วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก-ทำอย่างไรเมื่อแม่เป็นคนช่างหงุดหงิด

ปัญหาน่าปวดหัวเจ้าตัวเล็ก-ทำอย่างไรเมื่อแม่เป็นคนช่างหงุดหงิด
คำถาม -
ถ้าแม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้หงุดหงิดมาก เพราะถูกเลี้ยงดูมา
ในบรรยากาศแบบนั้นตลอด จะใช้เทคนิคปรับตัวเองอย่างไร
เพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้โดยไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศหงุดหงิดในการเลี้ยงลูก
ตอนนี้มีลูกที่กำลังจะเกิด 1 คนและคนโตอายุ 7 ขวบ
ซึ่งก็ดูจะมีอารมณ์หงุดหงิดแล้ว จะสายเกินไปมั้ยคะในการแก้ไขตัวเองและลูก
คำตอบ -
ผลเสียของการที่เด็กมีต้นแบบเป็นคนขี้หงุดหงิดก็คือ เด็กอาจจะเลียนแบบ
พฤติกรรมหงุดหงิดนั้นได้ค่ะ และคนที่หงุดหงิดง่ายมักจะเป็นคนที่มี
ความอดทนต่ำ ทีนี้เวลาที่คุณแม่จะฝึกฝนลูกไม่ว่าเรื่องอะไร
จึงมักไม่ค่อยได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะเข้าไปแทรก ไปดุเขาเร็วเกินไป
นอกจากนี้บรรยากาศในบ้านที่มีคนขี้หงุดหงิดอยู่ด้วยคงไม่ใช่บรรยากาศที่ดีนัก
เวลาที่จะฝึกสอนเด็ก ๆ หรือทำกิจกรรมอะไรจึงทำให้ได้ผลไม่ดีไปด้วย
ซึ่งอันนี้เป็นผลเสียที่เห็นได้ชัด

ฉะนั้นเด็กที่เติบโตมาโดยที่มีคุณแม่เป็นคนขี้หงุดหงิดมักเป็นคนขี้หงุดหงิด
ตามต้นแบบไปด้วยหรืออาจหงุดหงิดเพราะเกิดจากความสามารถ
ในทักษะต่าง ๆ มีน้อย เช่น ทักษะในการช่วยเหลือตนเอง ทักษะในการเล่น
ทักษะในการตัดสินใจ ทักษะในการวางแผน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะมีผล
อย่างมากเมื่อเขาก้าวเข้าสู่ระบบการเรียน คือถ้าเขามีทักษะน้อยกว่าคนอื่น
ก็จะเกิดปมด้อย รู้สึกเหมือนว่าตัวเองไม่มีคุณภาพเหมือนกับคนอื่น ๆ
อันนี้ยิ่งจะส่งผลให้อารมณ์อ่อนไหวและหงุดหงิดเพิ่มมากขึ้นค่ะ

การที่จะช่วยลูกในเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่จะต้องย้อนกลับไป
ตรวจสอบและปรับตัวเอง โดยต้องหาสาเหตุในตัวคุณเองว่า
ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคุณเป็นคนขี้กังวลหรือเปล่า
เพราะความกังวลมักเป็นพื้นฐานของความไม่มั่นใจ
หรืออาจเป็นเพราะปัญหาทางสุขภาพ
เช่น อาจมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง
หลายคนที่มีปัญหานี้มักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย
ก็ขอให้ไปตรวจเช็กและรักษาอาการนั้น ๆ

แต่ถ้าความหงุดหงิดของคุณเป็นเพราะขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูก
การฝึกฝนเด็ก หรือการทำกับข้าว วิธีเฉพาะหน้าในการแก้ปัญหานี้ก็คือ
พยายามพัฒนาตนเอง โดยการไปเข้าคอร์สอบรมหาความรู้เพิ่มเติม
หาพี่เลี้ยงที่มีทักษะ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเด็กมาก่อนมาช่วย
อีกแรงหนึ่ง จะช่วยให้เบาใจ คลายความหงุดหงิดลงได้บ้างค่ะ

ซึ่งการปรับอารมณ์ของคุณแม่ก็เพื่อปรับบรรยากาศภายในบ้าน
ให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้ ช่วยให้การฝึกและสอนทักษะต่าง ๆ แก่ลูก
เป็นไปโดยง่าย เป็นการเพิ่มทักษะและพัฒนาความสามารถในตัว
ให้กับลูกและเสริมความมั่นใจให้เขา อันนี้ก็จะช่วยทั้งคุณและลูกได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น