วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาการเด็ก 3-6 ปี โตแล้วจ้า-คู่หูล่องหน

พัฒนาการเด็ก 3-6 ปี โตแล้วจ้า-คู่หูล่องหน
เพื่อนโรงเรียนอนุบาลของลูก แม่ว่า แม่รู้จักทุกคนเลยนะ
แต่เอ... เพื่อนคนนี้แปลก
เห็นลูกชอบคุยด้วย เล่นด้วย แต่มองไปทีไร ก็ไม่เห็นมีใคร
 ... เอ๋ หรือว่า...
ไม่ต้องตกใจค่ะ เพื่อนใหม่คนนี้ของลูกก็คือ คู่หูในจินตนาการนั่นเอง

คู่หูล่องหนที่ว่าก็คือเพื่อนสมมติที่เจ้าตัวเล็กวัยอนุบาลสร้างขึ้น
โดยเฉพาะสมาชิกอนุบาลหมาด ๆ 3-4 ขวบจะพบบ่อยสักหน่อย
ถือเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ
อายุอานามของเพื่อนคนนี้ส่วนใหญ่ก็จะใกล้เคียงกับเด็ก ๆ
อาจมีคนเดียวหรือหลายคน
รูปร่างหน้าตา ชื่อเสียงเรียงนามก็แล้วแต่เจ้าตัวเล็กจะคิดจะเรียกเอา
ซึ่งปกติก็จะเป็นแบบที่แกชื่นชอบ อาจมาจากตัวละครในนิทานที่ชอบ
หรือที่คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟังบ่อย ๆ ค่ะ

ลูกและเพื่อนที่แตกต่าง
เด็กแต่ละคนก็มีเพื่อนสมมติคนละแบบตามบุคลิกของแกค่ะ
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจได้รู้จักเพื่อนคนนี้ในแบบที่ไม่ซ้ำกันเลย อย่างเช่น...

===>>>   น้องอั๋น วัย 4 ขวบ แนะนำเพื่อนใหม่ให้พ่อแม่รู้จักว่า...
                 เขาเป็นพี่ชาย อาศัยอยู่ในป่า มีมีดเล่มใหญ่และหอกด้วย
                 แล้วก็รู้จักสัตว์ต่าง ๆ มากมาย เขาสนุกสนานร่าเริง รอบรู้
                 แล้วก็มีความสามารถพิเศษมากมาย... ซึ่งเป็นบุคลิกแบบที่แกใฝ่ฝันอยากเป็น

===>>>   ส่วนน้องพลอย วัย 3 ขวบ ก็แนะนำเพื่อนสมมติให้พ่อแม่รู้จักเหมือนกัน
                มีตั้งหลายคน แต่มาทีละคน เปลี่ยนหน้า เปลี่ยนบุคลิกกันไป
                แล้วยังบอกพ่อแม่ได้อีกแน่ะว่าเพื่อนคนนี้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
                และต้องการอะไร บางทีก็มีเตือนแม่ด้วยนะว่าเรายังออกไปไม่ได้
                เพราะเพื่อนของแกยังไม่ได้ใส่รองเท้าเลย

===>>>   ตรงข้ามกับ น้องโอ๊ต วัย 3 ขวบ ซึ่งเป็นลูกคนเดียว
                น้องโอ๊ตก็มีคู่หูล่องหนเช่นกัน แต่เป็นแบบส่วนตั๊วส่วนตัว
                แม่บอกว่าแกไม่ค่อยพูดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้มากนัก
                และดูเหมือนว่าเพื่อนของแกไม่ได้เป็นตัวเป็นตนชัดเจนด้วย

ความแตกต่างของบรรดาเพื่อนสมมติดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนค่ะว่า
เพื่อนสมมติมักเกิดจากความต้องการและพลังจินตนาการเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน
ซึ่งไม่ได้เป็นตัววัดว่าเด็กมีปัญหาหรือผิดปกติอะไร

เพื่อนสมมติ...คนนี้สำคัญ
เพื่อนสมมติเป็นเหมือนพี่เลี้ยงของเด็ก ๆ ที่จะช่วยฝึกทักษะเพื่อจัดการปัญหาต่าง ๆ
โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มชั้นอนุบาลใหม่ ๆ
ซึ่งต้องเรียนรู้และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ นอกบ้าน
แล้วยังต้องเรียนรู้ และค้นหาความเป็นตัวของตัวเองด้วย

