วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (8) ดัชนีบ่งชี้การทำงานของไต

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชืวิต ตอนที่ 8 นี้ เป็น ภาคต่อของการวิเคราะห์ดัชนีบ่งชี้การทำงานของไต ซึ่งตอนที่แล้วมีการบอกกล่าวกันไปเกี่ยวกับรายการ ตรวจวิเคราะห์บียูเอ็นและครีอะตินิน สำหรับในตอนนี้ เราจะมาคุยกันถึงแง่มุมเสริมสำหรับการตรวจในรายละเอียดบางรายการเพิ่มเติม และอย่างที่เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้วว่า เราจะมาขยายความถึงรายการตรวจวิเคราะห์ปริมาณกรดยูริคกันว่า ทำไมรายการนี้บางครั้งถึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับการวิเคราะห์การทำงานของไต แต่ในใบขอตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของบางแห่งอาจแยกรายการนี้เป็นรายการเดี่ยวออกมา

ตอนที่แล้วมีการพูดถึงค่าปกติ และความสัมพันธ์เชิงสัดส่วนระหว่างค่าของบียูเอ็นและครีอะตินีนในเลือดไปแล้ว ตอนนี้ขอเสริมข้อมูลที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ การประเมินสภาวะการทำงานของไต ซึ่งเรียกว่าการดูค่า Creatinine clearance คือ เป็นการวิเคราะห์ความสามารถ หรืออัตราเร็วฃองไตในการขับออกหรือการกำจัดสารครีอะตินีนออกมาในปัสสาวะ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ค่าครีอะตินีน โดยตรงจากการเก็บปัสสาวะในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หรือ หากไม่สามารถกระทำได้ อาจใช้วิธีการคำนวณจากสูตรที่ อาศัยค่าของอายุ นํ้าหนัก และระดับครีอะตินีนในเลือดก็ได้ ที่กล่าวถึงตัวนี้เพราะมีความสำคัญ ถึงแม้ว่ารายการนี้ไม่ได้ เป็นหัวข้อของการเจาะตรวจเลือดและการตรวจประเมิน สภาวะสุขภาพตามปกติ แต่รายการตรวจนี้เป็นการวิเคราะห์ เพื่อแสดงความสมบูรณ์ของไตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งท่าน ผู้อ่านอาจจำชื่อไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจวิเคราะห์ รวมทั้ง เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจกับแพทย์ที่ทำการตรวจรักษา ก็ได้ครับ

มารู้จักกันเกี่ยวกับกรดยูริคกันสักนิดครับ กรดยูริค เกิดจากสารพิวรีนที่เป็นองค์ประกอบของดีเอ็นเอในนิวเคลียสของเซลล์ทุกชนิด เช่น เซลล์ร่างกายของเราที่มีการเสื่อมสลายในแต่ละวัน และเซลล์ต่างๆ จากอาหาร ทั้งนี้ ระดับกรดยูริคในกระแสเลือดจะถูกควบคุมอย่างสมดุล โดยที่ประมาณการว่า 2 ใน 3 ของกรดยูริคในร่างกายจะถูกขับออกทางไต และส่วนที่เหลือจะขับออกทางนํ้าลาย น้ำดี นํ้าย่อย หรือถูก สลายในลำไส้ผ่านการช่วยเหลือของจุลินทรีย์บ้าง โดยค่าปกติของระดับกรดยูริคในเลือดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง จะอยู่ระหว่าง 3.4 - 7.0 และ 2.4 - 5.7 มิลลิกรัมต่อปริมาณเลือด 100 มิลลิลิตร ตามลำดับ (ในใบรายงานผลเลือด จะใช้สัญลักษณ์เป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร; mg/ dL)

หากท่านผู้อ่านไปรับบริการตรวจระดับกรดยูริคในเลือดจากโรงพยาบาล หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์แล้ว พบว่า ค่าที่ได้นั้นสูงเกินเกณฑ์ ซึ่งสาเหตุที่ระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้น อาจมาจาก

