วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็กช่วง 2-3 ปี ...โตแล้วจ้า-หลากสไตล์นิสัยหนู

พัฒนาการเด็กช่วง 2-3 ปี ...โตแล้วจ้า-หลากสไตล์นิสัยหนู
*** ถึงอยู่ในวัยเตาะแตะกำลังเฮี้ยวเป็นจอมซน แต่ถ้าพ่อแม่รู้ใจ
       อ่านนิสัยประจำกายของเจ้าตัวเปี๊ยกออก ก็จะสามารถรับมือกับลูก
       ได้ง่าย ทั้งยังช่วยปรับ ช่วยเสริมให้ถูกทางมากขึ้น อย่าลืมสิคะว่า
        การเลี้ยงดูในวัยนี้มีผลกับอุปนิสัยที่จะติดตัวเด็ก ๆ ไปจนโต
       และนี่ก็คือสไตล์นิสัยทั้ง 5 ของหนู ๆ ที่น่าจะทำความรู้จักไว้ก่อนค่ะ

นิสัยแบบที่ 1. >>>>>>    ดื้อ ซน ไม่อยู่นิ่ง
ความซ่าส์และกำลังในตัวที่เหมือนถ่านอัลคาไลน์พลังมหาศาลของลูก
อาจเล่นงานพ่อแม่ให้เหนื่อยแทบหมดแรง
ก็หนู ๆ เขาโปรดปรานการวิ่งไปไหนต่อไหน ชื่นชอบการกระโดดโลดเต้น
หลงไหลการสำรวจรื้อค้น จะเห็นอยู่นิ่ง ๆ ก็เมื่อตอนสลบหมดฤทธิ์
หลับสบายบนที่นอนนั่นแหละ ถ้าจะให้อยู่แต่ในที่จำกัด เช่น เปล
หรือ CAR SEAT ก็มักจะหงุดหงิดอารมณ์เสียได้ง่าย ๆ
ก็ลูกวัยนี้ชอบที่จะได้ควบคุมทุกอย่างเองนี่คะ ทั้งกิน นอน เล่น
จะโมโหโกรธาเชียวล่ะหากถูกบังคับกะเกณฑ์ เพราะฉะนั้นกว่าจะยอม
วางมือจากของเล่นมาอาบน้ำหรือกินข้าว เข้านอน ก็เล่นเอาต้องออกแรง
ทั้งเรียกทั้งฉุดกันเหนื่อย
แถมเป็นพวกขี้เบื่อ ใจร้อน เห็นอะไรใหม่ ๆ ก็สนใจไปหมดด้วย

>>>>>>    อย่างนี้สิ... เข้าที
ไฟเขียวให้ใช้พลังได้เต็มที่ -
ความซุกซนอยู่ไม่นิ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ ซึ่งกำลังสนุกเพลิดเพลิน
กับอิสระ ที่ได้ทำทุกสิ่งตามใจปรารถนา (หลังจากกิน ๆ นอน ๆ ให้คน
ทำให้อยู่ตั้งนาน ตอนนี้ก็ถึงคราวแสดงพลังในตัวออกมาเสียที) คุณจึงควร
หาสถานที่ที่ปลอดภัยให้ลูกได้วิ่งเล่น ปีนป่าย เพราะกิจกรรมนี้นอกจากจะ
ช่วยพัฒนาเพิ่มทักษะในการเคลื่อนไหวของลูกให้คล่องแคล่วขึ้นแล้ว
ลูกยังได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย ที่สำคัญต้องสังเกตด้วยว่า
ลูกเล่นมากจนลืมเหนื่อย ลืมหิวหรือเปล่า
ถ้าเห็นลูกหอบหรือวิ่งเล่นนานแล้ว ก็ควรให้หยุดพักผ่อน
กินน้ำกินขนมเติมพลังบ้าง

