วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 0-1 ปี - ร้องเก่งจริงนะตัวแค่เนี้ยะ

พัฒนาการเด็กช่วงวัย 0-1 ปี - ร้องเก่งจริงนะตัวแค่เนี้ยะ
ไม่อยากจะบอกเลยว่าเสียงร้องแรกของทารกน้อยในห้องคลอดน่ะ
เป็นแค่การเกริ่นจากน้องหนูเท่านั้น นับจากนี้สิคือ "ร้องจริง" ของแกล่ะ
 ...แง...แง...แง... เตรียมรับมือให้ดีละกัน

จะร้องมากร้องน้อย ร้องดังร้องค่อยแค่ไหน จะทำคุณหงุดหงิด
อารมณ์เสียหรือยิ้มชื่นอารมณ์ดีปานใด การร้องก็เป็นหนทางเดียว
ที่เจ้าหนูวัยทารกใช้สื่อสารบอกความต้องการให้พ่อแม่รู้
ซึ่งก็ได้ผลดีใช่ไหมคะ
เพราะทั้งแม่และพ่อต่างก็รีบกุลีกุจอวิ่งตรงดิ่งมาหาลูกทันทีที่ร้องเลย

วิธีดังกล่าวก็ดูดีหรอก แต่นักวิชาการด้านเด็กบอกว่า
ถ้าคุณทำเช่นนั้นตลอดจะทำให้ลูก "เสีย" ตั้งแต่เล็กได้
กลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักยอมคิดแต่จะเอาชนะ
แพ้ไม่เป็นเพราะถูกตามใจมาตั้งแต่เกิดไงคะ

จริง ๆ แล้ว การร้องของเด็กล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น
งั้นลองหาสาเหตุก่อนดีไหมว่าลูกร้องเพราะอะไร
เช่น ผ้าอ้อมเปียกฉี่เปื้อนอึหรือเปล่า หรือว่าลูกหิว กระหาย
อากาศร้อนหรือเย็นเกินไปไหม หรือว่าลูกรู้สึกไม่สบาย เป็นต้น
ถ้าเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุเลย อาจเป็นเพราะลูกน้อยรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว
จึงร้องไห้ออกมาเพื่อต้องการอ้อมกอดอบอุ่นของคุณก็ได้

อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปพอลูกอายุเลย 6 เดือนขึ้นมาก็จะค่อย ๆ ร้องน้อยลง
แต่ก็ยังคงต้องการการสนองตอบที่ถูกต้องตรงใจอยู่นะคะ
ซึ่งคุณจะค่อย ๆ เรียนรู้ได้เองในแต่ละวันที่เพิ่มพูนขึ้นจากการเลี้ยงลูกนั่นเอง

< < <    ลูกร้องเพราะ.....   > > >
ถ้าไม่ใช่สาเหตุเพราะความไม่สบายตัวแล้ว
เรื่องเหล่านี้อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกน้อยร้องไห้งอแงก็เป็นได้ค่ะ

***   เบื่อ   ***
ทารกน้อยจะร้องไห้ไม่พอใจเลยหากถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเป็นเวลานาน
(แม้จะแค่อึดใจเดียวของคุณก็ตาม) เพราะลูกวัยนี้ไม่ชอบที่จะอยู่คนเดียวนี่คะ

การดึงความสนใจลูกจะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นลงได้
คุณอาจหาโมบายล์มาให้ลูกมองเล่น และสำหรับลูกน้อยที่โตขึ้นอีกนิด
หนังสือภาพสีสันสดใส ภาพใหญ่ ๆ ช่วยได้ดีทีเดียว
ระหว่างที่คุณยังไม่สามารถมาหาลูกได้ทันทีเพราะทำงานค้างอยู่ไงคะ

***   กลัวถูกพรากจาก   ***
ทารกน้อยไม่ชอบให้ใคร ๆ ที่ไม่คุ้นอุ้มไปจากอกแม่หรือพ่อหรอกค่ะ
ขณะที่เด็กบางคนแค่เห็นคุณเดินหายออกไปจากห้องก็ร้องลั่นแล้ว
ทั้งนี้เพราะแกกลัวคุณจากไปนั่นเอง

