วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประเพณีเนื่องในการเกิด :: เสฐียรโกเศศ เรื่อง โกนผมไฟ >>>

ประเพณีเนื่องในการเกิด :: เสฐียรโกเศศ เรื่อง โกนผมไฟ >>>
===>>   เมื่อเด็กมีอายุครบได้เดือนกับวัน (เห็นจะให้แน่ว่าครบเดือนบริบูรณ์จึงเติมเข้าอีกวันหนึ่ง) เป็นอันว่าล่วงพ้นอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งเข้าใจว่าผีเป็นผู้กระทำ ก็จัดการโกนผมไฟและทำขวัญเป็นพิธีใหญ่ออกหน้าออกตา ลางทีก็มีตั้งชื่อเด็กในตอนนี้ เป็นเรื่องรับรองเด็กที่เกิดใหม่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสกุล
===>>   การโกนผมไฟนั้น ต้องทำบัตรพลีสังเวยพระภูมิเจ้าที่ตามธรรมเนียม ผมที่โกนให้เหลือไว้ที่ขม่อมหย่อมหนึ่ง ว่ากันขม่อมซึ่งยังบางอยู่ ส่วนผมที่โกนแล้วบรรจุลงในกรรทง มีใบบัวหรือใบบอนรองก้น ลางทีก็มีดอกไม้ปนไปด้วย อย่างดีก็วางลงบนพานอีกที แล้วเอาไปลอยน้ำเวลาน้ำลงหรือเอาไปทิ้งแล้วแต่สะดวก ผู้เอาไปลอยต้องว่า ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขเหมือนแม่พระคงคา หรืออะไรอื่นในทำนองนั้น ในคัมภีร์ "คฤหยสูตร" ของอินเดีย กำหนดให้เอาผมที่ตัดหรือโกนแล้วไปซ่อนไว้ในโรงงัวหรือในสระ หรือในที่ใกล้น้ำที่เราเอาผมไปลอยน้ำเห็นจะได้คติอย่างหลังนี้มาจากอินเดีย จะเอาผมไปไว้ในโรงงัวอย่างชนิดต้นคงไม่สะดวกแก่เรา ต่อจากนั้นพวกญาติพี่น้องก็ทำพิธีเอาด้ายขวัญผูกข้อมือและข้อเท้าเด็ก และให้พรตามประเพณี หรืออย่างดีก็มีของขวัญให้เด็กด้วย ที่เล่านี้เป็นพิธีคนสามัญอันจะพึงทำกันได้ ถ้าเป็นคนมั่งมีหรือคนมีหน้ามีตาจะทำอย่างพิธีใหญ่ตามกำลังความสามารถและชาติชั้นของตน ก็ทำได้กล่าวคือต้องให้โหรหาฤกษ์กำหนดวันทำขวัญ ต้องมีเครื่องพิธีพราหมณ์และโหรบูชาฤกษ์ (โหรไปยืนบริกรรมอยู่ข้างศาลเพียงตาซึ่งวางบัตรพลีเครื่องสังเวยบริกรรมว่าอย่างไรบ้างไม่ทราบ ถามโหรเขาคงบอกได้) มีบัตรพลีต่างๆ (ดูเรื่อง บัตรพลี ของข้าพเจ้า) มีคนทำขวัญเรียกว่าแม่ซื้อเด็ก มีเวียนเทียนสมโภช ตลอดจนมีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในการนี้ ลางทีก็เอาหม้อรกที่เก็บไว้ มาเข้าพิธีด้วย พร้อมทั้งมะพร้าวเงินมะพร้าวทองสำหรับเอาไปปลูกเมื่อฝังรกแล้ว เรื่องที่เล่าแต่ย่อมานี้มีทำไม่ตรงกันทีเดียวลางรายก็มีเติมมีตัด เป็นเรื่องของเกจิอาจารย์มากกว่า
