วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (15) ดัชนีบ่งชี้สมดุลของแร่ธาตุ

รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตอนนี้ เป็นภาคต่อของการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ในกลุ่มอิเลกโตรไลต์ ซึ่งตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงไอออนตัวแรก ที่มีความสำคัญกันไปแล้วคือโซเดียม ซึ่งได้กล่าวแล้วว่า ค่าปกติของระดับโซเดียมในเลือดจะอยู่ในช่วงประมาณ 137 - 145 mmol/L (อ่านว่า มิลลิโมลต่อปริมาณเลือด 1 ลิตร) ค่าที่ตํ่ากว่าปกติมากๆ (Hyponatremia) อาจมีสาเหตุมาจากการมีภาวะอักเสบที่ไต ทำให้การดูดกลับโซเดียมบริเวณไตเกิดขึ้นน้อยกว่าปกติ รวมถึง อาจมาจากการสูญเสียโซเดียมจากภาวะอุจจาระร่วงเป็นเวลานาน หรือการได้รับยาขับปัสสาวะ (เช่น ยาที่ใช้ร่วมในการรักษาความดันโลหิตสูง) ในบางกรณีอาจมาจากการขาดฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) จากโรคทีเรียกว่า Addison’s disease ทำให้ไตดูดกลับโซเดียมได้ไม่เต็มที่

นอกจากนั้น ยังพบการขับออกโซเดียมทางปัสสาวะในรูปต่างๆ มากขึ้นในผู้ปวยที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) หรือมีภาวะเบาจืด (Diabetes insipidus) ได้อีกด้วย ซึ่งหากร่างกายมีระดับโซเดียมที่ตํ่าลง จะมีอาการแสดงที่พบบ่อย ได้แก่ การอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เฉื่อยชา กระหายนํ้า ปวดศีรษะ ความคิดสับสน และซึมลงจนกระทั่งอาจหมดสติได้ ในทางตรงกันข้าม จะพบระดับของโซเดียมที่สูงกว่าปกติ (Hypernatremia) ในหลายกรณี อาทิ การกินเค็มมากกว่าปกติ การที่ร่างกายมีการเสียนํ้า หรือมีภาวะขาดน้ำจากการท้องร่วง ท้องเสีย โดยไม่มีการดื่มนํ้าทดแทน ส่งผลทำให้ค่าของโซเดียมในเลือดเข้มข้นขึ้น รวมถึงยังอาจเกิดขึ้นจากโรคบางชนิด ในสภาวะที่เลือดมีระดับโซเดียมสูงเกิน จะทำให้มีอาการแสดงดังนี้ กระหายนํ้า คอแห้ง กระสับกระส่าย และในบางครั้งอาจพบอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง และชักกระตุกได้
สำหรับตัวต่อไป คือ โปแตสเชียม (K+) ซึ่งเป็นไอออนประจุบวกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยจะพบปริมาณมากในของเหลวที่อยู่ภายในเซลล์ (ซึ่งเป็นในทางตรงกันข้ามกับโซเดียมที่มีมากที่สุดภายนอกเซลล์) นั่นก็หมายความว่า ภายในเซลล์ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์เนื้อเยื่อซนิดต่างๆ จะมีปริมาณโปแตสเซียมในระดับประมาณ 100 - 150 mmol/L ในขณะที่ค่าปกติของโปแตสเซียมในกระแสเลือด (หมายถึงสภาวะภายนอกเซลล์) จะมีอยู่เพียง 3.5 - 5.1 mmol/L โดยร่างกายได้รับโปแตสเชียมจากอาหารผ่านการดูดซึมในระบบทางเดินอาหารโดยถูกนำเข้าสู่เซลล์เพื่อรักษาสมดุลของไอออนไว้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ จะถูกขับออกทางไตผ่านนํ้าปัสสาวะ ทั้งนี้ การขับออกทางไตนี้ จะไม่มีการควบคุมการดูดกลับของโปแตสเชียมเฉกเช่นเดียวกับ การควบคุมระดับโซเดียมอีกด้วย

โปแตสเชียมมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อการทำงานของหัวใจ เนื่องจากหากอัตราส่วนของความเข้มข้นโปแตสเซียมที่อยู่ภายในและภายนอกเซลล์มีความผิดปกติไป จะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจจนทำให้เต้นไม่เป็นจังหวะหรือผิดจังหวะได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นอีก หากระดับโปแตสเชียมตํ่าลงมากๆ จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น จนอาจมีผลทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหากับโรคหัวใจ หรืออยู่ในระหว่างการบำบัดรักษา รวมทั้ง ในกรณีผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องได้รับยาลดความดันและยาขับปัสสาวะอยู่นั้นจำเป็นต้องตรวจติดตาม ระดับโปแตสเชียมในเลือดอยู่เสมอ ซึ่งหากร่างกายมีระดับโปแตสเชียมตํ่าลง โดยไม่สามารถชดเชยได้จากอาหารจนเพียงพอ จะทำให้เกิดสภาวะโปแตสเชียมตํ่าในกระแสเลือด (Hypokalemia) ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการแสดง อาทิ การอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน กระลับกระส่าย การหยุดหายใจและการมีคลื่นหัวใจผิดปกติ ในทางตรงกันข้าม โดยปกติมักไม่ค่อยพบเจอสภาวะที่มีโปแตสเซียมสูงในกระแสเลือด (Hyperkalemia) เนื่องจาก หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจากอาหาร ไตก็สามารถกำจัดทิ้งได้หมด ยกเว้นกรณีที่ไตมีการทำงานบกพร่อง มีการอุดตันในท่อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงมีการหลั่งฮอรํโมนแอลโดสเตอโรนน้อยเกินไป

สำหรับการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยระดับโปแตสเซียมในเลือดนั้น จะมีการเจาะเลือดดำจากแขน ประมาณ 5 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็งตัว หรืออาจใช้หลอดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium-heparin ก็ได้ โดยมีข้อควรระวัง คือ เมื่อเจาะแล้วต้องรีบส่งไปยังห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์โดยเร็วที่สุด (ปกติควรวิเคราะห์ ภายใน 1 ชั่วโมง) และจะต้องรีบปั่นแยกซีรั่มหรือพลาสม่า (นํ้าเลือด) ออกจากเม็ดเลือดแดงโดยเร็ว มิฉะนั้น จะมีปริมาณ โปแตสเชียมที่สูงขึ้นเกินความจริง เนื่องจากโปแตสเซียมที่ปะปนออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงนั่นเอง

ตอนต่อๆ ไป เราจะมาว่ากันต่อที่อิเลกโตรไลต์ตัวที่สามและสี่ คือ คลอไรด์ (Cl) และคาร์บอนไดออกไซด์ (C02) หรือไบคาร์บอเนต (HC03) กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น