วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์
แพทยศาสตร์
เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ เกี่ยวกับการตรวจโรค วินิจฉัยโรค การบำบัดโรค การป้องกันโรค การผดุงครรภ์ การปรับสายตาด้วยเลนส์สัมผัส การแทงเข็ม หรือการฝังเข็มเพื่อบำบัดโรค หรือเพื่อระงับความรู้สึก และหมายความรวมถึงการทำศัลยกรรม การใช้รังสี การฉีดยาหรือสาร การสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย การเสริมสวย หรือการบำรุงร่างกาย

แพทย์ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จะเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติงานทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มุ่งให้ประชาชนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีถ้วนหน้า สามารถวางแนวทางในการป้องกันและแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชน ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยและสังคม มีมนุษยสัมพันธ์ และทักษะในการสื่อสารตลอดจนมีคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อหน้าที่

การศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จะใช้ระยะเวลาในการศึกษาตามหลักสูตร 6 ปี โดย
ชั้นปีที่ 1 
ศึกษาความรู้ทั่วไปทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปะแห่งการเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า และความคิดพื้นฐานทางสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา
ชั้นปีที่ 2 และ 3
ศึกษาความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเรียนรู้โครงสร้าง หน้าที่ การปรับสภาพ การเปลี่ยนแปลงตามพยาธิสภาพ การเปลี่ยนแปลงตามวัย และพยาธิสรีระของโรคที่พบบอยในแต่ละระบบของร่างกาย แนวทางการรักษา
ชั้นปีที่ 4 และ 5
การศึกษาเวชศาสตร์คลินิก ฝึกหัดการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตั้งประเด็นปัญหา สร้างสมมติฐาน ฝึกปฏิบัติทางห้องปฏิบัติการ การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะ แนวทางการรักษา การป้องกัน ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของภาวะ และโรคที่พบบ่อย การอ้างอิงหลักฐาน และการฝึกปฏิบัติทางจริยเวชศาสตร์
ชั้นปีที่ 6
การฝึกเวชปฏิบัติคลินิก การวินิจฉัย การดูแลรักษา ฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพ โดยมีการฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ และมีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้หลังจากจบการศึกษาแล้ว รักและชอบที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนมนุษย์

แนวทางในการประกอบอาชีพ
การศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐนั้น รัฐต้องมีค่าใช้จ่ายโดยตรงต่อนิสิต-นักศึกษาแต่ละคนเป็นอัตราที่สูงมาก ดังนั้นจึงถือว่าผู้ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์ เป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่เริ่มเข้าเรียน และจะต้องทำสัญญาที่จะต้องปฏิบัติงานตามความต้องการของทางราชการเป็นเวลา 3 ปี (ยกเว้นผู้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน) หลังจากปฏิบัติงานตามความต้องการของทางราชการเพื่อชดใช้ทุนแล้ว แพทย์ที่สนใจสามารถกลับเข้าศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต หรือเข้ารับการฝึกอบรมในสาขาวิชาชีพหลักสูตร 3 ปี เพื่อวุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางของแพทยสภา

**********************************
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการเปิดสอน "สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์" ขึ้นมา
ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจจะเรียนรู้ด้านการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์นั้นบางสถาบันอาจจะเปิดสอนในคณะแพทยศาสตร์ เช่น
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หรือโครงการจัดตั้งคณะแพทย์แผนไทย สาขาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่)

แต่บางสถาบันอาจจะอยู่ในคณะอื่น ๆ เช่น
คณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
หรือสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น
***********************************

แพทย์แผนไทยประยุกต์
เป็นวิชาที่ศึกษาด้านการแพทย์แผนไทยในระดับปริญญาตรี ที่สอนและฝึกให้ผู้เรียนสามารถออกไปประกอบอาชีพด้านการแพทย์แผนไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านการตรวจ วินิจฉัยโรค และการใช้ยารักษาโรคตามหลักการของการแพทย์แผนไทย การปรุงยาแผนไทย การนวดไทย และการผดุงครรภ์แผนไทย

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย เป็นหลักสูตรที่เน้นทั้งวิชาบรรยาย วิชาปฏิบัติการ และการฝึกงาน ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จะออกไปประกอบอาชีพด้านการแพทย์แผนไทยได้เป็นอย่างดี โดยหลักสูตรมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยจัดให้มีการสอบประมวลความรอบรู้ก่อนสำเร็จการศึกษา และเป็นการเตรียมนักศึกษาเพื่อให้สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งประกอบด้วยใบประกอบโรคศิลป์สาขาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การนวดไทย และผดุงครรภ์แผนไทย