อย่าทำให้ลูกน้อยมีความทุกข์เพราะเรื่องนี้เลยนะคะ
สำหรับลูกวัยขวบลงมาคุณควรอยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จำให้ขึ้นใจเลยค่ะว่าคุณไปไหนเอาลูกไปด้วยเสมอ

***   เหนื่อย   ***
เด็กเล็ก ๆ ทุกคนล่ะค่ะ จะร้องไห้เมื่อรู้สึกเหนื่อย
เพราะพอเหนื่อยมากก็จะรู้สึกหงุดหงิด พาลทำให้อารมณ์บ่จอยขึ้นมาได้

ลองดูซิว่าลูกเหนื่อยเพราะนอนไม่พอหรือเปล่า
ถ้าใช่คงต้องฝึกฝนเจ้าตัวเล็กของคุณให้รู้จักแยกแยะเวลาแล้วค่ะ
ระหว่างเวลากลางวันที่อาจนอนน้อยหน่อย ตื่นมาเล่นมากหน่อย
กับเวลากลางคืนที่ควรจะได้นอนนาน ๆ ตลอดคืน

แต่ที่สำคัญ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและความต้องการของลูกนะคะ
เช่น ลูกอยากหลับตอนนี้ก็ให้นอนตอนนี้ไม่ใช่ลูกอยากหลับตอนนี้
แต่คุณไม่ยอมให้หลับ
เพราะเป็นเวลาหม่ำพอดี อย่างนี้ลูกน้อยต้องร้องไม่ยอมแหง ๆ ค่ะ

***   ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ   ***
ถ้าลูกพยายามยื่นมือน้อย ๆ นั้นไปให้ถึงลูกบอลผ้าสีสันสดใสที่หมายตาไว้
แต่ทำอย่างไรก็เอื้อมมือไปไม่ถึง ลูกจะอารมณ์เสียค่ะ เพราะความที่ทำไม่ได้ดังใจ
ทำไม่ได้ตามที่ต้องการก็เลยร้องด้วยความคับข้องใจออกมาไงคะ

เห็นทีคุณคงต้องช่วยลูกหน่อยแล้วล่ะ การฝึกให้ลูกพยายามนั้นดีค่ะ
แต่ถึงที่สุดควรให้ลูกได้รู้สึกสมหวัง และภูมิใจในตนเองที่ทำได้ด้วย
เช่น วางบอลให้ใกล้ลูกอีกนิด
พอลูกเอื้อมมือไปจนสุดก็ถึงพอดีสามารถหยิบลูกบอลได้ตามที่ลูกต้องการ

***   หงุดหงิด   ***
บางทีลูกน้อยนอน ๆ อยู่ก็ร้องกรี๊ดเสียงดังลั่นออกมาได้
อาจเป็นเพราะถูกขัดจังหวะโดยสิ่งใดสิ่งหนึ่งค่ะ
เช่น ฉี่หรืออึที่ทำให้ผ้าอ้อมเปียกและเปื้อน มดแมลงที่กัดต่อย
อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เป็นต้น
ซึ่งจะทำให้ลูกไม่สบายตัว พอไม่สบาย ก็จะรู้สึกหงุดหงิด ร้องไห้ทันที

ตรวจดูสาเหตุแล้วรีบแก้ไขโดยด่วน ก็จะช่วยหยุดการร้องของลูกได้ค่ะ

***   ตื่นเต้นสุด ๆ    ***
ความตื่นเต้นดีใจแบบสุด ๆ บางทีก็ทำให้เจ้าตัวเล็กร้องกรี๊ดออกมา
ได้เหมือนกัน กรี๊ดแบบนี้ไร้ปัญหาเพียงแต่คุณต้องพิจารณาให้ดี
ว่าใช่หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่จะได้หาทางแก้ให้ถูกต้องไงคะ

