วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เปิดโลกหลักภาษา-คำไทยแท้ และคำที่มาจากภาษาอื่น

เปิดโลกหลักภาษา-คำไทยแท้ และคำที่มาจากภาษาอื่น
ถ้อยคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทยทุกวันนี้ มีทั้งที่เป็นคำไทยแท้ และคำที่มาจากภาษาต่างประเทศอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเขมร ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาชวา ฯลฯ
การที่เราจะทราบได้ว่า คำใดมาจากภาษาใดนั้น เราอาจอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นเครื่องมือได้อย่างหนึ่ง และใช้วิธีศึกษาลักษณะของคำในภาษานั้นๆ อีกอย่างหนึ่ง การสังเกตความแตกต่างระหว่างคำไทยแท้ และคำที่มาจากภาษาอื่น จะช่วยให้เรามีความรู้ทางภาษาไทยกว้างขวางขึ้น และช่วยให้เราสามารถใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องเหมาะสมอีกด้วย
1.ลักษณะของคำไทยแท้ มีดังนี้
1.1.คำไทยแท้ส่วนมากมักเป็นคำพยางค์เดียวโดดๆ เช่น
พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ฉัน เธอ
1.2.คำไทยแท้มักใช้ตัวสะกดตรงตามมาตรา
1.3.คำไทยแท้ไม่มีอักษรการันต์
1.4.คำไทยแท้ไม่ใช้พยัญชนะบางตัว ได้แก่ (ฃ (คอคน) เลิกใช้แล้ว) ฆ ณ ญ ฏ ฎ ฑ ฒ ธ ศ ษ แต่ยกเว้นบางคำ ได้แก่
*** ฆ ===> ฆ่า ระฆัง เฆี่ยน ฆ้อง
*** ฒ ===> เฒ่า
*** ธ ===> เธอ
*** ศ ===> ศอก ศึก
*** ณ ===> ณ (อ่านว่า นะ)
1.5.คำไทยแท้ใช้วรรณยุกต์เพื่อแสดงความหมายของคำ เช่น
ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า
เสือ เสื่อ เสื้อ 
ฯลฯ
1.6.คำไทยแท้ที่ออกเสียง "ไอ" จะประสมด้วยสระ ใ- และสระ ไ- เท่านั้น จะไม่ใช้ไม้หันอากาศ และ ย สะกด
2.ลักษณะของคำที่มาจากภาษาอื่น มีดังนี้
2.1.เป็นคำที่มีหลายพยางค์ เช่น
ฤาษี ===> อ่านว่า รือ - สี ===> (ภาษาสันสกฤต)
กีฬา ===> อ่านว่า กี - ลา ===> (ภาษาบาลี)
ตำรวจ ===> อ่านว่า ตำ - หรวด ===> (ภาษาเขมร)
ซินแส ===> อ่านว่า ซิน - แส ===> (ภาษาจีน)
บุหงา ===> อ่านว่า บุ - หงา ===> (ภาษาชวา)
ลิปสติก ===> อ่านว่า ลิบ - สะ - ติก ===> (ภาษาอังกฤษ)
2.2.ใช้ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา เช่น
ขัตติยะ ===> อ่านว่า ขัด - ติ - ยะ ===> (ภาษาบาลี)
ศรัทธา ===> อ่านว่า สัด - ทา ===> (ภาษาสันสกฤต)
เจริญ ===> อ่านว่า จะ - เริน ===> (ภาษาเขมร)
กริช ===> อ่านว่า กริด ===> (ภาษาชวา)
ยีราฟ ===> อ่านว่า ยี - ร้าบ ===> (ภาษาอังกฤษ)
2.3.มีอักษรการันต์ เช่น 
พราหมณ์ ===> อ่านว่า พราม ===> (ภาษาบาลี)
แสตมป์ ===> อ่านว่า สะ - แตม ===> (ภาษาอังกฤษ)
ไพฑูรย์ ===> อ่านว่า ไพ - ทูน ===> (ภาษาสันสกฤต)
2.4.ใช้ รร (ในภาษาสันสกฤต) เช่น
กรรม ธรรมชาติ บรรณารักษ์ มรรยาท พรรษา สวรรค์ ฯลฯ
2.5.คำที่ขึ้นต้นด้วย บัง บัน บำ บรร มักมาจากภาษาเขมร เช่น บังเกิด บังควร บันดาล บันเทิง บำนาญ บำเพ็ญ บรรทุก บรรเจิด ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น