วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 3-6 ปี-ชวนเล่น เพื่อชวนคิด

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 3-6 ปี-ชวนเล่น เพื่อชวนคิด
เคยมั้ยคะ ที่ต้องหงุดหงิดเมื่อหารถที่จอดไว้ในชั้นจอดรถไม่เจอ
หรือเป็นโรคหลงทิศ จำทางไม่เคยได้ทั้งที่ตรงนี้เราก็มาออกบ่อย
แล้วรู้ไหมคะว่าเรื่องอย่างนี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในช่วงวัยเด็กด้วยล่ะ

การที่เราสามารถอ่านแผนที่แบน ๆ บนหน้ากระดาษ แล้วนึกเห็น
เป็นภาพจริงในความคิดได้ หรืออยู่ในบ้านแล้วสามารถชี้บอกทิศทาง
เมื่อพูดถึงร้านค้าในหมู่บ้าน หรือสนามเด็กเล่นที่อยู่ไม่ไกลได้
หรือจัดสัมภาระที่มีอยู่หลายชิ้นลงในท้ายรถที่มีเนื้อที่จำกัดได้
นี่เป็นเพราะเรามีทักษะทางมิติสัมพันธ์ ที่ผ่านการเรียนรู้สะสมเรื่อยมา
ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กค่ะ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดอย่างมีเหตุผล
ความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในทุกคน
แต่จะแตกต่างกันตามการฝึกฝน ประสบการณ์การรับรู้
และระดับความสามารถของสติปัญญาแต่ละคน

< < <   เรียนรู้ได้จากของจริง   > > >
ตัวอย่างที่บอกไปดูก็รู้ว่าเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่หนู ๆ
จะเข้าใจ แต่ที่ยกมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หวังยุให้คุณพ่อคุณแม่
ลุกมาจับลูกเรียนอ่านแผนที่ เขียนแผนผังเข้าออกตึกหรอกนะคะ
เพียงแต่กำลังจะบอกว่าความสามารถเหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่ดี
ในเรื่องการคิดอย่างเป็นระบบในระดับซับซ้อน ซึ่งพัฒนาขึ้น
จากความสามารถในการจัดระบบความคิดแบบง่าย ๆ ในวัยเด็กค่ะ

ทักษะนี้เป็นความสามารถที่ไม่ได้เกิดจากฟ้าสั่งมาเพียงอย่างเดียว
อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่สามารถฝึกฝนเรียนรู้กันได้
โดยเริ่มจากการรับรู้และเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ รูปทรงของสิ่งของ ระยะทาง จำนวน ทิศทาง ฯลฯ
แล้วรู้จักคิดเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้นว่าสัมพันธ์กันอย่างไร
จากนั้นจึงค่อยวาดออกมาเป็นภาพความคิดหรือที่เรียกกันว่าความคิดรวบยอดนั่นเอง

แต่กว่าจะไปถึงขั้นความคิดที่เป็นนามธรรมขนาดนั้นได้ เด็กน้อยต้องรู้จัก
และเข้าใจสิ่งรอบตัวเหล่านั้นอย่างรอบด้านเสียก่อน รวมทั้งต้องรู้จัก
จำแนกแยกแยะความแตกต่างของสิ่งที่รับรู้ได้ด้วย
เช่น ใหญ่-เล็ก ใกล้-ไกล บน-ล่าง เป็นต้น
โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ จากของจริง
ที่สามารถมองเห็น สัมผัสได้ค่ะ
(ขอย้ำว่าต้องเป็นของจริง ๆ ไม่ใช่แค่รูปภาพ
จะได้รับรู้และเรียนรู้กันได้เต็มศักยภาพของวัยเฮี้ยวเขา)

