เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (9) ดัชนีบ่งชี้การทำงานของตับ
ตอนนี้ก็เป็นตอนที่ 9 กันแล้วนะครับ ซึ่งในช่วงต่อไปนี้ จะเป็นการแนะนำให้รู้จักกับรายการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติ การเทคนิคการแพทย์กันอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญ อย่างมากในการบ่งชี้การทำงานของตับ (Liver function test) จากภาพใบขอส่งตรวจจะเห็นว่า การตรวจเลือดในกลุ่มนี้ จะมีรายการอยู่หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งเราจะมาไล่เรียงกันต่อไปทีละตัวนะครับ
ตับ
นับเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของร่างกาย เนื่องจากตับช่วยในการกำจัดพิษของสารและยาต่าง ๆ ตับช่วยในการสร้างนํ้าดีเพี่อช่วยย่อยอาหารจำพวกไขมัน ตับเป็นแหล่งสะสมไกลโคเจนจากนํ้าตาลกลูโคส เพื่อใช้ในกระบวนการสะสมพลังงาน ตับช่วยในการสร้างโปรตีนหลายชนิด สร้างไขมันคอเลสเตอรอล รวมทั้งสร้างโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบางส่วนอีกด้วย ดังนั้น หากเราไม่ดูแลตับของเราให้ดี ตับก็คงจะไม่อยู่รับใช้เราไปได้นานๆ ซึ่งมีสาเหตุหลายประการที่ส่งผลต่อตับและการทำงานของตับ อาทิ การดื่มสุรา หรือการกินยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ การได้รับสารเคมีและสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดต่างๆ รวมไปถึงการเกิดมะเร็งตับอีกด้วย
เอาล่ะครับ คราวนี้ กลับมาทำความรู้จักกันเกี่ยวกับ รายการตรวจวิเคราะห์ที่ใช้เพี่อเป็นดัชนีบ่งชี้การทำงานของตับกันดีกว่า จะเห็นว่า มีรายการตรวจหลักที่ใช้อยู่ ประมาณ 8 รายการ ซึ่งหากแบ่งเป็นกลุ่ม น่าจะแบ่งได้ เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 Total protein และ Albumin
กลุ่มที่ 2 Total billirubin และ Direct billirubin และ
กลุ่มที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับเอนไซม์หลายตัว เช่น AST, ALT, Alkaline phosphatase และ Gamma GT
ในขณะที่ ในบางครั้งผู้เชี่ยวชาญอาจจำแนกรายการต่างๆ เหล่านี้ออก เป็น 2 กลุ่ม คือ
รายการตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติของตับหรือทางเดินนํ้าดี และ
การตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการ ทำหน้าที่ของตับก็ได้ครับ
สำหรับในกลุ่มที่ 1 การตรวจวิเคราะห์ปริมาณโปรตีน รวมจากในกระแสเลือด (Total protein ค่าปกติอยู่ระหว่าง 6 - 8 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) และโปรตีนที่ชื่อว่า อัลบูมีน (Albumin ค่าปกติอยู่ระหว่าง 3.5 - 4 กรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร) ซึ่งใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของตับ ทั้งนี้ เนื่องจาก อัลบูมิน เป็นโปรตีนสำคัญที่ถูกสร้างจากตับ และมีอายุอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 20 วัน นั่นหมายความว่า หากตับมีการสร้างอัลบูมินลดลง (โดยมีข้อแม้ว่า ผู้ที่รับการตรวจนั้นไม่ได้ขาดสารอาหาร) ก็จะบ่งชี้ได้ว่า ตับทำหน้าที่ได้ไม่ดี ซึ่งจะพบได้มากในรายที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ในขณะที่ ตับยังทำหน้าที่ในการสร้างโปรตีน อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า กลอบูลิน (Globulin) อีกด้วย ดังนั้น หากทำการวิเคราะห์ค่าปริมาณโปรตีนโดยรวมในกระแสเลือด และนำมาหักลบด้วยค่าอัลบูมิน ก็พอจะ ทราบถึงค่าของกลอบูลินได้
ผลพวงจากการที่ร่างกายมีค่าของอัลบูมินที่ตํ่าลง อาจส่งผลที่สำคัญต่อการเกิดภาวะการบวมนํ้าโดยเฉพาะที่หลังเท้า แต่อย่างไรก็ตาม ค่าของอัลบูมินที่ตํ่าลง มิได้ เกิดขึ้นเฉพาะในโรคตับเรื้อรัง แต่ยังสามารถพบได้ในภาวะความผิดปกติอื่นๆ ได้อีก เช่น การเป็นโรคไตอักเสบหรือ เกิดไตรั่วที่มีการกรองสารและการดูดกลับที่ผิดปกติ การขาดสารอาหาร การมีภาวะการดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ที่ผิดปกติ และยังสามารถพบในคนที่มีภาวะท้องมาน (Ascites) และผู้ที่บาดเจ็บจากไฟไหม้ (Burn) อีกด้วย ดังนั้น การจะบ่งชี้ถึงภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติไป จะต้องตรวจรายการอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเราจะมากล่าวถึงใน รายละเอียดในตอนต่อๆ ไปกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น