ใจเย็น ลืมระเบียบไปบ้าง -
แม้ลูกยังทำตามสิ่งที่สอนได้ไม่ดีนัก ก็ไม่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่
หรือเอามาเป็นอารมณ์ เด็ก ๆต้องการการย้ำเตือน คุณควรจะค่อย ๆ
บอกค่อย ๆ สอน ให้ลูกทำตามอย่างสม่ำเสมอ ใจเย็น อย่าเพิ่งคาดหวัง
ว่าลูกจะนั่งเรียบร้อยบนโต๊ะอาหารได้นานนัก ทางที่ดีควรเลี่ยงกิจกรรม
ที่ต้องใช้เวลานานหรือกิจกรรมที่ลูกต้องนั่งนิ่งอยู่เฉยซึ่งเป็นเรื่องยาก
สำหรับจอมซนไปก่อน แล้วหากิจกรรมง่าย ๆ ที่ใช้เวลาไม่นาน
ให้ลูกได้ทำ เพื่อฝึกให้เริ่มคุ้นกับการนั่งติดที่
เช่น ภาพต่อง่าย ๆ ใช้เวลาเล่นสั้น ๆ
แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มความซับซ้อนและเวลาเล่นให้นานขึ้น

บอกล่วงหน้าให้รู้ตัว - 
ไม่ใช่ลูกไม่สนใจฟังสิ่งที่คุณพูด แต่ถ้าจะให้วางมือจากของเล่นชิ้นโปรด
ที่กำลังเพลินอยู่ตรงหน้าไปอาบน้ำทันทีตามคำสั่ง แกจะรู้สึกไม่พอใจ
เพราะถูกบังคับฝืนใจ และต่อต้านไม่ทำตาม
ฉะนั้นควรจะให้เวลาเตรียมตัว บอกล่วงหน้าให้รู้ก่อนที่จะต้องไปทำอะไร
เช่น "แม่กำลังทอดไข่เจียวของโปรดให้หนูอยู่ เดี๋ยวเก็บของเล่นแล้วไปกินไข่เจียวกันนะ"

นิสัยแบบที่ 2. >>>>>>    เจ้าอารมณ์ ก้าวร้าว
หนู ๆ กลุ่มนี้จะไม่เก็บความรู้สึกค่ะ คิดหรือรู้สึกอย่างไรก็แสดงออกมา
เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโมโห โกรธ ดีใจ เสียใจ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็ว บางทียิ้มอยู่ดี ๆ พอมีใครมาขัดใจก็อาจจะอาละวาด
หรือร้องโวยวายได้ ทั้งเรื่องเอาแต่ใจก็ไม่เป็นรองใคร
เกลียดนักเรื่องใครมาบังคับขัดใจ คิดอยากทำอะไรด้วยตัวเอง
แต่บางครั้งยังสื่อสารให้ผู้ใหญ่หรือคนอื่น ๆ เข้าใจไม่ได้ดี
ก็เลยหงุดหงิดโมโห หรือเรียกร้องความสนใจด้วยการเอะอะโวยวาย
จนดูเหมือนเป็นคนเจ้าอารมณ์ก้าวร้าวได้

>>>>>>    อย่างนี้สิ ... เข้าที
ให้พูดแทนอาละวาด - 
เมื่อลูกหงุดหงิด อารมณ์บ่จอย ก็ต้องใจเย็นและสอนให้ลูกใช้วิธี
พูดระบายความรู้สึกที่ไม่พอใจออกมา แทนการแสดงอารมณ์
ด้วยกิริยาท่าทาง ไม่ว่าจะเป็นกระทืบเท้า กรีดร้องโวยวาย
ตีหรือทำร้ายคนที่ไม่พอใจ เช่น เมื่อไม่พอใจที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้
ก็ให้พูดว่าโกรธที่แม่ไม่ซื้อตุ๊กตาที่อยากได้ให้ ไม่ใช่ร้องอาละวาด
กลางห้างฯอย่างนั้น สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกรู้ว่า
การใช้วิธีอาละวาด โวยวายไม่ได้ผล และเมื่อเด็กเรียกร้องความสนใจ
หรือเอาชนะคุณด้วยวิธีเดิมไม่ได้แกก็จะเลิกใช้วิธีนี้ไปเอง

