วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (7) ดัชนีบ่งชี้การทำงานของไต

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุรยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เลีอด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต ตอนที่ 7 นี้ เราจะมาคุย กันถึงรายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการเทคนิคการแพทย์ ในกลุ่มที่ 3 คือ การวิเคราะห์สภาวะการทำงานของ ไต (Renal profile) จากภาพจะเห็นว่า มีรายการตรวจหลักอยู่ 2 รายการ คือ บียูเอ็น (Blood Urea Nitrogen; BUN) ครีอะตินีน (Creatinine) และจะมีอีกรายการ คือ กรดยูริค (Uric acid) ซึ่งหลายท่านอาจจะสงลัยและพอรู้มาว่า การตรวจวิเคราะห์ปริมาณกรดยูริค เป็นการประเมินความเสี่ยงต่อการ เป็นโรคเก๊าต์มีใช่หรือ ทำไมรายการนี้ ถึงมาอยู่ในกลุ่มการทำงานของไตได้ ขออุบไว้ในตอนต่อๆ ไป สำหรับในตอนนี้ เราจะมาว่ากันถึง 2 ตวแรกกันก่อนนะครับ

การตรวจบียูเอ็น เป็นการตรวจวิเคราะห์ปริมาณของไนโตรเจนที่อยู่ในเลือดในรูปของยูเรีย โดยปกติยูเรียจัดเป็นของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายโปรตีนที่เรารับประทานเข้าไป โดยยูเรียจะถูกสร้างขึ้นที่ตับและถูกกำจัดออกจากเลือด โดยกรองผ่านทางไต จากหลักการนี้ จึงทำให้บียูเอ็นถูกนำมาใช้ในการประเมินศักยภาพการทำงานของไตในการกำจัดสารนี้ออกจากเลือด ซึ่งค่าปกติของระดับบียูเอ็นในเลือดจะอยู่ระหว่าง 7 - 20 มิลลิกรัมต่อปริมาณเลือด 100 มิลลิลิตร (เรียกว่า มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร; mg/dL) ดังนั้น หากไตมีสภาวะการทำงานที่บกพร่อง ก็จะส่งผลทำให้มีการสะสมบียูเอ็นในกระแสเลือดมากขึ้น ทว่า ค่าบียูเอ็นที่สูงเกิน 20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไม่ได้เป็นตัวที่ชี้วัดว่าเป็นโรคไตเสมอไป เนื่องจาก ยังมีปัจจัย อื่นอีกหลายประการที่ทำให้ค่าบียูเอ็นมีระดับสูงได้ อาทิ ภาวะช็อค ภาวะการขาดนํ้า (Dehydration) การมีสภาวะ เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร (Gl bleeding) การมีภาวะการสลายโปรตีนที่ผิดปกติหรือการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป ตลอดจนการได้รับยาบางชนิด ดังนั้น การจะบ่งชี้ว่า ไตมีปัญหาหรือมีการทำงานที่ผิดปกติ จะต้องมีการตรวจ ทดสอบและการคำนวณอื่นๆ เข้ามาใช้ประกอบด้วย ในทางตรงกันข้าม หากค่าบียูเอ็นตํ่ามากๆ มักไม่ค่อยพบเจอ แต่ก็อาจมีสาเหตุมาจากภาวะผิดปกติของตับ ภาวะทุพโภชนาการหรือการอดอาหาร ตลอดจนการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เป็นต้น

สำหรับครีอะตินิน เป็นสารที่เป็นผลพวงจากการเผาผลาญอาหารเพื่อใช้พลังงานในกล้ามเนื้อ และซึมผ่านออกมาในกระแสเลือดเพื่อไปกรองผ่านและกำจัดทิ้งที่ไตและออกมาในปัสสาวะ ดังนั้น จึงมีการนำครีอะตินินมาใช้เป็นดัชนีบ่งชี้การทำงานของไต เนื่องจาก ปริมาณการย่อยสลายของสารในกล้ามเนื้อ เพื่อเปลี่ยนเป็นครีอะตินีนในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ อีกทั้งครีอะตินินจะไม่มีการถูกดูดกลับที่ไตซึ่งแตกต่างจากบียูเอ็น จึงเป็นตัวบ่งชี้การทำงานของไตหรือความผิดปกติที่มีต่อไตได้เป็นอย่างดี ค่าปกติของครีอะตินีนในเลือดจะมีค่าระหว่าง 0.5 - 1.5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อนึ่ง ค่าครีอะตินีนที่สูงกว่าปกติจะพบได้ในโรคไต และอาจพบเจอได้บ้างในโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ในขณะที่ ค่าตํ่าก็อาจพบได้ในคนที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้สูงอายุที่มีมวลของกล้ามเนื้อลดลง เป็นต้น

นอกเหนือไปจากการอ่านค่าบียูเอ็น และครีอะตินีน ในกระแสเลือดจากใบรายงานผลแล้วนั้น เรายังสามารถนำค่าการตรวจวิเคราะห์มาหาความสัมพันธ์เชิงสัดส่วนที่เรียกว่า "BUN:Creatinine ratio" อีกด้วย ตัวอย่างเช่น หากค่าบียูเอ็นและครีอะตินีนที่ตรวจได้เท่ากับ 10 และ 1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตามลำดับ เมื่อนำมาหารกันจะได้ค่า เท่ากับ 10 หรือคิดเป็นลัดส่วน 10 ต่อ 1 ซึ่งค่าปกติจะอยู่ระหว่าง 10 - 15 ต่อ 1 นั่นหมายความว่า การดูดกลับบียูเอ็นที่ไตจะยังอยู่ในช่วงปกติ แต่หากค่าสูงกว่า 15 ต่อ 1 จะหมายความว่า มีการดูดกลับของบียูเอ็นมากกว่าปกติ ทำให้มีการคั่งของบียูเอ็นในกระแสเลือด หากมองอีกมุมหนึ่ง การสลายของกล้ามเนื้อ รวมทั้งการขับออก ครีอะตินีนทางปัสสาวะยังคงเท่าเดิม ซึ่งส่งผลให้ค่าครีอะตินีนในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง โดยเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วจะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของค่าบียูเอ็นกว่าค่าของครีอะตินินมาก โดยในกรณีนี้จะบ่งชี้ว่า ไม่มีภาวะผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณไต เนื่องจากไตยังสามารถกรองครีอะตินีนได้เป็นอย่างดี แสดงว่าเกิดปัญหาหรือความผิดปกติในตำแหน่งก่อนเข้าสู่ไต (Prerenal) หรือหลังออกจากไต (Postrenal) ดังแสดงในภาพ ในทางตรงกันข้ามหากค่า ตํ่ากว่า 10 ต่อ 1 จะบ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณไต (Intrarenal) ทำให้การกรองผ่านทั้งบียูเอ็น และครีอะตินีนเกิดขึ้นได้ไม่ดี ทำให้เกิดการคั่งของทั้ง บียูเอ็นและครีอะตินีนในกระแสเลือด ซึ่งถึงแม้ว่าในเลือด จะมีค่าบียูเอ็นที่สูง ทว่า จากการที่ครีอะตินีนมีค่าสูงขึ้นด้วย จึงทำให้สัดส่วนมีค่าใกล้เคียงปกติ หรือค่าตํ่าลงได้ ดังนั้น จึงต้องดูทั้งค่าในเลือด และการคำนวณประกอบกัน

ตอนหน้าเราจะกลับมาว่ากันต่อ เกี่ยวกับการแปลผล ในรายละเอียดและรายการตรวจวิเคราะห์ปริมาณกรดยูริค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น