ปรับตัวสู่โลกใบใหญ่
เพราะการเข้าอนุบาลเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่
และครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของเด็กน้อย ที่ต้องอาศัยการปรับตัวกับสิ่งใหม่ ๆ ที่พบ
ทั้งคุณครู เพื่อนใหม่ สถานที่ใหม่ซึ่งไม่ใช่บ้าน แต่เมื่อไม่มีประสบการณ์
เจ้าหนูก็ต้องหันหน้าหาผู้ช่วย กับพ่อแม่เองก็ไม่รู้จะปรึกษายังไง
ก็เลยสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมา
เพื่อนคนนี้จะร่วมสถานการณ์สมมติที่เป็นข้อข้องใจของเจ้าหนูเพื่อทดลองแก้ไข
และหาทางออกจากสถานการณ์นั้น ๆ

เมื่อหนูถูกเรียกร้อง
เพราะเด็ก ๆ เริ่มมีสังคมนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มเรียกร้องให้ลูกทำตัวดี ๆ
พูดจาเพราะ ๆ รู้จักแบ่งปัน แต่ด้วยความที่ยังเด็กก็อาจทำไม่ได้ดี ทำให้ถูกตำหนิ
แกก็เลยสร้างเพื่อนสมมติที่โตกว่า ทั้งหัวดื้อบังคับยาก และมักเจอปัญหาเสมอขึ้นมา
เพื่อเป็นการถ่ายปัญหาของตัวเองลงไปในตัวเพื่อนคนนี้ ผ่านการเล่นสมมติ
ซึ่งจะมีเรื่องกฎระเบียบของพ่อแม่ และการฝีนกฎอยู่ด้วย
อาจคุยกันถึงเรื่องที่เด็ก ๆ ถูกตำหนิ หรืออาจสมมติว่าเพื่อนล่องหนของแก
อนุญาตให้ทำสิ่งที่พ่อแม่ห้ามได้ ซึ่งจะไม่มีปัญหากับพ่อแม่ในชีวิตจริง
และบางครั้งความแตกต่างของอายุยังช่วยให้เจ้าหนูรู้สึกสบายใจว่า
ตัวเองยังเล็ก ไม่จำเป็นต้องทำได้ดีนักก็ได้

ก็หนูโดดเดี่ยว
เพราะเป็นลูกคนเดียว เป็นลูกคนแรกสุด หรืออายุห่างจากพี่น้องมาก
เจ้าหนูเลยไม่มีเพื่อนคู่คิดที่เข้าอกเข้าใจหัวใจดวงน้อย
เพื่อนสมมติจึงเป็นฮีโร่ที่ปรากฎตัวขึ้น

เพื่อนสมมติ...คนนี้ดีจัง
* รับมือเรื่องเครียด 
เพื่อนล่องหนเกิดขึ้นเพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้และแก้ปัญหา
ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาแค่เบื้องต้น แต่ก็ช่วยให้เด็ก ๆ รับมือกับเรื่องเครียด ๆ ได้บ้าง
ไม่ว่าเรื่องเข้าโรงเรียน เพื่อนสนิทข้างบ้านย้ายไป หรือเรื่องการตายก็ตาม
แต่ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยนะคะ

* สื่อกลางเชื่อมสายใย
การสื่อสารผ่านเพื่อนสมมติของเด็ก ๆ ยังเปิดโอกาสให้แก
ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันความรู้สึกกับคุณพ่อคุณแม่
ซึ่งปกติเจ้าหนูอาจไม่สะดวกใจที่จะแสดงออก

*สร้างเสริมลักษณะนิสัย
การได้พูดคุยแสดงความคิด ความรู้สึกผ่านเพื่อนสมมติ
ทำให้เด็ก ๆ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ยิ้ม หัวเราะ มีความสุขง่ายขึ้น
และยังเรียนรู้ที่จะแบ่งปันช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือมากขึ้นด้วย

* เสริมทักษะ
เด็กที่มีเพื่อนสมมติมักมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการกว้างไกล
และมีทักษะทางภาษาที่ดี จากการได้คิดและพูด

*ย่างก้าวสู่ชีวิตจริง
โลกแห่งความฝันและจินตนาการส่วนตัว
ทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสทดลองสวมบทบาทใหม่ ๆ
และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชีวิตที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสม
และเก็บเป็นประสบการณ์เพื่อใช้ในชีวิตจริงเมื่อเผชิญปัญหา

กุญแจสู่โลกใบเล็ก
เราพ่อแม่จะเข้าใจเรื่องราวในโลกของเด็ก ๆ ได้
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่แสดงออกผ่านการเล่น และเรื่องที่แกพยายามทำความเข้าใจ
ด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังเรื่องของเพื่อนล่องหนของลูก
ตรงกันข้ามถ้าไม่ยอมรับรู้ความจริงเรื่องเพื่อนคนนี้ของเจ้าตัวเล็ก
ก็เท่ากับปิดประตูเชื่อมระหว่างเรากับลูกเลยทีเดียว

