วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (13) ดัชนีบ่งชี้การทำงานของหัวใจ

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับตอนนี้ เราจะมาว่ากันถึงรายการตรวจที่ใช้ในการบ่งชี้การทำงานของหัวใจ ที่เรียกว่า Cardiac profile กันนะครับ ซึ่งจากใบขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเห็นมีรายการหลักที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม คือ ครีเอตีนไคเนส (Creatine kinase; CK หรือบางครั้งอาจเรียกว่า ครีเอตีน ฟอลโฟไคเนส Creatine Phosphokinase; CPK) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบได้ในเนื้อเยื่อและเซลล์หลายชนิด เช่น เซลล์กล้ามเนื้อลาย เนื้อเยื่อสมอง และเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ โดยมีบทบาทที่สำคัญต่อการเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการแลกเปลี่ยนสารพลังงานภายในเซลล์ กล่าวคือ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเซลล์เหล่านี้ ก็จะทำให้มีการเอ่อท้นของเอนไซม์ CK เข้าสู่กระแสเลือดทำให้มีระดับที่ลูงขึ้น ทั้งนี้ค่าปกติของ เอนไซม์ CK ในกระแสเลือด สำหรับผู้ชายและผู้หญิง คือ 39 - 308 และ 26 - 192 ยูนิตของเอนไซม์ต่อปริมาณเลือด 1 ลิตร ตามลำดับ (ในใบรายงานผลจะเขียนหน่วยใน ลักษณะ U/L นะครับ) โดยระดับของเอนไซม์ CK ที่สูงขึ้น สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อได้ว่าเป็นชนิดของเอนไซม์ย่อย (ที่เรียกว่า ไอโซเอนไซม์; Isoenzyme) ที่มีแหล่งมาจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อชนิดใด ได้แก่ CK-MM (พบมากประมาณ 90 - 100% โดยพบในเซลล์กล้ามเนื้อโครงสร้างของร่างกาย และเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้บ้าง), CK-BB (พบประมาณไม่ เกิน 10% โดยมีแหล่งจากเซลล์สมอง เซลล์ปอด เซลล์ในช่องทางเดินอาหาร และช่องทางเดินปัสสาวะ) และ CK-MB (โดยปกติไม่ควรพบค่านี้ โดยแหล่งที่สำคัญมาจากกล้ามเนื้อหัวใจ) อนี่ง พวกเราคงจะพอสังเกตกันได้ ว่า ค่าของ CK-MM จะพบเป็นลัดส่วนมากที่สุดของค่าเอนไซม์ CK ในกระแสเลือด เนื่องจาก ในแต่ละวันจะมีการเสื่อมสลายของเซลล์กล้ามเนื้อในระดับปกติอยู่โดยตลอด ทว่า จะไม่พบค่าของ CK-MB ยกเว้นมีความผิดปกติเกิดขึ้น ดังนั้น การตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหัวใจ มักจะตรวจเลือดเพี่อวิเคราะห์หาระดับเอนไซม์ CK ร่วมกับระดับของเอนไซม์ย่อย CK-MB

จากที่กล่าวมา ซีเคเอ็มบี (CK-MB) จะพบมากในกล้ามเนื้อหัวใจ โดยจะมีค่าสูงขึ้นเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดความเสียหายขึ้น ค่าปกติของ CK-MB ในเลือด คือ 0 - 25 U/L ดังนั้น จึงถูกนำมาใช้ในการตรวจประเมินภาวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction; AMI) โดยอาศัย คุณสมบัติที่ว่า CK-MB จะมีระดับการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2 - 3 ชั่วโมงหลังเกิดอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งมักเป็นอาการเริ่มต้นของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยจะขึ้นถึงระดับสูงสุดประมาณ 24 ชั่วโมง และจะลดระดับกลับคืนสู่ค่าปกติภายในเวลาประมาณ 3 วันหลังปรากฏอาการ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่สามารถตรวจติดตามได้ในลักษณะนี้ จึงทำให้การตรวจวิเคราะห์ CK-MB จึงยังเป็นที่นิยมใช้มาโดยตลอด ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันจะมีการพัฒนารายการทดสอบอื่น ๆ มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยร่วมด้วยก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น