภาพที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี อดทนและมีระเบียบวินัย
7. มีความเสียสละ เพราะการทำงานด้านสื่อสารมวลชนนั้นอาจมีเวลาในการทำงานที่ไม่แน่นอน

แนวทางในการประกอบอาชีพ
ผู้จบการศึกษาจากคณะนี้สามารถทำงานในสาขาวิชาชีพโดยตรงและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ นิตยสาร รัฐวิสาหกิจ และหน่วยราชการต่าง ๆ ที่เน้นหนักในด้านการผลิตเอกสาร ผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ นักผลิตภาพยนตร์ นักประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจสมาคมต่าง ๆ เป็นผู้วางแผนการใช้สื่อและเป็นนักโฆษณาในส่วนของสายงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพที่จะต้องใช้การพูด การสื่อสารเป็นปัจจัยหลัก เช่น นักบริหาร นักวิชาการ ครู-อาจารย์ นักพูด นักธุรกิจ นักการเมือง และนักปกครอง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น