วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 3-6 ปี - จังหวะดี ๆ ที่พลาดไม่ได้

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 3-6 ปี - จังหวะดี ๆ ที่พลาดไม่ได้
ระหว่างขวบปีที่ 3-6 ของสมาชิกตัวน้อย พัฒนาการด้านต่าง ๆ
ล้วนรุดหน้า และท่ามกลางพัฒนาการมากมายนั้น ก็มีบางจังหวะ
บางจุด ที่อยู่ในช่วงเบ่งบานที่สุด
ชนิดที่ถ้าพ่อแม่พลาดไปไม่ส่งเสริมล่ะก็ น่าเสียดายค่ะ

< < <   ภาษา   > > >
ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการเรียนรู้โลกของเด็กทุกวัย
โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยวัย 3-6 ปีที่ต้องเรียนรู้โลกที่กว้างขึ้นกว่าบ้าน
โดยมีต้นทุนคือ ประสบการณ์และความสามารถในการเรียนรู้
และจดจำภาษาของสมองที่ขยายขอบเขตกว้างขึ้น

มาดูกันค่ะว่า ลูกน้อยช่วงวัยนี้ใช้ภาษาในการเรียนรู้อย่างไร
และคุณพ่อคุณแม่จะสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง

***   ใช้ภาษาในการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก 
         มากกว่าที่จะใช้ความก้าวร้าวรุนแรง 
         เว้นแต่จะหาคำอะไรมาแสดงความรู้สึกไม่ได้
พูดคุยเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกกับลูกเสมอ และสอนให้ลูกรู้จักคำเรียก
ลักษณะอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เจ้าหนูมีวัตถุดิบในการแสดงออกมากขึ้น
โดยอาจผ่านการเล่นให้ทายความรู้สึกจากหน้าแบบต่าง ๆ จะได้มาก
ได้น้อยก็ไม่เป็นไรค่ะ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการตามวัย
ขอแต่ถ้าลูกยังใช้อารมณ์เราต้องไม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ค่ะ

***   เด็ก ๆ จะสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในสิ่งต่าง ๆ 
        โดยใช้ภาษาที่เรียนรู้ในชั้นที่ซับซ้อนขึ้น เชื่อมความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 
        และทำความเข้าใจกับความคิดใหม่ ๆ สังเกตว่าเด็กสัก 5-6 ขวบ 
        จะพูดคุยเก่ง รู้จักแสดงความคิดความเข้าใจ และซักถามไม่หยุดหย่อน
นี่เป็นโอกาสดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูก
อย่างสม่ำเสมอ และพยายามให้คำตอบกับทุกคำถามของเจ้าตัวเล็ก
แม้จะมีคำตอบว่า "ไม่รู้" บ้าง ก็ต๊ะไว้ก่อน ดีกว่าทำนิ่งเฉยเสมอ ๆ
ซึ่งทำให้ความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ของลูกลดลง

***   ความสามารถในการเชื่อมโยงความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 
         ยังช่วยให้เด็ก ๆ คิดและเข้าใจในเชิงสัญลักษณ์ได้ด้วย 
         เช่น มองว่าตุ๊กตาแทนคนจริง ๆ แล้วเอามาเล่นสมมติ 
        หรือรู้ว่าเขาสามารถใช้ตัวหนังสือสื่อความหมาย 
        และสามารถใช้ตัวเลขแสดงปริมาณได้
เพิ่มความเข้าใจส่วนนี้ได้ด้วยการชี้ให้เด็ก ๆ เห็นความเชื่อมโยง
ระหว่างสัญลักษณ์กับความหมายของสัญลักษณ์นั้น
เช่น ไฟจราจรสีแดงคือให้หยุด
เต่าหมายถึงช้า (จากนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า) ตัวเลขนี้บอกว่าของในถุงมีกี่ชิ้น

***   เด็ก ๆ จะสนุกกับเรื่องตลกและการเล่นกับภาษา 
         เช่น เล่นเสียงและความหมาย รวมทั้งพร้อมที่จะรับ
         และเรียนรู้การใช้ภาษาและศัพท์ใหม่ ๆ ด้วย
ไม่ดุว่า (ถ้าเรื่องไหนเกินขอบเขตก็ใช้วิธีห้าม โดยอธิบายเหตุผล) และสร้าง
อารมณ์ขันในการฟัง หรือคิดเกมที่เป็นการเล่นภาษาให้ลูกได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน

***   น้องหนูวัยนี้ชอบและสนุกกับการดูหนังสือ และส่วนใหญ่จะจำ
         ข้อความในหนังสือที่ชอบได้ ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง
         กับการอ่านที่จะตามมาภายหลัง
เด็ก ๆ เรียนรู้การอ่านจากประสบการณ์ ซึ่งได้จากการเล่นเสียมาก เพราะฉะนั้น
จึงควรหาหรือสร้างเกมการเล่นขึ้นมาเพื่อพัฒนาสมาธิ และความสนใจใคร่รู้
ของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอ่าน
(เด็ก 4-5 ขวบและโตกว่าชอบเล่นเกม "อะไรหาย" เพื่อทดสอบความจำ)

เมื่อลูกเริ่มหัดเขียน (สนใจเอง) ก็ควรสนับสนุนให้แสดงออกโดยไม่ต้องกังวล
เรื่องความถูกต้อง สวยงาม พอเพิ่มทักษะการอ่านเข้าไป ข้อความของน้องหนู
ก็จะสื่อความหมายได้ชัดเจน ที่สำคัญคือต้องให้ลูกพร้อมเพื่อเรียนรู้ได้อย่างสนุกค่ะ

< < <   ความคิดสร้างสรรค์   > > >
***   เจ้าตัวน้อยวัย 4-5 ขวบเป็นนักเล่นที่ชอบสร้าง ชอบประดิษฐ์เอามาก ๆ
ทีเดียวค่ะ แกจะชอบเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะต่อบล็อก วาดรูป
ปั้นดินน้ำมัน ปั้นแป้งโดว์ หรือเล่นบทบาทสมมติ ของโปรดประจำช่วงวัย
และถ้าจะทำอะไรก็มักจะคิดเตรียมเอาไว้แล้ว เช่น จะระบายสีไหน
จะเล่นสมมติเรื่องอะไรซึ่งความคิดเหล่านี้ลูกก็สร้างสรรค์ขึ้นจากประสบการณ์
ต่าง ๆ ที่ได้รับจากโลกรอบตัว และที่สำคัญ คนเก่งของเรายังสามารถสื่อ
ความรู้สึกและความคิดต่อผู้คนและสิ่งรอบตัวได้หลายรูปแบบด้วย

เราสามารถกระตุ้นและสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ที่ว่านี้ให้เจ้าตัวเล็ก
ได้หลายทางค่ะ ทางแรกคือ ให้วัตถุดิบโดยเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้พบเจอ
กับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น พาไปรู้จักกับคนในอาชีพต่าง ๆ
และเรียนรู้การทำงานของเขาเหล่านั้น บางครั้งอาจพาไปท้องฟ้าจำลองเพื่อทำ
ความรู้จักกับเรื่องของดวงดาวหรือเปิดโลกความรู้เกี่ยวกับสังคมมนุษย์และ
ธรรมชาติด้วย การอ่านหรือจากแหล่งความรู้อื่น ๆ ซึ่งเราจะสังเกตเห็นดอกผล
ของข้อมูลเหล่านี้ได้ในการเล่นของเด็ก ๆ นั่นเอง

ทางที่สอง คือ เตรียมวัตถุดิบและอุปกรณ์หลากหลาย เพื่อพร้อมให้เจ้าหนูนำไป
ใช้ในการสร้างสรรค์ได้อย่างใจนึก

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าเด็ก ๆ จะเรียนรู้ในรูปแบบไหน จะเล่นเกมจะทำงานศิลปะ
จะทดลองอะไร ถ้าคุณพ่อคุณแม่หวังจะให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ที่สุด
อิสระในการเรียนรู้โดยไม่ต้องผูกมัดลูกไว้อยู่แต่กับความเป็นจริงนั้น
เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งค่ะ

< < <   ความเป็นตัวของตัวเอง   > > >
การได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด แม้กระทั่งกับเด็กเล็ก ๆ
และการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ พื้นฐานสำคัญคือเด็ก ๆ ต้องรู้จักตัวเอง
มีความเป็นตัวของตัวเองที่จะเดินเข้าหาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้เสียก่อน
...มาช่วยเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองในตัวลูกกันค่ะ