"อิน" เกินไปไม่ดี
ขณะที่รับฟัง
พ่อแม่ไม่ควรมีท่าทีกระตือรือร้นที่จะยอมรับเพื่อนสมมติของลูกจนเกินเหตุ
เพราะจะทำให้ลูกสับสน ต้องไม่ลืมว่าลูกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในตัวเพื่อนคนนี้
ทั้งเป็นผู้ควบคุมเพื่อนสมมติของแกทุกอย่างอย่างเต็มที่
ถ้าคุณดึงเอาเพื่อนรู้ใจของลูกมาเป็นเพื่อนซี้ของคุณด้วย
ก็นั่นเท่ากับเป็นการดึงอำนาจควบคุมนั้นมาจากลูก
ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงและจินตนาการในความเข้าใจของลูกเลือนหายไป

เมื่อไหร่ที่ต้องห่วง?
ปกติแล้วแทบจะไม่ต้องห่วงเลยค่ะ
ถ้าสังเกตว่าลูกแค่จะพูดผ่านเพื่อนของแกทุกครั้งที่อยากบอกอะไรคุณ
ก็หมายความว่าแกรู้สึกไม่สะดวกนักที่ต้องพูดกับพ่อแม่
เราพ่อแม่ก็แค่เขยิบเข้าหาลูกมากหน่อย
แต่เมื่อไหร่ที่ลูกร้องไห้กลับจากเนิร์สเซอร์รี่ทุกวัน
และพึ่งพาเพื่อนสมมติของแกมากเกินไป
นั่นละถึงเวลาที่เราต้องค้นหาต้นตอและแก้ไขกันแล้ว

ถ้าลูกของคุณมีเพื่อนสมมติสักคน
ให้สบายใจได้เลยค่ะว่าลูกยังมีความสุขดีอยู่
ซึ่งอีกไม่นานเพื่อนสมมติคนนี้ก็จะค่อย ๆ จากไปด้วยดี
และทิ้งสะพานเชื่อมที่แข็งแกร่งระหว่างโลกใบเล็ก
และโลกภายนอกให้เป็นสมบัติของลูกรักของเราอย่างถาวร

คุยดี ๆ ต้องมีเทคนิค
* อย่าคิดมาก
บางครั้งเด็ก ๆ อาจแสดงอารมณ์ในด้านลบ
เช่น โกรธ หรือเศร้า ผ่านเพื่อนสมมติของแกบ้างเป็นธรรมดา
บางทีก็แค่ทดลองความคิดความรู้สึกที่เคยรับรู้หรือสัมผัสมาจากคนอื่นดูเท่านั้นเอง
ถ้าเรากังวลกับอารมณ์กระเซ็นกระสายนี้มากเกินไป
รังแต่จะทำให้เด็ก ๆ กังวล และค่อย ๆ ถอยห่างเราไปมากกว่า

*รับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง
ยิ่งคุณยอมรับการพูดคุยกับลูกผ่านเพื่อนสมมติ
ก็จะยิ่งทำให้แกรู้สึกว่าได้คุยกับคุณโดยตรงมากขึ้น
ทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างคุณกับลูกเป็นไปอย่างอิสระและเปิดกว้าง
ก็คือเป็นผู้ฟังที่ดี โดยทำตัวให้เป็นเด็กอยู่ระดับเดียวกับลูก มองตาแก
และแสดงความสนอกสนใจให้น้อยที่สุด และรอฟังว่าแกจะพูดอะไรอีก
บ่อยครั้งที่การกระทำแค่นั้นก็เพียงพอสำหรับขั้นเริ่มต้นแล้ว

* ทำให้การพูดคุยเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูก
บางครั้งลูกก็รู้สึกอึดอัดที่จะอธิบายความรู้สึกหรือคำพูดของเพื่อนสมมติอย่างละเอียด
ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณควรค่อย ๆ ป้อนคำถามในเชิงสนับสนุนอย่างใจเย็น
เช่น "ดูเหมือนน้องส้ม (เพื่อนสมมติของลูก) จะโกรธคุณครูนะ
เล่าให้แม่ฟังอีกหน่อยได้มั้ยลูก"
ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อกระตุ้นลูก ไม่ใช่เพื่อซักไซ้ไล่เลียง
และอย่าพูดจาคาดเดาไปก่อน
เพราะนั่นจะทำให้ลูกรู้สึกกดดันให้ต้องตอบคำถามที่
"ถูกต้อง" หรือ "สงสัยว่าตัวเองทำอะไรผิดรึเปล่า"
แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็จะทำให้ลูกเปิดใจน้อยลงและพูดไม่ตรงกับใจมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น