วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผิวแม่ท้อง ต้องดูแลนะจ๊ะ

ผิวแม่ท้อง ต้องดูแลนะจ๊ะ
ในช่วงตั้งครรภ์นั้น ว่าที่คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง
และโรคผิวหนังเกิดขึ้นได้หลายอย่างครับ
แต่โดยทั่วไปหากได้รับอาหารที่เหมาะสม มีการพักผ่อน
หรือออกกำลังกายที่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ก็จะสามารถกลับสู่สภาพปกติได้ ภายใน 2-3 เดือนหลังคลอด

อย่างไรก็ตาม ผิวพรรณที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์นี้
แม้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลนัก แต่ก็ควรมีความรู้และเข้าใจไว้บ้าง
เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันและรักษาครับ

ฝ้า กระ ไฝ ปาน 
พบว่าฝ้า กระ และไฝ ปาน มักมีสีเข้มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ครับ โดยเฉพาะฝ้า
ว่าที่คุณแม่บางคนเริ่มมีครั้งแรกก็ในช่วงนี้ล่ะ
ซึ่งตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือที่หน้าผาก แก้ม เหนือริมฝีปาก และตำแหน่งอื่น ๆ บนใบหน้า

หากเกิดฝ้าขึ้นมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด เพราะจะทำให้ฝ้าเข้มขึ้น
และควรทาครีมกันแดดที่มีค่าการป้องกันแสงแดด (SPF) เป็น 15 หรือมากกว่านั้น

แต่ถ้าจะใช้ยาทาฝ้าระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องระวังครับ
เพราะส่วนผสมในยาทาฝ้าอาจทำให้แพ้ได้ง่าย นอกจากนี้ส่วนผสมบางตัว
อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและมีผลต่อทารกในครรภ์ได้
โดยทั่วไปฝ้าที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์
มักจางหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
ดังนั้นหากฝ้าไม่จางค่อยปรึกษาหมอเรื่องใช้ยาดีกว่าครับ

ผิวสีคล้ำ
ร้อยละ 90 ของผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีผิวสีคล้ำขึ้น
บริเวณที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ บริเวณรอบหัวนม เส้นกลางท้อง รักแร้ อวัยวะเพศ
และรอบ ๆ ทวารหนัก ซึ่งทั่วไปหลังคลอดมักจางลงได้เอง
ยกเว้นผิวคล้ำที่รอบหัวนมและเส้นกลางท้องที่คงอยู่ตลอดไป

และช่วงนี้ หากคุณแม่เกิดแผลเป็นขึ้นมาก็จะมีรอยดำได้ง่ายกว่าปกติ
เพราะระหว่างตั้งครรภ์มีการเพิ่มของระดับฮอร์โมนที่ทำให้สีผิวเข้มขึ้นมาก
ดังนั้นผู้หญิงท้องจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดบาดแผลขึ้นตามร่างกาย
ตลอดจนไม่ควรบีบแกะสิว เพราะจะเกิดผลเป็นดำดังกล่าว

ขน
แม่ตั้งครรภ์บางท่านอาจมีขนขึ้นตามใบหน้า
ที่บริเวณเหนือริมฝีปาก คาง แก้ม แขนขา และหลัง
รวมทั้งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และเส้นกลางท้องขนก็อาจขึ้นดกได้
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนนั่นเอง
แต่ก็จะหลุดร่วงไปใน 6 เดือนหลังคลอดครับ

คันผิว
ระหว่างตั้งครรภ์อาการคันผิวหนังจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าปกติ
ซึ่งส่วนใหญ่หากใช้ครีมทาให้ความชุ่มชื้น อาการคันจะลดลง
เรื่องนี้มีหลายท่านเข้าใจผิดคิดว่าอาการคันเกิดจากผิวสกปรก
จึงมักไปหาซื้อสบู่ยามาฟอก ซึ่งทำให้ผิวหนังแห้งและระคายเคืองเข้าไปใหญ่
ผลก็เลยยิ่งคันมากขึ้น ทางที่ดีควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ไม่ควรซื้อยามากินหรือทาเองเพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ครับ

