วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การศึกษาในหลักสูตรคณะวนศาสตร์

การศึกษาในหลักสูตรคณะวนศาสตร์
วนศาสตร์
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ในด้านต่าง ๆ โดยมีสาขาให้เลือกศึกษาได้ดังนี้

1. การจัดการทรัพยากรป่าไม้
การเรียนในสาขาวิชานี้จะเรียนใน 3 แขนงวิชา ได้แก่
---   การจัดการลุ่มน้ำ   ---
ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางอุทกวิทยา การวางแผน การใช้ที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การวิเคราะห์ลุ่มน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
---   การจัดการป่าไม้   ---
ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การคณิตป่าไม้ การสำรวจแจงนับ ทรัพยากรป่าไม้ ชีวมิติป่าไม้ การวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม การทำแผนที่การใช้ที่ดิน เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรป่าไม้ การตลาด ป่าไม้
---   อุทยานและนันทนาการ   ---
ศึกษาเกี่ยวกับหลักนันทนาการและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พฤติกรรมนันทนาการ การวิเคราะห์และออกแบบภูมิทัศน์ เทคนิคการสื่อความหมายสิ่งแวดล้อม การวางแผนอุทยานและพื้นที่นันทนาการ

2. วิศวกรรมป่าไม้
ศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์งานด้านวิศวกรรมและคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานป่าไม้ เช่น การสำรวจรังวัดทำแผนที่ การจัดทำข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ การทำระดับพื้นที่ การทำทางชักลากไม้ การสร้างบ้านพัก สะพาน ถนน บ่อน้ำ ในงานป่าไม้ ตลอดจนการนำไม้ออกจากป่าให้ถูกต้องตามหลักวิชาการป่าไม้

3. วนศาสตร์ชุมชน
ศึกษาเกี่ยวกับด้านป่าไม้และชุมชนชนบท อันได้แก่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน หลักวนเกษตร ชีววิทยาประยุกต์ในการปลูกพืช การส่งเสริมการป่าไม้ในการพัฒนาชนบท การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ขนาดย่อม

4. วิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้
การเรียนในสาขานี้ แบ่งการเรียนออกเป็น 3 แขนงวิชา ได้แก่
---   ชีววิทยาป่าไม้   ---
ศึกษาธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในป่า เมล็ดพันธุ์ไม้ป่า สรีรวิทยาของไม้ อนุกรมวิธานของพันธุ์ไม้ป่า นิเวศวิทยาของป่า การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แมลงศัตรูของพืช โรคพืช
---   วิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า   ---
ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของสัตว์ป่า นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์สัตว์ป่า นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า เทคนิคการจัดการสัตว์ป่า การเลี้ยงสัตว์ พืชอาหารสัตว์ เทคนิคการศึกษาสัตว์ป่า การจัดการทุ่งหญ้า การใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้า
---   วนวัฒนวิทยา   ---
ศึกษาเกี่ยวกับการปลูกบำรุงป่าไม้ พันธุศาสตร์ เมล็ดพันธุ์ไม้ป่า การป้องกันป่าไม้และไฟป่า ปฐพีวิทยาป่าไม้ อาหารพืชไม้ แมลงศัตรูป่าไม้ วนวัฒนวิทยาเขตเมือง

5. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางไม้
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสมบัติพื้นฐานของไม้และการใช้ประโยชน์ไม้ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านวิศวกรรม

6. เทคโนโลยีเยื่อและกระดาษ
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อและกระดาษ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษ การจัดการวัตถุดิบเส้นใย การจัดการโรงงาน และการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานเยื่อและกระดาษ

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ รักป่า รักธรรมชาติ

แนวทางในการประกอบอาชีพ
ผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะวนศาสตร์มีโอกาสเข้าทำงานที่กรมป่าไม้ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีเพียงคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพียงแห่งเดียวที่ผลิตบัณฑิตทางด้านนี้ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานในหน่วยงานอื่น ๆ ได้อีก เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ บริษัทไม้อัดไทย และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต้องการบุคลากรด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ตลอดจนเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจศึกษาต่อในระดับปริญญาโททางด้านวนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดังนี้
ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต : วท.ม. (วนศาสตร์) มี 5 สาขาวิชาเอก คือ
1. การจัดการป่าไม้
2. วนผลิตภัณฑ์
3. ชีววิทยาป่าไม้
4. การจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม
5. วนวัฒนวิทยา
ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มี 4 สาขาวิชาเอก
- วท.ม. (อุทยานและนันทนาการ)
- วท.ม. (การบริหารทรัพยากรป่าไม้) (ภาคพิเศษ)
- วท.ม. (วนศาสตรเขตร้อน) (หลักสูตรนานาชาติ)
- วท.ม. (วนศาสตร์ชุมชน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น