มีมาตรการห้ามปราม - 
เมื่อลูกทำตัวไม่น่ารัก ต้องอธิบายให้รู้ว่าลูกทำไม่ดี
การทำให้คนอื่นเจ็บหรือเสียใจนั้นไม่ดีเลย หนูไม่ควรทำอีก
แต่ถ้าบอกแล้วยังไม่ดีขึ้น เราก็ต้องมีมาตรการ
ให้ลูกตัดสินใจเองว่าจะเลิกทำ หรือจะทำอีกแล้วถูกลงโทษ TIME OUT
หรือถูกตัดสิทธิพิเศษ เช่น ไม่ได้ไปกินไอศกรีมตามที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น
เรื่องนี้สำคัญ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและจริงจัง
ไม่อย่างนั้นลูกจะไม่เชื่อฟังและทำตามกติกาที่คุณตั้งไว้

เปลี่ยนสถานการณ์ หันเหความสนใจ - 
เมื่อลูกอารมณ์ไม่ดีหรือทำตัวเกเรไม่น่ารัก ทางหนึ่งที่ช่วยได้ คือ
การพาลูกออกจากสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นโดยเร็ว
เมื่อห่างจากสิ่งกระตุ้น อารมณ์ของทั้งลูกและตัวคุณเองจะกลับดีขึ้นได้
พยายามสังเกตวิธีลดความไม่พอใจหรือเสียใจที่โดนใจลูก
เพื่อจะได้ง่ายในการรับมือไงคะ

นิสัยแบบที่ 3. >>>>>>    อ่อนไหว ขี้กลัว
น้องหนูจะมีความรู้สึกไวกับปฏิกิริยาและสิ่งรอบตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
ท่าทางของคนอื่น รสชาติของอาหารที่กิน เสื้อผ้าที่ใส่
พ่อแม่จึงควรใส่ใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะเมื่อมีสิ่งผิดปกติ
หรือเปลี่ยนแปลงก็จะรับรู้ได้เร็ว หากต้องพบสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
แกจะต้องขอเวลาสักระยะในการปรับตัวกับคนแปลกหน้า
อาหารรสชาติไม่คุ้นลิ้น รวมไปถึงสถานที่แปลกตา
นอกจากนี้ลูกยังช่างคิดช่างฝัน ชอบจินตนาการ ค่อนข้างติดพ่อหรือแม่
และต้องการกำลังใจสนับสนุนจากผู้ใหญ่เมื่อต้องเผชิญสิ่งใหม่

>>>>>>    อย่างนี้สิ ... เข้าที
ไม้นวมได้ผลกว่า - 
เด็กที่อ่อนไหวต้องใช้วิธีพูดดี ๆ ชมเชยเป็นกำลังใจเป็นตัวกระตุ้น
จะได้ผลดีกว่าการบังคับเร่งรัด ให้เวลาเด็กปรับตัวกับสิ่งใหม่บ้าง
หากลูกกลัว ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาสิ่งที่คลายความกังวล
หรือลดความกลัว เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด หมอน มาเป็นผู้ช่วยบ้างก็ดี

เพิ่มประสบการณ์ให้คุ้นเคย - 
พยายามช่วยเพิ่มความมั่นใจลดความกังวลความกลัวให้ลูก
ด้วยการพาไปเที่ยวเปิดหูเปิดตาพบคนใหม่ ๆ ของใหม่ ๆ ให้บ่อยขึ้น
แต่อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้เวลาเตรียมตัวหรือบอกให้ล่วงหน้า
ว่าแกจะได้พบคนใหม่ของใหม่ จะได้ไม่อึดอัดมากนัก ความช่างสังเกต
เก็บละเอียดอาจจะทำให้เหมือนหนูจู้จี้ ขี้บ่น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่
ที่ใกล้ชิดต้องเข้าใจกันหน่อย และช่วยจัดการให้อย่างเหมาะสม

