วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เมื่อแคลเซียมเกาะ...นม

เมื่อแคลเซียมเกาะ...นม

Calcification หรือการที่มีแคลเซียมมาเกาะที่เต้านมนั้นจะเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ
สีขาวในแมมโมแกรมครับ และไม่จำเป็นจะต้องคลำได้เป็นก้อนด้วย
เพราะสาเหตุที่พบร่วมกับแคลเซียมนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นก้อนเนื้องอกแต่อย่างใดครับ
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการบาดเจ็บของเต้านมมาก่อน จากการกระแทกหรือผ่าตัด
ก็ทำให้เกิดแคลเซียมบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บได้
สิ่งแปลกปลอมเช่น ไหมที่ใช้เย็บผิวหนังบริเวณนั้น
หรือสิ่งแปลกปลอมที่ใครบางคนเต็มใจให้ใส่เข้าไปเพื่อให้เป็นที่สะดุดตา
(อืม...อันหลังนี้เป็นที่นิยมทำกันมากนะครับ) ก็เป็นต้นเหตุของแคลเซียมเกาะที่เนื้อเต้านมครับ
แคลเซียมอาจไปเกาะที่เส้นเลือดในเต้านมอันแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางชราภาพของเส้นเลือดก็ได้ครับ
นอกจากนี้แล้วเนื้องอกธรรมดาของเต้านม ถุงน้ำที่เต้านม
หรือแม้กระทั่งความผิดปกติของผิวหนังที่เต้านม
ก็อาจทำให้พบแคลเซียมเกาะในรูปถ่ายแมมโมแกรมได้ทั้งนั้น
สุดท้ายก็เป็นสิ่งที่กลัวกันที่สุดครับ ก็คือมะเร็งเต้านม
อาจจะพบกลุ่มแคลเซียมที่ผิดปกติบริเวณเต้านมได้
ที่ผมบอกว่าอาจจะก็เพราะว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่มะเร็งเต้านมจะต้องมีแคลเซียมมาเกาะครับ
และเนื่องจากหลาย ๆ สาเหตุดังกล่าวนั้นมีโอกาสพบมากขึ้นตามอายุครับ
มีผู้ทำการศึกษาพบว่าในช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี พบแคลเซียมเกาะที่เต้านมไม่ถึงร้อยละ 10 ครับ
ในขณะที่ถ้าอายุเกิน 70 ปีแล้ว พบแคลเซียมบริเวณเต้านมได้มากกว่าร้อยละ 80 เชียวครับ
จะเห็นได้ว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดแคลเซียมเกาะที่เต้านม 
เป็นเรื่องโชคดีที่สาเหตุของแคลเซียมเกาะที่เต้านมนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่เพราะเกิดจากมะเร็ง
มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นครับที่เป็นจากมะเร็งเต้านม
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางรังสีวิทยาจะเป็นคนอ่านฟิล์มแมมโมแกรมแล้วให้ความเห็นว่า
จุดขาว ๆ ในฟิล์มที่เห็นนั้น (ก็แคลเซียมอย่างไรเล่าครับ) เหมือนเนื้อร้ายมากแค่ไหน
พร้อมกับคำแนะนำในการปฏิบัติต่อบริเวณดังกล่าวอย่างไร
เช่น ถ้าแคลเซียมนั้นไม่มีลักษณะที่สงสัยมะเร็งเลย ก็จะบอกว่าไม่ต้องทำอะไร
หรืออาจแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมซ้ำภายในหกเดือนต่อมา
แต่ถ้ามีลักษณะที่ทำให้สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อร้าย
ก็จะแนะนำให้ตัดบริเวณที่มีแคลเซียมเกาะมาตรวจ ซึ่งถ้าบริเวณดังกล่าวเล็กมาก ๆ
(เพียงไม่กี่มิลลิเมตร) อาจต้องทำเครื่องหมายบริเวณดังกล่าวด้วยเข็มเล็ก ๆ ไว้
แล้วส่งให้ศัลยแพทย์ตัดบริเวณปลายเข็มที่สงสัยออกมาตรวจ จะได้ไม่จับผู้ร้ายผิดตัวครับ

คำถามที่ผมมักจะเจอระหว่างที่อธิบายผลการตรวจแมมโมแกรมกับคุณผู้หญิงก็คือ
ส่วนใหญ่แล้วเข้าใจผิดว่าเกิดจากการรับประทานแคลเซียมมากเกินไป
ซึ่งไม่มีความจริงแต่อย่างใดครับ
อีกอย่างคือคิดว่าจะมียาไปละลายแคลเซียมเหล่านี้ได้ ซึ่งก็ไม่จริงอีกเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น