< < <   มิติสัมพันธ์ของคุณหนู   > > >
เพราะความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ๆ
แม้กระทั่งเด็กโตพ้นวัยเตาะแตะมาแล้วอย่างช่วง 3-6 ปีนี้
ยังมีลักษณะจำกัด การคิดเชื่อมโยงหาเหตุผลยังติดอยู่แค่สิ่งที่มองเห็น
สัมผัสได้เท่านั้น เช่น ของชิ้นเดียวกันที่วางในตำแหน่งต่างกัน
เด็กจะบอกได้แค่ว่า ชิ้นที่อยู่ใกล้ตัวขนาดใหญ่กว่าชิ้นที่อยู่ไกลตัวออกไป
และอาจคิดไปว่าเป็นของคนละชิ้นกันก็ได้ หรือ น้ำที่ปริมาตรเท่ากัน
เมื่ออยู่ในภาชนะต่างกัน
เด็กจะบอกว่าน้ำในแก้วก้นแคบมีมากกว่าแก้วก้นกว้าง เป็นต้น

ตรงนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่จะเข้ามาเป็นกองหนุน ช่วยฝึกช่วยสอนลูกให้รู้
เช่น ขนาดเล็กใหญ่ที่มองเห็นนั้นเกิดจากระยะทางที่ต่างกัน
โดยใช้การเล่นที่หนู ๆ โปรดปรานนี่ละเป็นสื่อ ชักชวน
ให้ได้ใช้ความคิดหาเหตุผลและแก้ไขปัญหา
แต่ต้องไม่ลืมนะคะว่ากิจกรรมนั้น ๆ ต้องสนุกและไม่ยาก
เกินความสามารถของหนู ๆ ด้วย ลองดูอย่างนี้ค่ะ

***   บล็อกไม้พาเพลิน - ชุดไม้บล็อก
เจ้าไม้บล็อกรูปทรงและขนาดหลากหลายที่หนูเคยจับเล่น
โยนไปโยนมาเมื่อก่อนนี้ ชักเริ่มสนุกขึ้นมาแล้วสิคะ เพราะมือที่หยิบจับ
ได้แคล่วคล่องขึ้นทำให้หนู ๆ ได้แปลงร่างเป็นวิศวกรตัวน้อย
ที่มีงานก่อสร้างแปลก ๆ ใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่บล็อกเรียงแถวติดกันเหมือนก่อน

แล้วรู้หรือเปล่าว่าระหว่างที่หนู ๆ กำลังเพลินกับงานสร้างสรรค์ชิ้นเยี่ยมนี้
ในหัวสมองน้อย ๆ ได้เริ่มจับเอาภาพบล็อกหลากรูปทรงที่วางเกลื่อน
อยู่ตรงหน้า มาสร้างเป็นภาพชิ้นงานที่หนูอยากให้เป็น
เกิดเป็นภาพสัญลักษณ์ในความคิดขึ้น ยิ่งหนูได้หยิบจับเล่นอยู่บ่อย ๆ
หนูจะเริ่มรู้ว่าถ้าอยากให้หอคอยสูงมั่นคงก็ต้องสร้างฐานให้กว้าง
และแข็งแกร่ง หรือรู้วิธีทำให้แต่ละส่วนของโครงสร้างนั้นสมดุล
โดยคิดจากสัดส่วนของรูปทรงบล็อกแต่ละชิ้นนั่นแหละ
บล็อกจึงเป็นของเล่นชิ้นพิเศษที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องมิติสัมพันธ์ได้ดี
แถมยังได้ฝึกใช้จินตนาการ เสริมความคิดสร้างสรรค์
รวมทั้งสมาธิและความอดทนในการสร้างชิ้นงานให้สำเร็จอีกด้วยค่ะ

คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าไปเติมความสนุกได้ด้วยการตั้งเงื่อนไขการเล่น
เพื่อให้ลูกได้หาทางแก้ปัญหาและคิดสร้างสรรค์ไปด้วยในตัว
เช่น กำหนดให้ต่อในเนื้อที่จำกัด หรือ ถ้ามีบล็อกแค่ 10 ชิ้น
อย่างนี้หนูจะต่อเป็นรูปอะไรดี เป็นต้น
แต่อย่าลืมส่งสัญญาณให้กำลังใจและปล่อยให้ลูกคิดนึกด้วยตนเองด้วยนะคะ