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้ที่มีพื้นฐานการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ รักและสนใจด้านการแพทย์แผนไทย

แนวทางในการประกอบอาชีพ
เมื่อสำเร็จการศึกษา สามารถเข้าทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในโรงพยาบาล และ/หรือสถานพยาบาลที่มีการให้บริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทย ในปัจจุบันสถานบริการสุขภาพของภาคเอกชน เช่น สถานบริการการนวดไทย สปา มีความต้องการบุคลากรทางด้านการแพทย์แผนไทยสูงมาก นอกจากนี้ เมื่อได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ยังสามารถประกอบอาชีพอิสระด้านการแพทย์แผนไทยได้อีกด้วย เช่น เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การนวดไทยและผดุงครรภ์แผนไทย

2 ความคิดเห็น:

  1. อาชีวเวชศาสตร์
    เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการแพทย์ ที่เน้นดูแลป้องกันสุขภาพคนทำงานเป็นหลัก
    เพราะสถานที่ทำงาน 1 ที่ สามารถสร้างโรคหรือก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้มหาศาล
    ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกับคนทำงาน จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
    การทำงานของแพทย์อาชีวศาสตร์จะดูแลครอบคลุมตั้งแต่ การป้องกันโรค การรักษาโรคและการฟื้นฟูสุขภาพของคนทำงาน
    คนที่สนใจทางด้านนี้ จะต้องเรียนหมอให้จบ 6 ปีก่อน แล้วจึงมาต่อเฉพาะทางทางด้านสาขาอาชีวเวชศาสตร์ อีก 3 ปี
    แม้จะใช้เวลาเรียนนาน แต่จบมาไม่ต้องกลัวเพราะตลาดเปิดกว้าง และต้องการแพทย์สาขานี้เป็นจำนวนมาก

