วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะนิติศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะนิติศาสตร์
นิติศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ศึกษากฎเกณฑ์ความประพฤติของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคมประเภทหนึ่งที่มีผลบังคับแน่นอน ซึ่งเรียกกันว่ากฎหมาย ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่มิได้เป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายจึงเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ บทบาทของบุคคลในทุกกิจกรรมและทุกระดับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ความสงบเรียบร้อยขึ้นในสังคมนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้การศึกษาจึงมีสาระ 3 ส่วนหลัก คือ
1. นิติศาสตร์จะศึกษาทฤษฎี แนวคิด หลักการเกี่ยวกับสาระของกฎหมาย
ในส่วนสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลต่อกันตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งในการติดต่อทางธุรกิจทุกประเภท ตลอดจนหลักแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับรัฐและหน่วยงานของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ในสังคมนานาชาติ
2. นิติศาสตร์ยังมุ่งศึกษาบทบาทของกฎหมายทั้งในฐานะที่เป็นกรอบกำหนด
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของรัฐมิให้ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนในฐานะที่กฎหมายเป็นเครื่องมือในการนำนโยบายมาปฏิบัติให้ได้ผลจริงจัง ดังนั้นโดยนัยนี้กฎหมายจึงเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง คือ อาจส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้ การศึกษานิติศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ปัญหานี้ด้วย
3. นิติศาสตร์ยังให้ความสำคัญต่อคุณค่าเชิงคุณธรรมของกฎหมายเป็นอย่างยิ่งด้วย
เพราะกฎหมายย่อมมีขึ้นเพื่อความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยในสังคม การศึกษานิติศาสตร์จึงเน้นที่กระบวนการของกฎหมายว่าต้อง "บริสุทธิ์" เพื่อความมุ่งหมายสุดท้าย คือ "ยุติธรรม" การศึกษาจึงมิได้เน้นเฉพาะตัวบทกฎหมายเพียงประการเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์กฎหมายในเชิงคุณธรรมด้วย

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาในคณะนี้ ควรเป็นผู้ที่มีนิสัยรักความเป็นธรรม ช่างคิด มีทักษะในการวิเคราะห์และมีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ มีความกล้าในการแสดงความคิดเห็น กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม มีความสามารถในการเขียนและใช้ภาษาไทยเป็นอย่างดี รักการอ่าน การค้นคว้า มีความรอบรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

แนวทางในการประกอบอาชีพ
อาจแบ่งแนวทางในการทำงานได้เป็น 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 คือ ผู้ซึ่งใช้วิชากฎหมายในการประกอบอาชีพโดยตรง ซึ่งผู้ที่มิได้สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ไม่สามารถประกอบอาชีพเหล่านี้ได้เลย ได้แก่ ผู้พิพากษา อัยการ ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ นิติกร ฯลฯ
ประเภทที่ 2 คือ ผู้ซึ่งใช้ความรู้ทางกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่การประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ปลัดอำเภอ นักธุรกิจ พนักงานบริษัท ห้างร้าน ข้าราชการ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ผู้ที่จบกฎหมายสามารถที่จะเลือกประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางกว่าสาขาอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น