นิสัยแบบที่ 4. >>>>>>    หัวอ่อน ว่าง่าย
เมินซะล่ะเรื่องพิษสง เด็กกลุ่มนี้จะพูดง่าย หัวอ่อน เชื่อฟัง ไม่เถียง
ไม่ยอกย้อนหรือค้อนวงใหญ่อวดเหมือนคนอื่น พัฒนาการด้านต่าง ๆ ดี
กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีปัญหา
หนำซ้ำยังกระตือรือร้นสนใจสิ่งรอบ ๆ ตัว ปรับตัวกับสิ่งใหม่ได้ดี

>>>>>>    อย่างนี้สิ ... เข้าที
ไถ่ถามกันหน่อย - 
เพราะนิสัยง่าย ๆ ไม่เรื่องมากประจำตัว อาจทำให้พ่อแม่มองข้าม
ความคิดความรู้สึกของหนู ๆ ไปได้ ทางที่ดีควรจะสอบถามกัน
สักหน่อยว่า ลูกชอบหรือได้ในสิ่งที่ต้องการหรือเปล่า
เพราะความง่าย ๆ ไม่เรื่องมาก
ไม่ได้หมายความว่าลูกไม่อยากได้ความพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงเหมือนคนอื่น ๆ เขานะคะ

เสริมจุดเด่น - 
ความที่ปรับตัวได้ดีไม่เรื่องมาก อาจทำให้หนู ๆ ตามใจคุณพ่อคุณแม่
และคนอื่น ๆ รอบตัวจนไม่ค่อยได้คิดหรือตัดสินใจเอง อย่างนี้ไม่ดีแน่
พ่อแม่ต้องพยายามเปิดโอกาสให้ลูกคิดตัดสินใจด้วยตัวเองด้วย
อาจเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ง่าย ๆ
เช่น อยากกินอะไร ชอบของเล่นสีไหน เพื่อเพิ่มความกล้าคิดกล้าตัดสินใจให้ลูกมากขึ้น

นิสัยแบบที่ 5. >>>>>>    เฉย ๆ ชอบอยู่กับตัวเอง
กลุ่มสุดท้ายนี้เขาไม่ค่อยจะวุ่นวายกับใคร ชอบอยู่เงียบ ๆ ทำกิจกรรมตามลำพัง
ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ปรับตัวไม่เก่ง ท้อแท้ได้ง่าย
ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความสุขที่ได้อยู่กับตัวเอง

>>>>>>    อย่างนี้สิ ... เข้าที
ให้ทำกิจกรรมที่โปรดปราน - 
ควรฉกฉวยประโยชน์จากการที่ลูกยอมนั่งติดที่ ไม่เที่ยววิ่งซนไปไหน
ไปกับการทำกิจกรรมที่ต้องการสมาธิและความเงียบ
เช่น อ่านหนังสือ วาดภาพ เล่านิทาน เล่นเกมที่ต้องใช้สมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกชอบ

กระตุ้นให้เล่นกับคนอื่น -
การทำกิจกรรมนอกบ้าน ที่ได้วิ่งเคลื่อนไหว พบกับเพื่อนเด็ก ๆ วัยใกล้กัน
ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกต้องปรับตัวและเรียนรู้
ต้องเสริมกิจกรรมนอกบ้านเหล่านี้ให้ลุกได้ลองทำมากขึ้น
แต่ก็อย่าลืมว่าต้องทำทีละน้อยไม่ผลีผลามเกินไป
พยายามเริ่มจากสิ่งที่ลูกชอบก่อน เช่น พาไปวาดภาพที่สนามเด็กเล่นก่อน
แล้วค่อย ๆ ชักชวนให้เริ่มเล่นกับคนอื่น ๆ เป็นต้น

ชมเชยให้กำลังใจ - 
เมื่อลูกทำสิ่งใหม่ ๆ ได้สำเร็จต้องให้กำลังใจ ช่วยเหลือและสนับสนุน
ซึ่งพ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกทำบ่อย ๆ
เพื่อเพิ่มพูนทักษะจนลูกเกิดความมั่นใจและสามารถปรับตัวได้ดี

ได้รู้จักวิธีรับมือนิสัยของหนู ๆ กันอย่างนี้แล้ว
การเลี้ยงลูกก็ไม่ใช่เรื่องวุ่นและยุ่งอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น