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เวลาเย็นเสร็จแล้ว รุ่งขึ้นเอาขันใหญ่ใส่น้ำพระพุทธมนต์มาจัดตั้งไว้ในพิธีมณฑล จัดให้เด็กผินหน้าไปสู่ทิศตามที่โหรกำหนดไว้ พอได้ฤกษ์เชิญท่านผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานในที่นั้นหลั่งน้ำมนต์ด้วยสังข์ลงที่ศีรษะเด็ก แล้วลงมือตัดผมด้วยกรรไกร ขณะนั้นพระสงฆ์สวดชยันโต ถ้ามีพราหมณ์ก็เป่าสังข์ไกวบัณเฑาว์ โหรก็บูชาฤกษ์ ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงอวยชัยให้พร เมื่อเสร็จพิธี มอบเด็กให้ผู้อื่นโกนผมไฟต่อไป เอาผมที่โกนใส่ลงในกระทงใบบอนหรือใบบัววางบนพานอีกที่หนึ่ง แล้วนำกระทงไปลอยน้ำ นี่เป็นเรื่องเล่าย่อๆ ของพิธีโกนผมไฟ อย่างพิธีพุทธกับไสยปนกัน โดยมากเป็นเรื่องของชาวกรุงผู้มีฐานะมั่งคั่งทำกัน มีพิธีกระจุกกระจิกมากนัก เล่าไม่ไหว ถึงที่เล่ามาแล้วอาจขาดตกบกพร่องหรือเข้าใจผิดไปบ้างในลางประการก็ได้ เพราะไม่มีความรู้พอจะเล่าได้ละเอียด เคยถามท่านที่มีความรู้เหล่านี้ ก็มักหวงแหนตำราไม่ยอมให้ยืมหรือให้ดู จะไปติท่านก็ไม่ได้ เพราะเป็นทางหากินของท่านรู้คนเดียวถึงทำผิดทำถูกก็ไม่มีใครทักท้วงท่านได้ ที่เล่านี้ เพราะโดนเข้ากับตัวเอง นึกอีกทีก็สงสัยขึ้นว่าถ้าจะไม่มีตำราจดเป็นหนังสือไว้ก็เป็นได้จึงบอกเสียว่าให้ยืมดูไม่ได้  เพราะธรรมเนียมไทย===>>   แต่ก่อนนี้ไม่สู้มีใครแต่งตำรา ถ้ามีก็มีแต่สิ่งที่จะจำไม่ได้ เช่น ตำรายาเป็นต้น แม้ผู้ถือตำราจะตายก็เอาตำราไปด้วยไม่ได้ ตำราจะต้องเหลือให้ปรากฏอยู่สืบไปไม่มีสูญ
เรื่องโกนผมไฟให้เหลือไว้หย่อมหนึ่งที่กลางขม่อม แล้วเลยปล่อยไว้จนผมยาว ก็เพื่อจะได้ไว้จุกและทำพิธีโกนจุกอีกครั้งหนึ่งเมื่อเด็กโตจวนจะเข้าเขตหนุ่มสาว เคยเห็นเด็กชาวจีนไว้ผมหย่อมหนึ่งที่ขม่อมนอกนั้นโกนเกลี้ยง แล้วลางทีไว้ผมแกละแหยมเดียวหรือสองแหยมก็มี ทำให้สงสัยว่าถ้าก้นขม่อมบาง ทำไมจึงไว้แกละด้วย ลางทีเอาไว้ผมหย่อมเลื่อนขึ้นไปพ้นขม่อมก็มี ไว้เป็นหย่อมที่ตรงขวัญผมก็มี ทำให้นึกไปถึงชาวชวามลายูลางพวก เมื่อเวลาโกนผมเด็กเขาเหลือเอาไว้หย่อมหนึ่ง ว่าเพื่อให้เป็นที่อยู่ที่พักของขวัญ ถ้าไม่มีผมเหลือเอาไว้ ขวัญจะไม่มีที่อยู่และหนีไปอื่นเสีย จะทำให้เด็กไม่สบายอาจถึงตายได้ แม้เกิดมีเหาจำเป็นจะต้องโกนผมทิ้ง ก็ยังไม่ยอมให้โกนทั้งหมด ต้องเหลือไว้แหยมหนึ่ง ว่าสำหรับให้ขวัญได้มีที่อยู่อาศัย เรื่องเอาไว้ผมที่กลางขม่อม ก็จะเป็นคติในทำนองเดียวกันเพราะขม่อมเด็กบางเห็นเต้นตุบๆ อยู่ เท่ากับว่าขวัญหรือชีวิตอยู่ตรงนั้น อินเดียเรียกตรงขม่อมว่า พรหมรันธร เพราะถือว่าเป็นที่ซึ่งอาตมันหรือวิญญาณของคนเข้าออกทางนั้น พวกโยคีเวลาจะตาย เขามักทุบขมองตอนนั้นให้แตก เพื่อช่วยให้อาตมันออกจากร่างไปได้สะดวก นี้ก็เป็นการคิดเห็นทำนองเดียวกัน ภายหลังใช้กะโหลกมะพร้าวห้าวแทนซึ่งเราก็ได้มา คือทุบมะพร้าวก่อนเผาศพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น