วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 1-2 ปี - ลูกจ๋าอย่า...เจ้าอารมณ์

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 1-2 ปี - ลูกจ๋าอย่า...เจ้าอารมณ์
คงจะมีพ่อแม่หลายคนกำลังตกที่นั่งลำบากไม่รู้จะจัดการยังไง
กับเจ้าตัวเล็กยามอาละวาดกรีดร้อง หรือหงุดหงิดงอแงเมื่อไม่ได้อย่างใจ
การตามใจไปซะทุกเรื่องไม่ส่งผลดีแน่ค่ะ
มาเริ่มต้นสอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์โกรธ
(แบบที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน) คงจะดีกว่ากันเยอะเลย

< < <   ทำไมเจ้าอารมณ์นัก    > > >
ปลายขวบที่ 2 เป็นช่วงเวลาเหมาะสม หากคุณจะฝึกให้ลูกรู้จักควบคุม
อารมณ์โกรธ หรือแสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจในสิ่งต่าง ๆ ออกมา
ได้อย่างเหมาะสม แม้ลูกวัยนี้ดูเหมือนว่าจะเล็กเกินเข้าใจ หรือจัดการ
กับความรู้สึกของตัวเองได้ แต่การเริ่มต้นสอนและให้ลูกได้เรียนรู้
อย่างค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้แกค่อย ๆ ซึมซับ
และเก็บเป็นประสบการณ์นำไปใช้เมื่อเติบโตขึ้น

แต่ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่คงต้องทำความเข้าใจพัฒนาการทางอารมณ์
ของลูกวัยนี้ ว่าที่แสดงฤทธิ์เดชต่าง ๆ นานานั้นเป็นเพราะ
***   ลูกยังเล็กกว่าที่จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้
         ทำให้เกิดความคับข้องใจได้ง่ายและมักแสดงออกด้วยการร้องไห้แทน
***   ประสบการณ์ในชีวิตของลูกยังน้อยนิดที่จะทำให้แกรู้ว่า
         การแสดงอารมณ์หรือท่าทีเกรี้ยวกราดนั้นจะส่งผลร้ายอะไรตามมาบ้าง
         ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่เมื่อเกิดอารมณ์โกรธก็รู้จักควบคุมหรือรู้ว่า
         ต้องแสดงออกอย่างไร และรู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร
         เช่น เพื่อนไม่คบ หรืออาจโดนทำร้ายกลับมา ฯลฯ
***   อารมณ์โกรธหรือความคับข้องใจของลูกวัยนี้มักมาจากการถูกขัดใจ
         หรือไม่ได้อย่างใจลูกไม่เข้าใจถึงเหตุและผลที่สมควร
         ขณะเดียวกันลูกไม่รู้หรอกว่าการแสดงออกของความไม่พึงพอใจนั้น
         มีหลายวิธี นอกเหนือจากการร้องไห้ ดิ้น หรือขว้างปาข้าวของ
***   วัยนี้เป็นวัยอยากเป็นอิสระสูง และรู้สึกต่อต้านกับคำสั่งห้ามของพ่อแม่
         เพราะอย่างนี้เมื่อไหร่ที่แกได้ยินคำว่า "อย่า" "ห้าม" "ไม่"
         น้ำตาก็พานจะทะลักทลายได้ทุกเมื่อ
***   ความพยายามที่อยากจะทำอะไรด้วยตัวเอง
         แต่ความสามารถทางร่างกายยังไม่พร้อมเต็มที่
         อาจทำให้ลูกรู้สึกคับข้องใจหงุดหงิดใจได้ง่าย
***   การรู้จักอดทนกับอะไรได้นั้นยังมีน้อยมาก

< < <   หลีกเลี่ยงอารมณ์โกรธ   > > >
เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาอีกค่ะ ที่จะหลีกเลี่ยง
ไม่ให้เกิดอารมณ์โมโห ไม่พอใจ ก็ขนาดผู้ใหญ่ยังทำได้ยากเลย
สำหรับลูกยิ่งยากสุด ๆ ค่ะ แต่จริง ๆ แล้วเวลาคนเราจะโกรธ
มักมีสัญญาณเตือนบอกเหตุก่อนล่วงหน้าเสมอ เช่น สิ่งแวดล้อม
อากาศ ภาวะอารมณ์ในช่วงนั้น ๆ ลูกก็เหมือนกัน
ถ้ารู้จักสังเกตใกล้ชิดสักหน่อยคุณก็จะจับอารมณ์ที่เป็นสัญญาณ
ความคับข้องใจของแกได้ และเมื่อนั้นก็น่าจะป้องกันได้เช่นกัน

