วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นประจำเดือน

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นประจำเดือน

ประจำเดือนเป็นเรื่องที่การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญมาก เพราะประจำเดือนสามารถสะท้อนความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย และในช่วงที่เป็นประจำเดือน ไม่ว่าสาวๆ จะมีอาการไม่สบายตัวหรือไม่ แพทย์จีนก็ยังคงเน้นให้ใส่ใจดูแลตัวเองเสมอ

ในช่วงที่เป็นประจำเดือน
สาวๆ หลายท่านอาจมีอาการปวดประจำเดือน ปวดศีรษะ เพลีย ตัวบวม สิวขึ้น อารมณ์แปรปรวน.... อาการต่างๆ เหล่านี้แพทย์จีนมีวิธีแก้อย่างไร
วันนี้เราจะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวให้ประจำเดือนเป็นไปอย่างราบรื่นตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนมาให้ทุกท่านทราบกัน

พักผ่อนให้เพียงพอ
การทำงานมากเกินไปจะทำให้ชี่พร่อง มีผลทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ

หลีกเลี่ยงความเย็น
เช่น ตากฝน อาบน้ำเย็น ว่ายน้ำ เพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี

รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและรสอ่อน
ลดอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว เพราะอาจทำให้ประจำเดือนมามาก  ปวดประจำเดือน

ไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด
เพราะจะทำให้โซเดียมและน้ำตกค้างในร่างกายมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ โกรธง่าย

รับประทานอาหารธัญพืช
ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร ป้องกันท้องผูก ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น ลดดื่มชาหรือกาแฟ ลดอาหารหวาน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

รับประทานอาหารที่ปรุงร้อน
ไม่ควรรับประทานของเย็นๆ เช่น แตงโม มะระ ฟัก น้ำเย็น น้ำแข็ง เพราะจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ประจำเดือนน้อยลง หรือ ปวดประจำเดือน

งดการออกกำลังกายที่หักโหม
เลือกออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน กายบริหารเบาๆ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ทำจิตใจเบิกบาน อารมณ์ดี อาจฟังเพลงเบาๆ หรือเดินเล่น งดการมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ง่าย

ไม่ควรตะโกน หรือใช้เสียงมากเกินไป
เพราะในช่วงนี้มีเลือดคั่งที่กล่องเสียง จึงง่ายต่อการเกิดเสียงหายหรือเสียงแหบ

ไม่ถอนฟัน
เพราะอาจมีเลือดออกมาก และแผลหายช้า

หากปวดประจำเดือน สามารถทำชาสมุนไพรดื่มได้ เช่น
ชาดอกกุหลาบ ใช้ดอกกุหลาบ 15 กรัม น้ำร้อนชงดื่ม ช่วยกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น คลายอาการเครียด
หรือใช้ขิง 3 แว่น พุทราจีน 5 เม็ด น้ำร้อนชงดื่ม

เนื่องจากช่วงเป็นประจำเดือน ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ง่ายต่อการเจ็บไข้ ดังนั้น การดูแลตัวเองในช่วงนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง วิธีปฏิบัติตัวข้างต้นเป็นการดูแลเบื้องต้น หากมีอาการไม่สบายรุนแรง ปวดประจำเดือนมาก ปวดศีรษะมาก หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการปรับสมดุลร่างกาย และป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย

****************************************************************************
แพทย์จีนโสรัจ นิโรธสมาบัติ คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
****************************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น