วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปัญหาวัยอนุบาล-หากเด็กเกิดอาการติดครูเพียงคนเดียว

ปัญหาวัยอนุบาล-หากเด็กเกิดอาการติดครูเพียงคนเดียว 
ไม่ยอมห่างจากตัว และไม่ยอมเรียนไม่ยอมเล่นกับใคร
ครูและพ่อแม่ควรปฎิบัติอย่างไรคะ
คำตอบ - 
เราพบว่าช่วงแรกของการเข้าเรียนมีหลายคนติดครูค่ะ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดู
แบบที่มีผู้ใหญ่คอยใกล้ชิดตลอด เด็กที่เป็นลูกคนเดียวหรือเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน
อยู่ที่บ้านเด็กจะติดคนเลี้ยง ติดผู้ใหญ่ พอมาโรงเรียนก็จะติดครูหรือพี่เลี้ยง
และเด็กจะไม่ไปเล่นกับกลุ่มเพื่อน จะมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ผู้ใหญ่มากกว่า
เพราะเด็กไม่คุ้นเคยที่จะคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ถ้าเราให้โอกาสและเวลาเด็ก
สักระยะหนึ่ง (ประมาณ 1 เดือน) เด็กจะปรับตัวเข้ากับเพื่อนโดยเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ
ลองพูดกับเพื่อนคนโน้นคนนี้ คุยกันไปคุยกันมาเดี๋ยวก็รู้จักกัน
ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเด็กจะปรับตัวได้เร็วกว่าผู้ใหญ่เสียอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้นคุณแม่พบว่าลูกเกิดอาการติดครู ไม่ยอมให้ครูห่างเลย
แม้ผ่านระยะการปรับตัวไปแล้วลูกก็ยังไม่ยอมเรียน ไม่ยอมเล่นกับใคร
คุณแม่ไม่สบายใจ และคุณครูก็คงกังวลเหมือนกัน กลัวว่าเด็กจะขาดเพื่อน
ตัวลูกเองก็ไม่มีความสุข เพราะครูจะอยู่ด้วยตลอดเวลาไม่ได้
ต้องไปดูแลเด็กคนอื่นด้วย

เราต้องการให้ลูกของเรามีพัฒนาการทางสังคมเป็นไปตามวัย
ในเรื่องของการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
เราต้องหาโอกาสและให้เวลาลูกตามที่กล่าวมาแล้วค่ะ
ที่จริงครูหมูก็เคยพบปัญหาแบบนี้และแก้ปัญหาโดยให้โอกาสเด็กได้อยู่กับเพื่อน
ครูหมูพยายามทำตัวออกห่างเด็ก ทำเหมือนว่ายุ่งอยู่กับงาน ให้เด็กรอก่อน
และพูดชี้นำให้เด็กไปอยู่กับเพื่อน ๆ เช่น
"หนูไปเล่นกับเพื่อน ๆ ก่อนระหว่างรอครูนะคะ"
"เพื่อนคนนั้นเขาชอบหนู เขาพูดถึงหนูบ่อย ๆ ไปเล่นกับเพื่อนนะคะ"
"เพื่อน ๆ คอยให้หนูไปเล่นด้วยนะคะ" เป็นต้น
วิธีนี้ดูเหมือนว่าคุณครูใจร้าย แต่เป็นการให้โอกาสเด็กได้ทำความรู้จักกับเพื่อน
คุณครูต้องค่อย ๆ แยกตัวออกจากเด็ก ไม่ให้เด็กรู้สึกตัวว่าถูกทอดทิ้ง
และถ้าเด็กไม่ไป ครูก็ต้องจูงมือเขาไปนั่งเล่นด้วยกับเพื่อนเสียเลย
หรือคุณครู เด็ก และเพื่อนนั่งเล่นด้วยกัน
การหาเพื่อนที่น่ารักให้เล่นกับเด็กแล้วคุณครูถอยห่างก็เป็นอีกวิธีหนึ่งนะคะ
แต่ต้องดูท่าทีของเด็กด้วยว่ารับได้หรือไม่

