เศรษฐศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสังคมและบุคคลในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ และแจกจ่ายไปยังบุคคลในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ศึกษาจะมีความรู้และความเข้าใจถึงภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาและเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พอที่จะคาดคะเนเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและรู้แนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้
การศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์นั้นอาจแบ่งการเรียนออกได้เป็น 2 หลักสูตรใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
1. หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับหลักการ ทฤษฎี และความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ โดยเปิดสอนวิชาต่าง ๆ ในหมวดเศรษฐศาสตร์การเงินและการคลัง เศรษฐศาสตร์การพัฒนาและวางแผน เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์และอุตสาหกรรม เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ เศรษฐศาสตร์ทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ขนส่งและสาธารณูปโภค และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เป็นต้น (ทั้งนี้ในแต่ละสถาบันอาจใช้ชื่อสาขาที่แตกต่างกัน)
2. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
พอจะแบ่งออกเป็นสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้
2.1 สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร
ศึกษาเกี่ยวกับความรู้ทางวิชาการเศรษฐศาสตร์เกษตรในการจัดการฟาร์ม การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร สินเชื่อการเกษตร ธุรกิจการเกษตร นโยบายเกษตร การค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร สำหรับเป็นพื้นฐานในการเพิ่มพูนความรู้ในด้านการค้นคว้าและวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์เกษตร ตลอดจนการปรับใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กับการเกษตรและชนบทของประเทศไทย มีการฝึกงานภาคสนามเพื่อให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลและกระบวนการทำวิจัย
2.2 สาขาเศรษฐศาสตร์สหกรณ์
ศึกษาเกี่ยวกับวิชาการด้านสหกรณ์ เศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์การประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรสหกรณ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันตามวิถีสหกรณ์ รวมทั้งมีความพร้อมในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานและเป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
2.3 สาขาธุรกิจการเกษตร
ศึกษาเกี่ยวกับวิชาที่ครอบคลุมความรู้ ทั้งทางด้านการเกษตรทั้งสาขาพืชและสัตว์ และครอบคลุมถึงความรู้เกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ อาทิ การจัดการการผลิตและการแปรรูป การจัดการฟาร์ม การจัดการการตลาดทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร การจัดการองค์กรและบุคลากร การจัดการการเงินธุรกิจ การบัญชี นโยบายธุรกิจ การวิเคราะห์กรณีศึกษาของหน่วยธุรกิจการเกษตร ตลอดจนด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยกระทบต่อการดำเนินงานทางธุรกิจการเกษตร และมีการศึกษานอกสถานที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาและวิเคราะห์จากสภาพเป็นจริงของหน่วยงานของธุรกิจการเกษตร เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานด้วยความเข้าใจ และวิเคราะห์ปัญหาทางด้านธุรกิจการเกษตรได้อย่างกว้างขวาง มีความรู้และความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมในอาชีพ และสามารถดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้สนใจเข้าศึกษาในคณะนี้ ควรมีความคิดกว้างขวาง รักเรียน สนใจความเป็นไปของสังคม ไม่จำกัดเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น มีความสามารถในการลำดับความคิด และมีวิจารณญาณดี นอกจากนี้จะต้องมีพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร เพื่อประโยชน์ในการศึกษาตำรา และบทความเศรษฐศาสตร์ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ
แนวทางในการประกอบอาชีพ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะนี้อาจประกอบอาชีพในหน่วยงานราชการและเอกชน โดย
* ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาเศรษฐศาสตร์
สามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัว และสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้หลายสาขา ทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ
* ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร
สามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินต่าง ๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัว และสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้หลายสาขา ทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ
* ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาธุรกิจการเกษตร
สามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในภาคเอกชนนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจส่วนตัวทางธุรกิจการเกษตรเองแล้ว ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน หน่วยงานเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตร หน่วยธุรกิจฟาร์ม อุตสาหกรรมการเกษตร ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการเก็บรักษาและการขนส่ง ตลอดจนหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น