    ตอบลบ
  2. สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ.วิทยาเขตบางขุนเทียน
    เมื่อการแพทย์เต็มไปด้วยเรื่องราวซับซ้อนของร่างกายมนุษย์ และศัพท์แปลก ๆ ที่มนุษย์ธรรมดายากจะเข้าใจ จึงต้องมีการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ความรู้หรืออธิบายเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายขึ้น สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ คระครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับการทำสื่อหรือมีเดียเฉพาะด้าน
    สอบผ่านโครงการ 2B-KMUTT
    คนเรียนวิทย์-คณิตแต่ว่าชอบวาดรูป และคิดว่าไปทางวิทย์ไม่ไหวแน่ ๆ แต่ว่าถ้าไปทางศิลปะจริง ๆ ก็คิดว่าไม่น่าจะไหวอีก เลยหาคณะกลาง ๆ เห็นอันนี้น่าสนใจ ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.5 ม.6 มีค่ายชื่อ 2B-KMUTT โครงการที่คัดสรรนักเรียนเข้ามาเป็นนักศึกษาทุกภาควิชาของบางมด เข้าค่ายประมาณ 1 เดือน อาจารย์จะแยกเป็นแล็บต่าง ๆ เขาจะมีโปรเจ็คต์ให้ เราต้องพรีเซนต์งานเพื่อที่จะให้อาจารย์ดู แล้วเขาจะเลือกสอบสัมภาษณ์ว่าเราอยากได้คณะไหน คนที่สอบมีเดีย พอประกาศผลก็ติดตั้งแต่ขึ้น ม.6 รู้แล้วว่ามีที่เรียนแล้ว ม.6 ก็ชิลเลย ชีวิตสบายเลย
    เรียนวิทยคู่ศิลป์
    ปี 1
    เป็นการเรียนพื้นฐานทุกอย่าง ดรออิ้งพื้นฐานถ่ายภาพ พื้นฐานกราฟิก สอนโปรแกรม Illustrator หรือ Photoshop
    ปี 2
    ก็จะยากขึ้น อย่างดรออิ้งก็จะเป็นดรออิ้งทางการแพทย์ ดรออิ้งกระดูก ได้ออกไปดรออิ้งที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ -คองดอน ศิริราช ดรออิ้งเด็กดองในขวดโหล และถ่ายภาพทางการแพทย์แบบ CSI เรียกว่าถ่ายภาพนิติเวช ถ่ายภาพเวชนิทัศน์ ได้ไปห้องศพถ่ายรูปเวลาชันสูตร ต้องถ่ายว่าเขาหั่นชิ้นนี้ ชิ้นที่เท่าไหร่หรือกรณีอยู่ที่เกิดเหตุเราต้องวางเลขยังไง แล้วกราฟิกก็ยากขึ้น ไม่ว่าจะทำสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และเรียนปั้นโมเดลทางการแพทย์ตั้งแต่พื้นฐานปั้นนูนสูง นูนต่ำ
    ปี 3
    ก็มีการเรียนโมเดลทางการแพทย์เหมือนเดิม เรียนการทำภาพยนตร์ที่แม้จะไม่เกี่ยวกับมีเดียแพทย์มากแต่เพื่อให้รู้วิธีทำ การวางพล็อตเรื่อง การนำเสนอเนื้อเรื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อการแพทย์ได้ นอกจากนี้ยังมีวิชาแอนิเมชั่น และ 3D ด้วย ที่ MTA สอนโปรแกรม Lightwave ของที่อื่นเป็น MAYA
    ในส่วนการแพทย์ได้เรียนตลอดตั้งแต่ปี 1 มาจนถึงปี 3 เทอม 1 เรียนเทอมละตัว วิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) สรีรวิทยา (Physiology)
    ฝึกงานหลากหลาย
    จริง ๆ แล้วนักศึกษาสามารถฝึกงานได้หลากหลาย เพราะว่าเราเรียนทุกอย่างคล้าย ๆ นิเทศศาสตร์ รุ่นพี่ไปฝึกงานทั้งที่โรงพยาบาล ไปถ่ายรูปทางการแพทย์ อยู่ฝ่ายโสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาล หรือบางคนก็ไปฝึกงานในโปรดักชั่นเฮ้าส์ต่าง ๆ โปรดักชั่นกราฟิก แอนิเมชัน มีไปออกกองถ่ายวีดีโอด้วย ไปได้หลายทางแล้วแต่ชอบ
    ส่วนโปรเจ็คต์ที่วางแผนว่าจะทำไม่ค่อยเกี่ยวกับมีเดียแพทย์เท่าไหร่ แต่จะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อยากทำแอปพลิเคชันดาราศาสตร์สำหรับเด็กประถมปลาย สอนให้ดูดาวและให้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์
    งาน 3 สบ
    งานสานสัมพันธ์ 3 สถาบันที่มีภาควิชาด้านเวชนิทัศน์ คือ บางมด ศิริราช และ ม.ขอนแก่น มาทำกิจกรรมด้วยกัน มีกินเลี้ยงนิด ๆ หน่อย ๆ มีแข่งกีฬา โชว์การแสดงของแต่ละมหาวิทยาลัย
    อย่างศิริราชกับขอนแก่นจะเน้นเป็นเวชนิทัศน์ รองรับการทำงานในโรงพยาบาล แต่ของบางมดจะหลากหลายกว่าคือเน้นด้านสื่อ ด้านดิจิทัลเยอะ
    ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจศัพท์หมอ
    ต้องคิด สร้างสรรค์ คุยสื่อสารกับหมอ สมมติว่าเราเรียนแอนิเมชัน วาดรูปมาสวยเนี๊ยบ พอไปคุยกับหมอ หมอก็จะบอกว่าไม่ได้ มันผิด เราก็ต้องแก้ยังไงให้ถูกด้วย สวยด้วย เพื่อที่จะเอาไปสื่อให้ถูกต้องและเข้าใจ
    ตลาดงานหลากหลาย
    เท่าที่เห็นรุ่นพี่จบการศึกษาไป ส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายโสตทัศนศึกษาในโรงพยาบาล ทำหน้าที่ผลิตสื่อทั่วไปเลย กราฟิก แผ่นพับ โปสเตอร์ ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอประชาสัมพันธ์ ก็เหมือนกับถ่ายงานข้างนอก คนที่ไม่ได้เรียนมาก็ทำได้แต่อาจจะไม่รู้เรื่องชีววิทยา เพราะว่าต้องคุยกับหมอแล้วเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ก็มีงานด้านกราฟิกในสตูดิโอหรือโปรดักชันเฮ้าส์ 3D

    ตอบลบ