***   ตามล่าหาขุมทรัพย์ - ตะกร้าของเล่นของลูก หรือ ถุงใส่บล็อก
เด็ก ๆ วัย 3 ขวบขึ้นไปสามารถจำรูปทรงเรขาคณิตอย่างง่าย ๆ ได้แล้ว
ทีนี้ลองให้เขาคัดแยกสิ่งของตามเงื่อนไขที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งให้สิคะ
เช่น ให้หาของเล่นที่เป็นสี่เหลี่ยมจากตะกร้าของเล่น
หรือ ปิดตาหยิบบล็อกที่กลม ๆ มน ๆ จากถุง
แล้วอย่าลืมแสดงให้หนูคนเก่งเห็นความแตกต่างระหว่าง
ของที่เป็นเหลี่ยมกับรูปกลมมนด้วยนะคะ
เป็นการแยกแยะรูปทรงที่นำไปสู่การจัดกลุ่มของรูปทรงแบบเดียวกัน

***   ทัศนศึกษาระหว่างทาง - เท้าทั้งสอง หรือ จักรยานคันจิ๋ว รถยนต์ของคุณพ่อ
อย่าปล่อยช่องว่างให้กับความเงียบระหว่างเดินทางเลยค่ะ
งานนี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตก็สามารถเป็นไกด์ชั้นดีนำทางให้คุณลูก
ได้ด้วยการชี้ชวนบอกทิศทางตำแหน่งของสถานที่ที่ผ่านไป
ถ้าเป็นที่ที่ลูกคุ้นเคย เช่น สนามเด็กเล่นหรือร้านขายของ
ก็ทดสอบกันหน่อยค่ะว่าจากตรงนี้เราจะไปทางไหนต่อดีถึงจะถึงบ้านเรา
หรือถ้าบ้านไหนมีบริเวณรอบบ้านก็ลองพากันเดินชมสวน
แล้วพักยกให้ลูกทายดูว่าหลังหน้าต่างบานนี้เป็นห้องอะไรเอ่ย

***   ปะติดปะต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพ - ภาพตัดต่อ
ช่องเว้าแหว่งของลวดลายกับสีของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น
บวกกับภาพตัวอย่างที่วางอยู่ตรงหน้า เป็นตัวกระตุ้นอย่างดีให้หนู ๆ
ได้มองหาความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่างและสีของชิ้นส่วนแต่ละชิ้น
แต่ของเล่นชิ้นนี้ต้องเลือกขนาดและจำนวนให้เหมาะกับวัยหน่อยนะคะ
ถึงจะใช้ได้ผลดี เช่น วัย 3 ขวบช่วงสมาธิจดจ่อสั้นก็ต้องเลือกภาพตัดต่อ
ที่ขนาดใหญ่ จำนวนชิ้นไม่มาก (ประมาณ 4-6 ชิ้น)
เป็นภาพคนและสัตว์ที่มีรายละเอียดไม่มากนัก และสีสันสดใสเข้าไว้ค่ะ

***   นวด ๆ ปั้น ๆ ให้มันมือ - แป้งปั้น ดินเหนียวและอุปกรณ์ช่วยคลึงทั้งที่เป็นเหลี่ยมและมนกลม
ให้ลูกสังเกตความแตกต่างของแป้งปั้นเมื่อใช้อุปกรณ์ช่วยคลึงทั้ง 2 แบบ
หรืออาจแบ่งแป้งปั้นเป็น 2 ก้อนให้มีขนาดเท่ากัน
แล้วดูสิว่าใครจะปั้นงูได้ตัวยาวกว่า นอกจากได้บริหารกล้ามเนื้อมือแล้ว
ยังได้รู้จักลักษณะของแป้งว่าไอ้ที่หนืด ๆ นิ่ม ๆ แบบนี้
สามารถยืดหรือเปลี่ยนเป็นรูปโน้นรูปนี้ได้ตามต้องการ
ต่างจากของแข็ง ๆ และความมนกลมของแท่งไม้ ทำให้มันกลิ้งไปได้
ไม่สะดุด ผิดกับของที่มีเหลี่ยมมุม

