วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะสาธารณสุขศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะสาธารณสุขศาสตร์
สาธารณสุขศาสตร์
เป็นศาสตร์ของการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและบริการด้านสาธารณสุข เน้นการป้องกันโรค การควบคุมโรคและส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมตามมา

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จึงเป็นคณะที่สร้างบุคลากรที่จะเข้ามาดูแล และแก้ปัญหาในเรื่องของสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นไปด้วยความปลอดภัย โดยมีสาขาให้เลือกศึกษา ดังนี้

1. สาขาวิทยาศาสตร์สุขาภิบาล
ศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนงานสาธารณสุข จัดระบบ วิเคราะห์และประเมินปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการงานสาธารณสุขด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม การบริการวิชาการด้านสาธารณสุขทั่วไปและวิทยาศาสตร์สุขาภิบาล
2. สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม เช่น แสง เสียง ความร้อน ฝุ่นละออง สารเคมี ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อเป็นการส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจในการประกอบอาชีพ และเพื่อเป็นการลดความสูญเสียและค่าใช้จ่ายเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน

สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจะศึกษาวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ พื้นฐานการสาธารณสุขทั่วไปและกลุ่มวิชาเอก ได้แก่ หลักสุขศาสตร์ อุตสาหกรรม การบริหารงานความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม พิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย กฎหมายเกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กายศาสตร์และจิตวิทยาในการทำงาน ความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม และการบริการสุขภาพในสถานประกอบการ
3. สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม
เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด การตรวจสภาพ การควบคุมดูแล และการจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะมูลฝอย การสุขาภิบาลอาหาร การจัดหาน้ำสะอาดหรือน้ำประปา ทั้งในชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม จะศึกษาวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ พื้นฐานการสาธารณสุขทั่วไป และกลุ่มวิชาเอก ได้แก่ มลพิษทางอากาศและทางเสียงและการควบคุม พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การศึกษาภิบาลอาหาร วิศวกรรมมูลฝอย การวิเคราะห์น้ำและน้ำเสีย การบำบัดน้ำเสียชุมชน การประปาชุมชนเมืองและชนบท และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินความเสี่ยง
4. สาขาการบริหารโรงพยาบาล
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการบริหารเกี่ยวกับโรงพยาบาลทุกประเภท ซึ่งการบริหารจัดการกิจการโรงพยาบาล เพื่อดูแลรักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูผู้เจ็บป่วย
5. สาขาสุขศึกษา
เป็นการศึกษาแนวคิด หลักและขอบเขตของงานสุขศึกษาในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชนทั่วไป กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน การสร้างแรงจูงใจ วิธีการให้สุขศึกษาทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม วิธีการจัดระเบียบชุมชน การฝึกปฏิบัติกิจกรรมสุขศึกษา

นอกจากนี้คณะสาธารณสุขศาสตร์ยังมีสาขาที่แยกย่อยออกมาอีกหลายสาขา ซึ่งบางสาขาอาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป หรืออาจจะอยู่ในคณะอื่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน เช่น สาขาโภชนวิทยา สาขาอาหารและโภชนาการ เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้สนใจจะเข้าศึกษาในคณะสาธารณสุขศาสตร์ ต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์

แนวทางการประกอบอาชีพ มีดังนี้
*** สาขาวิทยาศาสตร์สุขาภิบาล 
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1. ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสุขาภิบาล หรือนักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักวิชาการสาธารณสุข นักวิชาการควบคุมโรค นักวิชาการสุขศึกษา ในหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เทศบาล กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
2. ปฏิบัติงานในฐานะนักวิชาการสิ่งแวดล้อม หรือสุขาภิบาล ในบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ควบคุมดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย
3. ปฏิบัติงานในสถาบันหรือศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ
4. เป็นอาจารย์ วิทยาจารย์ ครูสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
5. ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวอื่น ๆ

*** สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1. ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เทศบาล กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
2. ปฏิบัติงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.)
3. ปฏิบัติงานในสถาบันหรือศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ
4. เป็นอาจารย์ วิทยาจารย์ ครูสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
5. ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวอื่น ๆ

*** สาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1. เป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือนักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในส่วนต่าง ๆ ในหน่วยงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร
2. เป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อม นักอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือนักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด
3. ปฏิบัติงานในสถาบันหรือศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพต่าง ๆ
4. เป็นนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาในด้านสิ่งแวดล้อมในบริษัทที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนักตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในบริษัทบริการทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนักสิ่งแวดล้อม หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการทำ ISO 14000 หรือต้องการผู้ควบคุมระบบบำบัด และกำจัดของเสีย เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โรงพยาบาล เป็นต้น
5. เป็นอาจารย์ วิทยาจารย์ ครูสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
6. ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวอื่น ๆ

*** สาขาการบริหารโรงพยาบาล
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1. ทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน โดยทำงานด้านการบริหารงานทั่วไป การบริหารทรัพยากรบุคคล การประชาสัมพันธ์ การตลาดในโรงพยาบาล ระบบข้อมูลข่าวสารสถิติและเวชระเบียน ฝ่ายอบรมพัฒนาบุคลากร ผู้ประสานงานด้านการควบคุมคุณภาพบริการ
2. สามารถรับราชการทางด้านสาธารณสุข เช่น กระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขจังหวัด กรุงเทพมหานคร เทศบาล เป็นต้น
3. สามารถทำงานในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องได้ เช่น สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันสุขภาพ เป็นต้น
4. เป็นอาจารย์ วิทยาจารย์ ครูสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
5. ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวอื่น ๆ

*** สาขาสุขศึกษา
เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนี้
1. ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักวิชาการสุขศึกษา ในหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เทศบาล กรุงเทพมหานคร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
2. ปฏิบัติงานในฐานะนักวิชาการสุขศึกษาให้กับหน่วยงานเอกชน หรือโรงงานอุตสาหกรรม
3. เป็นอาจารย์ วิทยาจารย์ ครูสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
4. ประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น