***   ทำร้ายตัวเอง   ***
ประเภทคลานดุ๊กดิ๊กไปชนโน่นชนนี่ร้องอย่างนี้เดี๋ยวก็หยุด แต่ถ้าเจ็บมาก ๆ
เช่น หัวโน แขนขาหัก หรืออะไรก็ตามที่ไม่มีบาดแผล
ลูกจะร้องนานและดังเชียวค่ะ คุณจึงต้องตรวจสอบให้ละเอียด เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด

< < <   อยากให้แม่รู้ใจ   > > >
การร้องของลูกเป็นเรื่องธรรมชาติค่ะ
เป็นการสื่อสารให้แม่รู้ถึงสิ่งที่เจ้าตัวเล็กเผชิญอยู่และต้องการความช่วยเหลือจากแม่
ซึ่งจะช่วยได้ดียิ่งขึ้นถ้าแม่เข้าใจในเรื่องต่อไปนี้
-. ยอมรับว่าทารกจะต้องร้องและทารกบางคนจะร้องมากด้วย
เพื่อให้แม่ตอบสนองได้ตรงความต้องการมากที่สุด
ทั้งบทเรียนมากมายในชีวิตก็เริ่มต้นจากการร้องนี้ด้วย
-. ถ้าลูกร้องและไม่ยอมนอนในที่นอนของตัวเอง
อ้อมอกของแม่จะเป็นที่นอนอันแสนอบอุ่นของลูกค่ะ
คุณอาจให้ลูกนอนแนบหัวใจคุณอยู่ในเป้อุ้มเด็กก็ได้
เพื่อคุณจะได้ทำงานอย่างอื่นไปด้วยได้ไงคะ
-. ให้นมลูกก่อนที่ลูกจะโมโหหิวและให้ลูกได้นอนพักผ่อนก่อนที่จะเหนื่อยเกินไป
เพราะการหิวและเหนื่อยจะทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิด โมโห และร้องไห้ค่ะ
-. ทารกบางคนจะชอบร้องงอแงก่อนนอนเสมอ
ดังนั้นควรให้เวลาลูกได้อยู่ในช่วงดังกล่าว
แล้วคุณจึงค่อยไปอุ้มกล่อมให้ลูกนอนหลับต่อไป
-. เด็กบางคนนอนตอนกลางวันเก่งมาก อย่าปลุกลูกให้ลุกขึ้นมาเลยนะคะ
แม้ว่าการปลุกนั้นจะทำให้คุณไม่ต้องตื่นขึ้นกลางดึกมาอุ้ม เล่น หรือกล่อมลูกก็ตาม
-. โมบายล์ ของเล่นเขย่า จะช่วยให้ลูกน้อยอายุ 6 เดือนลงมา
สนุกและหยุดร้องได้ (เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ)
-. สำหรับลูกที่อายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะชอบของเล่นประเภทหยอดรู
หรือของเล่นที่เอาตีให้เกิดเสียงดัง รวมทั้งภาพสีสันสดใสจากหนังสือต่าง ๆ
ของเล่นเหล่านี้จะทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้นไงค่ะ

คำแนะนำเหล่านี้ คงช่วยให้เสียงร้องของลูกน้อยลดลงก็คุณรู้ใจลูกดีออกอย่างนี้นี่จ๊ะ
--------------------------------------------------------------------------------
ทราบไหมเอ่ย....
* ผลการศึกษาวิจัยพบว่าทารกสามารถได้ยินเสียงได้ตั้งแต่อายุ 24 สัปดาห์ในท้องแม่แน่ะ
* และยังพบอีกว่าแม่จะเริ่มจำเสียงร้องของลูกได้หลังลูกเกิด 3 วัน
* ทารกน้อยที่แม่คลอดเองอย่างปลอดภัย จะเป็นเด็กชอบ
ความสงบมากกว่าทารกที่เกิดท่ามกลางบรรยากาศและสรรพสำเนียงที่โกลาหลวุ่นวาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น