***   ปราสาททราย - กระบะทราย ทรายแห้ง ๆ น้ำ ถ้วยชามพลาสติกรูปทรงต่าง ๆ ตะแกรงร่อน
เด็กทุกคนชอบเล่นทรายเล่นน้ำอยู่แล้วค่ะ แค่ให้เขาเทไปเทมา
หรือชวนเขาก่อสร้างเป็นปราสาททราย เขาจะเริ่มรู้ว่าตัวเองสามารถกำหนด
ให้ทรายเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่ายและเกาะตัวได้ดีถ้ามีน้ำเป็นตัวช่วย
หรือทรายแห้งจะผ่านรูตะแกรงได้ดีกว่าทรายเปียก ๆ
เรื่องอย่างนี้หนู ๆ รู้ได้จากการเล่นและสัมผัสอยู่บ่อย ๆ
และฝีมือการชี้แนะของเพื่อนเล่นที่ชื่อพ่อกับแม่ค่ะ

***   ตัด ๆ พับ ๆ - กระดาษ กรรไกรเล็กปลายทู่ของคุณหนู 
(วัย 3 ขวบครึ่งขึ้นไปสามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษได้บ้างแล้ว
แต่ยังควบคุมทิศทางของการตัดกระดาษได้ไม่ดีนัก)
ชวนพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ จะพับให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วพับไปพร้อมกัน
หรือจะกำหนดว่าทำยังไงกระดาษแผ่นนี้ถึงจะเป็นรูปสามเหลี่ยม
สี่เหลี่ยมก็ได้ เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ชิ้นงานสำเร็จ
แต่อยู่ที่การได้ฝึกระยะระหว่างกรรไกรกับเนื้อที่กระดาษ
ระหว่างขอบกระดาษกับขอบกระดาษ
ได้รู้ว่าถ้ามุมนี้ชนกับมุมนี้จะเป็นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม
ได้ทุกครั้งที่พับหรือตัดกระดาษต่างหากล่ะ

***   บันไดไต่ระดับ - น้ำในแก้วพลาสติกใสระดับต่างกัน หรือ แกนทิชชูตัดขนาดสั้นยาวต่างกัน หรือกระดาษตัดเป็นเส้นสั้นยาว
ให้จัดวางของที่เตรียมไว้ไล่ตามลำดับ สูงไปหาต่ำหรือต่ำไปสูง
สั้นไปยาวหรือยาวไปสั้น แล้วให้หาความเป็นที่สุดจากของที่มี
สูงสุด-ต่ำสุด ยาวสุด-สั้นสุด
บ่อยเข้าถึงไม่จับมาไล่เรียงกันว่าอันไหนยาวสุดสั้นสุด หนู ๆ ก็บอกได้ไม่ยากค่ะ

เกมเหล่านี้สนุกได้ตั้งแต่วัย 3 ขวบจนถึง 6 ขวบเลยค่ะ
อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่จะปรับเงื่อนไขในการเล่นให้ยากง่ายต่างกันไป
ตามความสามารถและพัฒนาการของหนูแต่ละคน แต่ละวัย
และให้เขาได้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำโดยมีพ่อแม่เป็นเพื่อนเล่นคอยแนะคอยบอกให้
แล้วทีนี้การคิดอย่างเป็นระบบที่ว่ายากก็กลายเป็นเรื่องท้าทายที่หนู ๆ อยากลิ้มลองแล้วค่ะ
**************************************************************
รศ.ดร.จิตตินันท์ เตชะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว
สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
**************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น