***   เด็กวัยนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการค้นหา
         และสร้างความเป็นตัวของตัวเองอยู่ค่ะ 
         โดยที่มีต้นทุนเป็นความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองนี่ล่ะ
พอ 3 ขวบ เจ้าหนูของเราก็พยายามและเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้วค่ะ
เช่น แต่งตัวเอง แปรงฟันเอง ชอบตักข้าวกินเอง และอะไรอื่น ๆ อีกเยอะแยะ
ซึ่งแรก ๆ อาจยังทำได้ไม่ดีนัก และต้องการความช่วยเหลืออยู่บ้างแต่ก็จะค่อย ๆ ทำ
ได้ดีขึ้น และช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นตามวัย ซึ่งก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกทักษะนั้นด้วย

เจ้าตัวน้อยอาจหงุดหงิด ไม่ยอมเวลาพ่อแม่จะเข้าไปทำอะไรให้
คุณพ่อคุณแม่คงต้องใจเย็นที่จะปล่อยให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง
แม้จะช้าไปนิด ผิดไปบ้าง เพียงแต่เข้าไปช่วยในเรื่องที่ยากเกินไปเท่านั้นก็พอ
(ถ้าปล่อยให้ลูกพยายามอยู่นานเกินไป แล้วทำไม่ได้สักที กำลังใจของแก
ก็อาจค่อย ๆ หดหาย หรือหงุดหงิดจนไม่พยายามจะพัฒนาความสามารถนั้นต่อไปอีก)

สำหรับเจ้าตัวน้อยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพาไปส่งโรงเรียน และต้องการความ
รวดเร็วในช่วงเช้าคงต้องเผื่อเวลาสำหรับกิจกรรมของลูกมากหน่อยก็จะช่วยได้ค่ะ

***   วิธีหนึ่งที่เจ้าหนูของเราใช้เพื่อร่างความเป็นตัวของตัวเองให้ชัดขึ้นก็คือ 
         การทดสอบหาขอบเขตของสิ่งที่แกทำกับพ่อแม่และคนอื่น ๆ ที่แกสัมพันธ์
         ด้วยนั่นเองค่ะ เพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ หรือจะทำได้แค่ไหน 
         และเมื่อรู้ขอบเขต แกก็จะเริ่มพัฒนาในส่วนที่สามารถทำได้ในขอบเขตนั้น 
         โดยไม่ต้องมีความพะวงสงสัยมารบกวน

ลักษณะชอบทดสอบของเจ้าหนูเป็นสัญญาณที่ดีค่ะ และถ้าเราไปทำลายเสีย
ก็อาจไปยับยั้งความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในตัวเองของลูกได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรปล่อยให้ลูกมีอิสระ คิดเอง ทำเองทุกอย่างนะคะ
เพราะจริง ๆ แล้วเด็ก ๆ ยังต้องการข้อจำกัดที่ชัดเจนมั่นคง เพื่อป้องกันตัวแก
ให้พ้นจากอันตราย และไม่ให้เกิดความเสียหายหรือพฤติกรรมที่ไม่พึง
ปรารถนาต่าง ๆ ซึ่งถ้าพ่อแม่ละเว้นไป ไม่มีกฎระเบียบ เด็ก ๆ ก็จะรู้สึกกลัว
กลายเป็นเด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ และขาดความเชื่อถือในตัวเอง

***   การได้รับผิดชอบหน้าที่หรืองานอะไรสักอย่าง เป็นอีกทางที่เปิดโอกาส
         ให้น้องหนูของเราได้ดูแลการกระทำของตัวเอง และเห็นคุณค่า
         ในตัวเองในการมีส่วนร่วม 
         ทั้งรู้สึกเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในตัวเองหากทำงานนั้นสำเร็จ
คุณพ่อคุณแม่ควรมอบหมายหน้าที่ที่ไม่อันตราย และเหมาะกับความสามารถ
ของเจ้าตัวเล็ก เช่น พับผ้า เก็บจานชามที่กินแล้วมาใส่อ่าง หรืออาจให้มี
ส่วนร่วมในงานของครอบครัว เช่น ล้างรถ ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือกวาดใบไม้ก็ได้
และถ้าแถมรางวัลเป็นคำชมและอ้อมกอดด้วยล่ะก็
เจ้าหนูต้องพร้อมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเต็มใจยิ่งเลยล่ะค่ะ

เมื่อเห็นโอกาสทองแห่งพัฒนาการในช่วงวัยของลูกขนาดนี้แล้ว
คุณพ่อคุณแม่คนดีอย่าปล่อยให้จังหวะดี ๆ อย่างนี้ผ่านไปเฉย ๆ นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น