ท้องลาย
ร้อยละ 80 ของแม่ตั้งครรภ์อาจเกิดผิวแตกลายที่เรียกว่าท้องลายได้
เริ่มแรกผิวแตกลายนี้จะเป็นรอยสีม่วงหรือสีแดง มักเกิดที่เต้านมและท้อง
สืบเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นขณะท้องมากกว่าเกิดจากการที่ผิวหนังยืดขยายตัว
ท้องลายนี้ไม่มีครีมตัวใดที่จะลดการเกิดได้ครับ
จึงไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาและเสียเงินเพื่อซื้อครีมราคาแพงมารักษาหรือป้องกันท้องลาย
หากผิวแตกลายมีอาการคันอาจใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาเพื่อลดอาการคันลงจะดีกว่า

ไฝแดง
ระหว่างตั้งท้องพบว่าผู้หญิงหลายคนจะมีเส้นเลือดขยายตัวเห็นเป็นแผลไฝแดง
มีกิ่งก้านสาขาคล้ายใยแมงมุม มักเกิดตามใบหน้า คอและหน้าอก
ไฝแดงเหล่านี้จะค่อย ๆ จางหายไปหลังคลอดครับ

เล็บเปราะ
ขณะตั้งครรภ์หลายคนจะมีเล็บเปราะหักง่าย
จึงควรตัดเล็บให้สั้นและระมัดระวังเวลาใช้มือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ

ผมร่วง
ส่วนใหญ่เป็นหลังคลอดลูกแล้ว และมักทำให้ผู้หญิงเกิดความวิตกกังวล
กลัวว่าผมจะไม่งอกกลับขึ้นมาใหม่
ซึ่งจริง ๆ แล้วผมร่วงหลังคลอดจัดเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติครับ
โดยผมจะค่อย ๆ งอกกลับขึ้นมาใหม่ในทุกราย
จึงไม่ควรวิตกกังวล เพราะความวิตกกังวลและความเครียดทำให้ผมร่วงได้

ติ่งเนื้อเล็ก ๆ
พบบ่อยว่าหญิงมีครรภ์อาจเกิดติ่งเนื้อเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง
โดยเฉพาะที่ข้างใบหน้า ลำคอ หน้าอกด้านบนและใต้ราวนม
ติ่งเนื้อเหล่านี้มักมีขนาดเล็กลงหรือหายไปได้เองหลังคลอด
ถ้าไม่หายจะทิ้งไว้ก็ไม่เป็นอันตรายครับ แต่ถ้าทนความรำคาญไม่ไหว
หลังคลอดแล้วก็อาจไปพบแพทย์เพื่อใช้กรรไกรตัดออกหรือใช้ไฟฟ้าจี้ก็ได้นะครับ

กลิ่นตัว
โดยทั่วไปร่างกายของแม่ตั้งครรภ์จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงทำให้เหงื่อออกง่าย
ก็เลยอาจเกิดกลิ่นตัวตามมา
ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการหมั่นอาบน้ำชำระร่างกาย
ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งบางและหลวม
นอกจากนั้นการที่ผิวหนังเปียกชื้นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
ถ้ามีผื่นแดงเกิดขึ้นและมีอาการคันร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
เพราะนอกจากอาจเกิดจากเชื้อราแล้ว บางครั้งอาจเป็นโรคผิวหนังชนิดเฉพาะ
ที่พบในการตั้งครรภ์ (specific dermatoses of pregnancy)
ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการรักษาที่เหมาะสม

โรคสิวกำเริบ ระวังยาแก้สิว
แม่ตั้งครรภ์บางรายอาจเป็นโรคสิวกำเริบขึ้นได้
ซึ่งการใช้ยาต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ

โดยทั่วไป คนไทยมักมองว่าโรคสิวเป็นแค่ความสวยงาม
เมื่อมีปัญหาก็หาซื้อยามาใช้เองหรือปรึกษาช่างเสริมสวย แต่แท้ที่จริงแล้ว
วงการแพทย์ทั้งของต่างประเทศและของไทยจัดว่าสิวเป็นโรคอย่างหนึ่ง
ในสหรัฐอเมริกาพบว่าสิวเป็นโรคอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ผิวหนัง
ซึ่งการเกิดสิวนั้นมีสาเหตุกระตุ้นได้หลายอย่าง และหลายระดับความรุนแรง
หากเป็นแค่สิวอุดตัน ก็อาจใช้แค่ยาทา หากเป็นสิวที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย
ก็ต้องวินิจฉัยโรคว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก, กรัมลบ
หรือเชื้อยีสต์ ซึ่งจะตอบสนองต่อยาต่างชนิดกัน

ยารักษาสิวที่ทำให้ทารกพิการนี้ได้แก่ยากลุ่มกรดวิตามินเอ (isotretinoin)
ยาตัวนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเท่านั้น
เพราะมีข้อบ่งชี้ในการใช้ชัดเจน คือใช้เฉพาะในสิวที่รุนแรงคือสิวหัวช้าง
สิวที่ดื้อต่อการใช้ยาปฏิชีวนะ และสิวที่ทำให้เกิดแผลเป็นอย่างรุนแรงบนใบหน้า
ทั้งนี้เพราะยาตัวนี้ราคาแพงและมีข้อแทรกซ้อนสูง
คือทำให้ริมฝีปากแห้ง ตาแห้ง ปวดหัว ปวดข้อ ไขมันในเลือดสูง
และทารกในครรภ์พิการอย่างมาก คือทำให้หัวโตหรือหัวเล็กผิดปกติ
ใบหน้าและนัยน์ตาผิดปกติ ปัญญาอ่อน และหัวใจผิดปกติ
ผู้ป่วยที่ได้รับยาตัวนี้จึงต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือนก่อนได้รับยา
ไม่ตั้งครรภ์ระหว่างรับยาและต้องหยุดยาจนครบครึ่งเดือน จึงจะตั้งครรภ์โดยปลอดภัย
ต้องไม่นำยาไปแจกจ่ายให้ผู้อื่นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
และต้องไม่บริจาคเลือดระหว่างรับยา
ส่วนที่มีผู้กล่าวว่ายาตัวนี้ทำให้เต้านมแฟบและมดลูกแห้งนั้น
ยังไม่มีรายงานมาก่อนว่ามีผลแทรกซ้อนดังกล่าวจริง

ส่วนยารับประทานเตตร้าไซคลิน (tetracycline) ซึ่งเป็นยาทั่วไปที่ใช้รักษาสิว
ก็ไม่เหมาะที่จะใช้ในแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นสิว เพราะมีผลเสียต่อตับของแม่
ทำให้ฟันน้ำนมของลูกมีสีเหลือง และมีความผิดปกติเกิดในลูกได้

การโฆษณาการใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวนั้น โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยครับ
เพราะยาตัวนี้เหมาะจะใช้เฉพาะในเพศหญิงที่มีสิวเห่อ สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน
นอกจากนั้นการกินยาคุมกำเนิดยังก่อผลข้างเคียงได้มากมาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
น้ำหนักเพิ่ม ประจำเดือนผิดปกติ ซึมเศร้า และเป็นฝ้า
ทั้งยังห้ามใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิวในผู้ชาย ในเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 16 ปี
ในสตรีมีครรภ์ ในสตรีสูงอายุที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดและมีเส้นเลือดขอดด้วย

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณยามตั้งครรภ์นั้น
ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล หลังคลอดก็มักจะดีขึ้นเอง
แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องครับ
****************************
น.พ.ประวิตร พิศาลบุตร
****************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น