< < <   สัญญาณเตือนอารมณ์บ่จอย   > > >
รู้จักจับอารมณ์และความรู้สึกของลูก เพราะยิ่งคุณจับอารมณ์ได้เร็วเท่าไหร่
การป้องกันและแก้สถานการณ์ภาวะอารมณ์ที่คุกรุ่นนั้นก็จะง่ายขึ้น เช่น
***   ถ้าลูกอยู่ในภาวะหิว เหนื่อย ง่วงนอน หรือร้อน มีโอกาสเสี่ยง
        ที่จะไม่สบอารมณ์อะไรง่าย ๆ แบบนี้คงต้องช่วยลูกให้ผ่อนคลาย
         จากอาการที่ว่ามาก่อน เช่น หาของกินเล่นให้หม่ำแก้หิวไปพลาง ๆ
         ก่อนมื้ออาหารหรือพาไปอาบน้ำให้รู้สึกสดชื่นสบายตัว ฯลฯ
***   เวลาลูกพยายามทำอะไรแต่ทำไม่สำเร็จ เช่น สวมเสื้อผ้าติดกระดุม
         ให้น้องตุ๊กตา หรือลากของเล่นชิ้นใหญ่ ๆ
         แบบนี้คงต้องทำตัวเป็นผู้ช่วยแล้วล่ะค่ะ

< < <   เทคนิคควบคุมอารมณ์โกรธ   > > >
***   เวลาลูกแสดงอารมณ์หรือออกท่าทางเกรี้ยวกราด สิ่งสำคัญที่สุดคือ
         พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองไว้ให้ดี อย่าฉุนเฉียว
         หรือโต้ตอบลูกด้วยความโมโห แต่ให้ใช้ความสงบ
         พูดด้วยน้ำเสียงปกติหรือจ้องมองแกนิ่ง ๆ
***   โอบกอดลูกหรือพูดจาปลอบโยนให้ลูกสงบลง เพราะแม้แก
         จะยังร้องไห้อยู่แต่ก็จะค่อย ๆ ควบคุมอารมณ์ได้ เพราะรู้สึก
         อุ่นใจว่าคุณไม่ได้ขัดขวาง แต่กำลังให้ความรักความเข้าใจแกอยู่
         (แม้จะไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เจ้าหนูต้องการในทันที)
***   เด็กบางคนยิ่งพ่อแม่เข้าไปโอบกอด แกจะยิ่งอาละวาดหนักขึ้นไปอีก
         แบบนี้พ่อแม่คงต้องขอเวลานอก แยกตัวเองออกไปห่าง ๆ ลูก
         แต่ก่อนไปบอกแกสักหน่อยก็ดีค่ะว่า
         "ถ้าแม่อยู่ด้วยแล้วหนูยิ่งโกรธแบบนี้ แม่ไปอยู่ข้างล่างก่อนนะ
         เดี๋ยวหนูอารมณ์ดีแล้วแม่จะเข้ามาหาใหม่" เพื่อลูกจะได้รู้ว่า
         การที่แม่จากไปไม่ใช่เป็นเพราะไม่รักแกซะเมื่อไหร่
***   ถ้าลูกใช้การร้องไห้หรืออาละวาดเพื่อเป็นเครื่องต่อรองเอาอะไรสักอย่าง
         ห้ามตามใจลูกเด็ดขาด เพราะวิธีนี้จะทำให้ลูกจดจำและนำไปใช้อีก
         เพราะเข้าใจว่าได้ผล สามารถควบคุมพ่อแม่ได้ แต่จงแสดงให้ลูกเห็นว่า
         วิธีนี้ไม่ได้ทำให้แกได้ของตามที่ต้องการโดยการปล่อยแกอยู่กับ
         ตัวเองสักพัก หลังจากนั้นค่อยอธิบายถึงเหตุผลให้ฟัง
***   เด็กบางคนใช้วิธีกลั้นหายใจ คุณคงต้องตั้งสติให้ดี
         ถ้าลูกกลั้นหายใจนาน ๆ จนหน้าเขียวตบหน้าลูกแรง ๆ
         เพราะจะช่วยทำให้แกฟื้นหรือรู้สึกตัวขึ้น
***   เวลาลูกทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายามของกล้ามเนื้อมัดเล็กมาก ๆ
         เช่น ใส่ถุงเท้า ร้อยลูกปัด ใส่เสื้อให้ตุ๊กตา แกอาจทำได้ไม่ดี
         พ่อแม่คงต้องเข้าไปช่วย แต่ที่ต้องระวังคือ อย่าเป็นคนไปจัดการ
         กับกิจกรรมนั้น ๆ ควรทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดี แล้วให้ลูกเป็นผู้ควบคุม
         สถานการณ์ด้วยตนเอง ถ้าลูกยังไม่รู้สึกดีขึ้น ลองเบี่ยงเบน
         ความสนใจและชวนแกเล่นอย่างอื่นแทน
         ที่สำคัญควรอยู่เป็นเพื่อนเล่นกับแกด้วย
***   เลือกของเล่นที่ช่วยให้ลูกจัดการกับมันได้ง่ายหน่อย
         (เพื่อลดความคับข้องใจ) เช่น ถ้าลูกเล่นกล่องหยอดรูปทรง
         ก็อาจทำรูสำหรับหยอดรูปทรงให้มีขนาดใหญ่ ไม่ต้องออกแรงมาก
         ในการเล่น หรือถ้าลูกเล่นลูกบอล ก็ไม่ควรเลือกลูกบอล
         ที่มีขนาดใหญ่เกินไปเพราะแกจะจับไม่ถนัดมือ ฯลฯ
***   เมื่อลูกรู้สึกสงบลงและอารมณ์ดีขึ้น คุณควรแสดงท่าทางให้แก
         รู้ว่ายังรักแกอยู่ เช่น โอบกอดและหอม ขณะเดียวกันก็บอกด้วยว่า
         คุณรู้สึกยังไงที่แกแสดงออกแบบนั้น และรู้สึกยังไงที่เห็นแกดีขึ้น
***   ถ้าลูกแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดในที่สาธารณะ เช่น ลงไปนอนดิ้น
         กลางทางเดินในห้างสรรพสินค้า คุณอาจต้องใช้วิธีอุ้มแกออกไป
         จากตรงนั้นและไปในที่ ๆ ไม่รบกวนคนอื่น เช่น ในรถ บริเวณที่นั่งเล่น
         หรือบริเวณที่คนไม่พลุกพล่าน แล้วปล่อยให้แกปลดปล่อยหรือร้องไป
         สักพักขณะเดียวกันถ้าแกยอมให้กอดก็ควรโอบกอดแกไว้
         แต่ถ้าไม่ยอมก็คงต้องปล่อยให้แกอาละวาดไปก่อนสักพัก
***   สอนให้ลูกรู้ว่า คำพูดนี่แหละเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด
         ที่จะช่วยให้แกบอกความต้องการออกมาได้
***   คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ
         ไม่ทะเลาะกันหรือใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

