เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (19) ดัชนีบ่งชี้สมดุลของแร่ธาตุ
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุรยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เนื้อหาที่เราจะกล่าวถึงกันยังคง เกี่ยวกับแร่ธาตุที่สำคัญในกระแสเลือด นั่นก็คือ แคลเซียม ไอออน ซึ่งจากใบขอส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ จะเห็นว่า มีรายการตรวจอยู่ 2 รายการ คือ Ionized calcium และ Total calcium เมื่อกล่าวถึงคำว่าแคลเซียม หลายท่านคงนึกถึงเรื่องของกระดูกและฟันรวมถึงอาจคิดว่าการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดนั้น จะเป็นการวัดความแข็งแกร่งของกระดูก หรืออาจตรวจสอบว่า ร่างกายเกิดมีสภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) ขึ้นหรือไม่ แต่ที่จริงแล้ว แคลเซียมไอออนซึ่งจัดเป็นไอออนประจุบวก (Cation) อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งร่างกายของเราได้รับจากทางอาหาร โดยประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของแคลเซียมในอาหารที่กินเข้าไป จะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก โดยอาศัยวิตามินดีเป็นตัวช่วยในการดูดซึม และร่างกายมีการขับแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ โดยแคลเซียมมีบทบาทที่สำคัญต่อร่างกายในอีกหลายส่วน อาทิ การควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ การช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด การช่วยส่งกระแสประสาทไป-กลับระหว่างสมองและอวัยวะต่างๆ การช่วยควบคุมการหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาท ตลอดจนช่วยให้ผนัง เซลล์ต่างๆ มีความเสถียรอีกด้วย ดังนั้น การตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ หาค่าระดับแคลเซียมในกระแสเลือดนั้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ในการบ่งชี้ถึงกระบวนการควบคุมแคลเซียมในทั้งระบบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งยังสามารถใช้ในการสะท้อนความผิดปกติของ การควบคุมระดับแคลเซียมโดยฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone; PTH) อีกด้วย นั่นก็หมายความว่า การตรวจระดับแคลเซียมในเลือดนั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการวิเคราะห์ภาวะกระดูกพรุนโดยตรง แต่อาจนำข้อมูลมาใช้ประกอบกันได้บ้าง เนื่องจากการตรวจมวลกระดูกโดยปกตินั้น จะใช้วิธีการตรวจโดยการสแกนกระดูกข้อมือ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Bone densitometer หรืออาจวิเคราะห์จาก ภาวะการทำลายกระดูกที่ผิดปกติโดยการตรวจจากปัสสาวะก็ได้
อย่างที่ทุกท่านเข้าใจกันว่า แคลเซียมมีความสัมพันธ์กับกระดูก เนื่องจาก ประมาณร้อยละ 99 ของแคลเซียมจะอยู่ในรูปของ ไฮดรอกซี อะพาไพต์(Hydroxyapatite) ซึ่งมีลักษณะแข็ง จึงเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูกและฟัน ในขณะที่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1 จะอยู่ในรูปที่สามารถละลายนํ้าได้ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
1) ในรูปที่แตกตัวเป็นประจุและอยู่ในรูปอิสระ ที่เรียกว่า Ionized calcium หรือ Free calcium
2) ส่วนที่จับอยู่กับโปรตีนในเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจับกับโปรตีนส่วนใหญ่ในเลือดที่ชื่อว่า อัลบูมิน (Albumin) และ
3) ส่วนที่เหลือจะจับอยู่กับธาตุหรือหมู่เคมีอื่น เช่น ฟอสเฟต คาร์บอเนต เป็นต้น ซึ่งแคลเซียมในรูปที่เรืยกว่า Ionized calcium นี้ จะเป็นตัวหลักที่สำคัญในการควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่กล่าวถึงในช่วงต้นนั่นเอง
จากความสำคัญดังกล่าว การเจาะตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ จึงนิยมตรวจทั้งค่าของ Ionized calcium และแคลเซียมโดยรวม (Total calcium) ซึ่งค่าแคลเซียมโดยรวมนั้น หมายถึง ผลรวมของค่า Ionized calcium และแคลเซียมที่จับอยู่กับโปรตีนในเลือดเป็นสำคัญ ซึ่งค่าปกติของ Ionized calcium และ Total calcium อยู่ในช่วง 4.6 - 5.3 มิลลิกรัมต่อปริมาณเลือดหนึ่งร้อยมิลลิลิตร (เขียนเป็นหน่วย ในลักษณะ mg/dL หรือ mg%) และ 8.6 - 10.2 mg/dL ตามลำดับ
ค่า Ionized calcium ที่ตํ่าผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจาก มีระดับ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนที่ตํ่าเกิน รวมถึงร่างกายมีการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้ไม่ดีทั้งจากการขาดแคลนวิตามินดี ซึ่งช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ หรืออาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมที่ลดลงอีกด้วย นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือความผิดปกติของไตเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากในเลือดมีค่า Ionized calcium ในระดับที่สูงผิดปกติ อาจมีสาเหตุมาจากการมีระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูงเกินไป การมีหรือได้รับวิตามินดีที่มากเกินไป รวมถึงในบางกรณี อาจเกิดจากโรคมะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะที่แพร่ไปที่กระดูก เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน ค่า Total calcium ที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดในลักษณะที่ตํ่าหรือสูงเกิน ก็มักมีสาเหตุในลักษณะที่คล้ายกับภาวะ ที่เกิดขึ้นกับความผิดปกติของ Ionized calcium ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทั้งสองตัวนื้มีความลัมพันธ์ในเชิงผลรวมต่อกัน
นอกเหนือไปจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งต้องให้ความใส่ใจ ก็คือ ผลพวงต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีระดับแคลเซียมผิดปกติ เช่น การมีระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินไป (Hypercalcemia) แคลเซียมส่วนเกินเหล่านี้ อาจไปเกาะจับ หรือสะสมตามข้อต่อของกระดูก เช่น หัวไหล่ ข้อศอก กระดูกสันหลัง รวมทั้งอาจก่อให้เกิด โรคนิ่วในไตได้ ในขณะที่ หากร่างกายมีระดับแคลเซียมที่ต่ำมากๆ (Hypocalcemia) อาจส่งผลต่ออาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น โดยปกติ หากมีการตรวจว่ามีค่าแคลเซียมในเลือดสูงหรือตํ่าไปกว่าเกณฑ์ปกติ ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจหาค่าพาราไทรอยด์ฮอร์โมนควบคู่กันด้วย เพื่อที่จะหาสาเหตุที่แท้จริง และนำไปสู่แนวทางการรักษาหรือแก้ไขต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น