บางครั้งลองถามเด็กดูก็ได้ว่าชอบเพื่อนคนไหน ครูก็ขอให้เพื่อนคนนั้นมาชวนเด็กไปเล่น
การจัดกิจกรรมที่เด็กต้องทำร่วมกันหลาย ๆ คนบ่อย ๆ เด็กก็จะได้เพื่อนใหม่ค่ะ
ปัญหาการติดครูซึ่งเกิดจากความว้าเหว่ ต้องการที่พึ่งทางใจการแก้ไขต้องทำอย่างนิ่มนวล
คือใช้เวลามากขึ้น ทำให้เด็กไว้ใจผู้อื่น และรู้สึกอบอุ่นเมื่ออยู่ในห้องเรียน
เด็กจะได้ไม่ยึดติดกับคนใดคนหนึ่ง
เมื่อเด็กมีเพื่อนเขาก็จะมีความสุขชอบกิจกรรมและสนุกกับการมาโรงเรียนค่ะ
*********************************************
คุณครูรุ่งรวี กนกวิบูลย์ศรี โรงเรียนอนุบาลสามเสน
*********************************************

4 ความคิดเห็น:

  1. ในกรณีที่เด็กติดครู ไม่ยอมร่วมกิจกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันถ้าครูให้เล่นมุมของเล่นหรือปั้นดินน้ำมันเค้าก็เล่นร่าเริงปกติดีค่ะ แต่ถ้าครูจะออกจากห้องไปทำธุระเค้าจะไม่ยอมให้ไปหรือเค้าจะร้องไห้ทันที กรณีนี้เกิดจากสาเหตุอะไรค่ะ...........ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตอนนี้เป็นอยู่ค่ะ เเก้ยังไง อาการนี้เลยค่ะ

      ลบ
  2. ขอปรึกษาได้มั้ยคะ อายุ15ค่ะ ติดครูมากค่ะเป็นครูผู้หญิงนะคะ ทำกิจกรรมอะไรต่างๆได้หมดแต่ก็จะคอยมองหาครูคนนั้นตลอด บางทีเห็นครูพูดกับนร.คนนั้นคนนี้ก็จะมีนอยก์ให้คุณครูเขาค่ะ ถ้าเป็นวันหยุดบ้างก็คิดถึงครูเขา บางที่ครูไปราชการบ้างก็มีเศร้าๆในวันนั้นค่ะ เกิดจากปัญหาในครอบครัวหรือป่าวคะ คือพ่อกับแม่แยกทางกันค่ะ แต่ตอนนี้อยู่กับครอบครัวทางพ่อค่ะปู่ย่าแล้วก็น้อง แต่ก็ยังติดต่อกัน เดินทางไปหา ไปเที่ยวด้วยกันอยู่ค่ะ หนูคิดว่าเกิดจากที่หนูไม่ได้อยู่กับแม่หรือเปล่าคะ เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน6ปีแล้ว เลยเป็นแบบนี้ค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หัวเรื่องเป็นปัญหาวัยอนุบาล แต่คำถามเป็นวัยรุ่นซะแล้ว สิ่งที่หนูคิด และคาดการณ์ไว้ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้นครับ พยายามควบคุมจิตใจ และใช้เวลาให้มากไปกับการเรียน การอ่านหนังสือ หรือออกกำลังกายเล่นกีฬา จะได้มีสุขภาพที่ดีครับ บางสิ่งที่เรามุ่งมั่น ทุ่มเท จนหน้าที่หลักๆ ของเราไม่ได้ทุ่มเท มันเป็นการสูญเสียมากกว่า ส่วนเรื่องความผูกพันทางจิตใจกับคุณครูนั้น พอเราเรียนมากขึ้น ออกกำลังกายเล่นกีฬามากขึ้น ความรู้สึกนั้นก็จะค่อยๆ คลายลงครับ

      ลบ