< < <   อย่าละเลยอารมณ์โกรธของลูก   > > >
พ่อแม่บางคนจะไม่สนใจต่อท่าทีเกรี้ยวกราด อาละวาดของลูก
พฤติกรรมนี้มีผลกระทบต่อลูกอย่างมากค่ะ การปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์โกรธ
อยู่บ่อย ๆ จะทำให้ลูกเติบโตไปเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ไม่มีเหตุผล
เอาแต่ใจตัวเองและแก้ปัญหาด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ใจร้อน

ส่วนการหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกเกิดอารมณ์ขุ่นมัวด้วยการตามใจก็ส่งผลเสียเช่นกัน
เพราะจะทำให้เป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ขาดเหตุผล ไม่รู้จักรอคอย
ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ที่สำคัญพฤติกรรมทั้งสองแบบนี้ล้วน
ทำให้แกมีปัญหาเมื่อต้องเข้าสังคมกับผู้อื่น เพราะในความเป็นจริง
คงไม่มีใครรักและเข้าใจแก ให้อภัยและยอมได้เท่ากับพ่อแม่อีกแล้ว

ความจริงแล้ว การแสดงความคับข้องใจและความโกรธนับเป็นเรื่องปกติ
และเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้มนุษย์เราไม่กลายเป็นคนเก็บกดปัญหา
แต่ก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม
ทั้งต้องรู้จักควบคุมเอาไว้บ้างจึงจะดีที่สุด เพราะคนเราไม่ว่าอารมณ์แบบไหน
ถ้ามีมากเกินไปก็คงจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าผลดีค่ะ ลูกของคุณยังเล็กนัก
การเริ่มต้นฝึกสิ่งดี ๆ ให้จะเป็นทุนรอนที่ทำให้แกได้กำไรในอนาคต
***************************************
วิธีที่จะควบคุมอารมณ์ของลูกได้ดีก็คือ
ต้องควบคุมอารมณ์ของพ่อแม่ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

1 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้คุนแม่ผิดเองที่ปล่อยและทิ้งลูกให้นั่งร้องไห้กลางตลาด พอมาอ่านบทความก็รุ้ว่าผิดเต็มๆ อ่านแล้วพอจะเข้าใจและจะพยายามทำให้ได้เพราะมันยากและเข้าใจยากในบ้างส่วน คุนแม่ต้องเริ่มจากการกอดก่อน

    ตอบลบ