คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาจิตใจประชากรโดยส่วนรวม กล่าวคือ พยายามทำให้เข้าใจตนเอง ผู้อื่น สังคม และสภาพแวดล้อม รู้ซึ้งถึงคุณค่าของคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม มีจิตใจละเอียดอ่อน มีวิจารณญาณ มีสติปัญญาแตกฉานและรสนิยม รู้จักใช้ความรู้และสติปัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบันคนทั่วไปมักมองเห็นว่าวิชาอักษรศาสตร์ฯ มีความสำคัญด้อยกว่าวิชาการด้านอื่น ๆ แท้จริงแล้ววิชานี้มีความสำคัญมาก แต่มองเห็นได้ยาก เพราะมีคุณค่าและลักษณะเป็นนามธรรม วิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวความคิดและพฤติกรรมทางสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ความรู้ซึ้งในเรื่องเหล่านี้จะเป็นทั้งพื้นฐานและประสบการณ์ที่จะช่วยให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าได้ ซึ่งพอจะแบ่งสาขาการเรียนออกได้ดังนี้
สาขาประวัติศาสตร์
ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ของภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนวิธีการค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์
สาขาภูมิศาสตร์
ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทั้งทางด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตลอดจนเทคนิคในทางภูมิศาสตร์และการทำแผนที่
สาขาสารนิเทศศึกษา
ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎ๊และปฏิบัติทางบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์
สาขาศิลปการละคร
ศึกษาเกี่ยวกับการละครในด้านเวที ภาพยนตร์ โทรทัศน์และวิทยุ ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนประวัติและวรรณคดีของการละคร
สาขาปรัชญาและศาสนา
ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาและศาสนา ทั้งปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์ มีลักษณะเป็นวิชาการศึกษาศาสนาสำคัญต่าง ๆ ของโลก
สาขาจิตวิทยาคลินิก
ศึกษาเกี่ยวกับการตรวจทางจิต การบำบัดทางจิตทั้งคนอปกติและคนเบี่ยงเบนไปจากสังคม
สาขาจิตวิทยาชุมชน
ศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและตรวจสอบพฤติกรรมของคนที่เบี่ยงเบนไปจากสังคม โดยเน้นพฤติกรรมคนในชุมชน
สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ
ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการขั้นต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา
สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม
ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมในการทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ปัจจัยที่เอื้อต่อการทำงาน การคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร
สาขาภาษาไทย
ศึกษาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย ทฤษฎีภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์ หลักและศิลปะการใช้ทักษะภาษาไทยโดยเจาะลึกแต่ละทักษะและวิธีการสื่อสารด้วยภาษาไทยในกิจการและวงการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
สาขาภาษาอังกฤษ
ศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของภาษา วรรณคดี ภาษาศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ฝึกทักษะทางการฟัง พูด อ่านและเขียนถึงระดับสูงและสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ
สาขาวรรณคดีไทย
ศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีไทยสมัยต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งทั้งในด้านประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของวรรณคดี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สาขาวรรณคดีอังกฤษ
ศึกษาเกี่ยวกับวรรณคดีอังกฤษ และอเมริกันสมัยต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการของวรรณคดีฝึกฝนการวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่า
สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต
ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและรายละเอียดของภาษาบาลี และสันสกฤต เพื่อยกมาประกอบการศึกษาคำไทย ทั้งที่ใช้อยู่ในวรรณคดีและที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งศึกษาโครงสร้างคำบาลีและสันสกฤต เพื่อจะได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นใช้ในภาษาไทยได้ ศึกษาวรรณคดีและวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีภาษาสันสกฤต เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมและประเพณีไทยได้
นอกจากนี้ยังมีสาขาวิชาภาษาต่างประเทศให้เลือกศึกษาอีกมากมาย อาทิ สาขาภาษาญี่ปุ่น สาขาภาษาฝรั่งเศส สาขาภาษาเยอรมัน สาขาภาษาสเปน สาขาภาษาอิตาเลียน สาขาภาษาจีนกลาง ฯลฯ ซึ่งการเรียนสาขาภาษาต่างประเทศแต่ละสาขานั้นจะศึกษาเกี่ยวกับการใช้ภาษาในด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การแปล ตลอดจนศึกษาวรรณคดีและศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
ผู้ที่จะเข้าศึกษาในคณะนี้ควรมีคุณสมบัติในด้านอารมณ์ความคิด และแนวโน้มที่เหมาะสมกับลักษณะวิชา มีความรัก ความสนใจในภาษา ชอบการอ่าน การเขียนและการค้นคว้า การศึกษาในคณะนี้มุ่งที่จะพัฒนาความคิดและปัญญามากกว่าจะเป็นวิชาที่จะเตรียมตัวไปสำหรับการประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยตรง
แนวทางในการประกอบอาชีพ
บัณฑิตส่วนใหญ่จะมีความรู้ภาษาต่างประเทศในระดับที่ใช้งานได้ดี ซึ่งมีเป็นจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศถึง 2 ภาษา ทำให้สามารถทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาต่างประเทศในวงราชการ วงการธุรกิจ วงการบันเทิง และงานด้านเอกสารต่าง ๆ ได้ดี เช่น เป็นอาจารย์และนักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิจัย เลขานุการ เจ้าหน้าที่สารนิเทศ พนักงานต้อนรับในบริษัทการบิน มัคคุเทศก์ ล่าม นักแปล พนักงานธนาคารและสถาบันการเงิน นักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการ ผู้สื่อข่าว นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ นักแสดง บรรณารักษ์ และประกอบอาชีพส่วนตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น