วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไทรอยด์ขึ้นตา โรคนี้มีจริงหรือ

ไทรอยด์ขึ้นตา โรคนี้มีจริงหรือ

ถ้าพูดถึงไทรอยด์ทุกคนมักนึกถึงก้อนบริเวณคอ
ในอดีตคนไทยขาดไอโอดีนกันมาก ก็เลยเกิดโรคคอพอก หรือต่อมไทรอยด์บริเวณคอนั่นเอง
แล้วเจ้าต่อมไทรอยด์นี้มันขึ้นไปตาได้อย่างไรกัน

โรคไทรอยด์ขึ้นตานั้น ตัวไทรอยด์ไม่ได้กระโดดขึ้นไปที่ตาหรอกครับ
แต่มันเป็นภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป
ส่งผลให้มีอาการหลายอย่างรวมถึงอาการทางตาซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคนี้ด้วยครับ

แล้วเจ้าไทรอยด์เป็นพิษมันเกิดจากอะไร และส่งผลถึงตาอย่างไร คงต้องคุยกันยาวหน่อยครับ

โรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป สาเหตุหลักๆ มักเกิดจากการควบคุมในสมองผิดปกติ
หรือถูกกระตุ้นโดยภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อต่อมไทรอยด์
การที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว น้ำหนักลด เหงื่อออกมาก มือสั่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ในบางรายจะมีอาการทางตาด้วยที่เรียกว่าไทรอยด์ขึ้นตานั่นเองครับ

โดยปกติไทรอยด์ขึ้นตามักเกิดในอายุ 30 ถึง 50 ปีมักเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายครับ
แต่ถ้าเกิดในผู้ชายหรือเกิดตอนอายุมาก มักเป็นรุนแรงครับ
อาการไทรอยด์ขึ้นตาอาจจะมาก่อนหรือมาหลังไทรอยด์เป็นพิษก็ได้
อาการหลักๆ ของไทรอยด์ขึ้นตาได้แก่ ตาแห้ง ตาโปน เปลือกตาบนยกสูงขึ้นดูคล้ายคนโกรธจัดหรือคนตกใจ เปลือกตาบวม
ในกรณีรุนแรงขึ้นจะมีภาพซ้อนกลอกตาบางทิศทางไม่ได้ ถ้ารุนแรงมากอาจส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงหรือสูญเสียการมองเห็นจากเส้นประสาทตาโดนกดทับครับ

สาเหตุของไทรอยด์ขึ้นตาไม่ได้สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์โดยตรง แต่สัมพันธ์กับภูมิคุ้มกันที่ทำลายต่อมไทรอยด์ กล้ามเนื้อตารวมถึงผิวหนังบริเวณหน้าแข้ง
นอกจากนี้มีผลการวิจัยหลายรายยืนยันว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับโรคนี้ครับ และยังสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคนี้ด้วย

โรคนี้ดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถหยุดได้เองเพียงแต่ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีครับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรงดสูบบุหรี่เพื่อลดความรุนแรงของโรคลงด้วย

การรักษาหลักๆ ของโรคนี้คือการให้ยากดภูมิคุ้มกัน ประเภทสเตียรอยด์ครับ ยานี้จะช่วยลดการอักเสบและลดภาวะความรุนแรงของโรคได้แต่ต้องให้ด้วยความระมัดระวังเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากยาสเตียรอยด์ด้วยครับ

การฉายรังสีก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคนี้ที่มีการอักเสบรุนแรงและกดทับเส้นประสาทตา ข้อเสียของวิธีนี้คือกว่าจะเห็นผลต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ครับ

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนบางประการเช่น การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาเพื่อลดภาวะตาแห้ง การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตาเพื่อช่วยให้ตากลอกได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดแก้ไขภาวะกดทับเส้นประสาทตา การแก้ไขส่วนใหญ่ต้องทำหลายครั้งและควรทำเมื่อมีภาวะอักเสบสงบลงแล้วครับ

ภาวะไทรอยด์ขึ้นตาแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการป้องกัน แต่การตรวจพบเจออาการของโรคแต่ระยะเริ่มต้นอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคไม่ให้รุนแรงได้ครับ

ถึงตอนนี้ คุณลองหันไปดูหน้าเจ้านาย แล้วพบว่าเจ้านายคุณกำลังทำท่าทางโกรธเกรี้ยว ตาโปนใส่คุณ คุณลองแนะนำเจ้านายให้ตรวจโรคนี้ดูด้วยคงจะดีไม่น้อยนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าลูกน้องไม่เตือน

******************************************************************
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ศูนย์จักษุและต้อกระจก รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)
******************************************************************

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 ตุลาคม 2559 เวลา 06:39

    เป็นเหมือนค่ะแฟนบอกว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวหาย
    แต่สึกว่ามีขันๆและเหนื่อยมาก ชวยไห้บอกทีหนูกลัวจัง เงินก็ไม่มี

    ตอบลบ