วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (16) ดัชนีบ่งชี้สมดุลของแร่ธาตุ

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้ง ตอนนี้ เรายังคงอยู่กัน ที่หัวข้อการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ในกลุ่มอิเลกโตรไลต์ซึ่งที่ผ่านมา เราเกริ่น ไปแล้วถึงไอออน 2 ชนิด คือ โซเดียม (Na+) และโพแทสเซียม (K+) ต่อไปที่จะทำความรู้จัก ก็คือ คลอไรด์ (Cl-) ซึ่งจัดเป็นไอออนประจุลบที่มีความสำคัญอย่างมากที่อยู่ในส่วนที่เป็นนํ้าเลือด และของเหลวภายนอกเซลล์ทั่วร่างกาย หากจำได้จะ เห็นว่าโซเดียมไอออนซึ่งเป็นไอออนประจุบวกจะมีปริมาณมาก ในบริเวณที่อยู่นอกเซลล์เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงระดับ ของคลอไรด์มักมีสาเหตุร่วมที่เกี่ยวข้องกับระดับโซเดียม ทั้งนี้ เนื่องจากคลอไรด์มักจะมีการเคลื่อนที่ตามโซเดียมทำให้มี ความสัมพันธ์ต่อการขึ้น/ลงของระดับโซเดียม สำหรับหน้าที่ของคลอไรด์นั้นนับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการรักษาปริมาตรนํ้าและสมดุลระหว่างของเหลวภายในและภายนอกเซลล์ เพื่อควบคุมการกระจายตัวของนํ้าในส่วนต่างๆ ให้เหมาะสม นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับการรักษาความเป็นกรด-ด่างของร่างกายอีกด้วย

ร่างกายได้รับคลอไรด์จากการรับประทานอาหารโดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบของเกลือ เนื่องจากเกลือที่พวกเรารู้จักกัน จะเป็นสารประกอบระหว่างโซเดียมและคลอไรด์ เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) โดยค่าปกติของคลอไรด์ไนนํ้าเลือด จะอยู่ระหว่าง 95-105 mmol/L (หน่วยนี้เรียกว่า มิลลิโมลต่อปริมาณเลือด 1 ลิตรนะครับ หรืออาจมีการรายงานในลักษณะอื่นที่เรียกว่า mEq/L ซึ่งก็คือ มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตรก็ได้) หากร่างกายมีระดับคลอไรด์ที่สูงผิดปกติ ก็จะมีการขับทิ้งออก ทางไตผ่านนํ้าปัสสาวะ

ค่าที่ผิดปกติของคลอไรด์ในเชิงตํ่า เรียกทางการแพทย์ว่า Hypochloremia มักมีสาเหตุมาจากโรคไตอักเสบ ซึ่งส่งผลให้มีการดูดกลับคลอไรด์ที่ท่อไตได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมทั้งยังพบได้จากการที่ร่างกายเกิดการอาเจียนมากเกินไป หรือพบในกรณีผู้ป่วยที่ต้องมีการดูดเอาของเหลวออกจากกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน และที่ได้กล่าวว่า การ เปลี่ยนแปลงระดับคลอไรด์มักมีสาเหตุร่วมกับระดับโซเดียมนั้น จากที่เคยกล่าวถึงในตอนก่อนๆ เกี่ยวกับโรคที่เรียกว่า Addison’s disease ซึ่งมีผลทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำให้ไตดูดกลับโซเดียมได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้คลอไรด์มีระดับที่ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ หากร่างกาย มีระดับคลอไรด์ตํ่าเกินไป จะมีผลต่ออาการแสดงต่างๆ ดังนี้ กล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือกระตุก รวมทั้งอาจพบการหายใจเร็ว และหายใจอย่างตื้นๆ

ในขณะที่หากร่างกายมีค่าคลอไรด์ที่สูงผิดปกติ ที่เรืยกว่า Hyperchloremia (Hyper หมายถึง สูง ส่วน Hypo หมายถึง ตํ่า) โดยมีสาเหตุจาก การที่ร่างกายมีการเสียนํ้าหรือมีภาวะขาดนํ้า การกินอาหารที่มีคลอไรด์หรือเกลือมากเกินไป บางกรณี ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับนํ้าเกลือติดต่อกันเป็นเวลานานอีกด้วย นอกเหนือไปจากการได้รับคลอไรด์จากภายนอกแล้ว หากร่างกายมีความผิดปกติภายใน เช่น ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไต ทั้งการเกิดนิ่วในไตทำให้มีการอุดตันของการขับทิ้งนํ้าปัสสาวะ หรือกรณีที่ไตมีการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้มีการดูดกลับโซเดียมมาก จึงมีผลให้ค่าคลอไรด์สูงขึ้นด้วย และ เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวถึงไปแล้วเกี่ยวกับโรค Cushing’s syndrome ซึ่งมีผลทำให้มีการผลิตฮอร์โมนกลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์จากการทำงานของต่อมหมวกไตมากกว่าปกติ ทำให้ไตมีการดูดกลับโซเดียมมากเกิน และมีผลทำให้ระดับคลอไรด์สูงขึ้นด้วย ซึ่งผลพวงที่เกิดขึ้นทำให้พบอาการแสดงต่างๆ อาทิ การหอบ การหายใจลึก และอาจหมดสติได้

อิเลกโตรไลต์ตัวที่ 4 ตามที่แสดงในภาพ ที่เราจะมาทำความรู้จักกัน คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (C02) หรือ ไบคาร์บอเนต (HC03) โดยการตรวจวิเคราะห์ค่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์รวม (Total C02) ที่มีอยู่ในเลือดนั้น จะช่วยบ่งชี้ภาวะความเป็นกรด-ด่างในเลือดได้ เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์จะละลายอยู่ในเลือดในรูปต่างๆ โดยที่สำคัญ คือ ไบคาร์บอเนต (HCO3) ซึ่งเป็นไอออนประจุลบที่มีการกระจายตัวอยู่ในของเหลวภายนอกเซลล์ในปริมาณที่รองลงมาจากคลอไรด์ซึ่งในตอนหน้า เราจะมาลงในรายละเอียด กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น