1) การรับประทาน อาหารที่มิพิวรีนสูงและในปริมาณที่มาก เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก หน่อไม้ กระถิน รวมถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (เบียรและไวน์) อีกด้วย

2) การที่ร่างกายมีความลามารถในการควบคุมสมดุลของกรดยูริคลดลงไป ทั้งจากกรรมพันธุ์เอง มีการติดเชื้อ หรือการเป็นมะเร็งบางชนิด รวมไปถึง

3) อาจมาจากภาวะการทำงานของไตที่ผิดปกติจากโรคต่าง ๆ และผลจากการใช้ยาบางประเกท ซึ่งผลพวงจากการมีระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นนั้น อาจนำไปสู่การเป็นโรคบางโรค เช่น โรคเก๊าต์ได้ เนื่องจากโรคเก๊าต์ เกิดจากภาวะที่กรดยูริคมีปริมาณสูงเกินจนนำไปสู่การ สะสมในข้อโดยเป็นผลึกรูปเข็ม ส่งผลทำให้เกิดอาการ อักเสบของข้อแบบเฉียบพลัน แต่อยากเรียนให้ทุกท่านทราบไว้ว่า ไม่จำเป็นว่าภาวะกรดยูริคในเลือดสูงจะต้องเป็นโรคเก๊าต์เสมอไปนะครับ (ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจเนื้อหาเกี่ยวกับโรคเก๊าต์สามารถติดตามบทความ ย้อนหลังในคอลัมน์ Body focus ฉบับเดือนสิงหาคม และกันยายน 2553 ได้นะครับ)

เอาล่ะครับ หลังจากที่พอรู้จักกันเกี่ยวกับกรดยูริคบ้างแล้ว คราวนี้กลับมาประเด็นที่ว่า ทำไม รายการตรวจนี้บางครั้งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับการวิเคราะห์สภาวะการทำงานของไตได้ เนื่องจาก หากมีปัญหาการทำงานของไตที่ผิดปกติ ส่งผลทำให้การขับออกกรดยูริคผิดปกติ จึงมีระดับคั่งค้างในเลือดได้ แต่การตรวจกรดยูริคนี้จะไม่นิยมตรวจเพื่อเป็นการบ่งชี้การทำงานของไตโดยตรง เนื่องจาก มีความผิดปกติ หรือปัจจัยอื่น ๆ หลายประการที่มีผลทำให้ระดับ กรดยูริคในเลือดสูง โดยไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับไต ก็ได้ ดังนั้น รายการตรวจที่ใช้กันจริงๆ ก็คือ การ ตรวจบียูเอ็น และครีอะตินีนจากในเลือด รวมทั้งการ วิเคราะห์ค่า Creatinine, clearance ที่กล่าวถึงข้างต้น รวมถึงยังสามารถวิเคราะห์ร่วมกับผลของระดับโปรตีน และอัลบูมินในเลือด การตรวจหาเม็ดเลือด และอัลบูมินในปัสสาวะอีกด้วย

จากที่เราทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ การทำงานของไตกันไปแล้ว ก็หวังว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านคงให้ความใส่ใจกับอวัยวะที่สำคัญมากคู่นี้กันให้ มากขึ้นนะครับ จะทานอาหารชนิดไหน จะเติมเครื่องปรุงอะไร จะดื่มเครื่องดื่ม หรือบริโภคอะไร ก็ควร คำนึงถึงว่า ไตของเราต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นหรือเปล่า อยากให้อวัยวะนี้อยู่รับใช้เราไปนานๆ เราก็ต้อง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็คประเมิน สภาวะสุขภาพกันอยู่เสมอ ก็จะเป็นแนวทางให้พวกเรา สามารถดูแลและวางแผนการสร้างเสริมสุขภาพของ พวกเราให้ดีไปได้ตลอดกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น