วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

ทำธุรกิจ-ห้ามหลับหูหลับตามองโลกในแง่ดี

ทำธุรกิจ-ห้ามหลับหูหลับตามองโลกในแง่ดี

ผู้เริ่มทำธุรกิจเกือบทุกคนมักมีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ มองโลกในแง่ดีแบบสุดขั้ว แน่ละ หากไม่คิดว่าตนเองมีความสามารถเลอเลิศเป็นหนึ่งในตองอู และมีแผนการที่คิดว่าน่าจะทำเงินแล้ว ก็คงจะเต็มใจเป็นลูกจ้างเขาตลอดไป ไม่คิดมาเป็นพ่อค้าแน่

แต่ความมั่นใจที่มีมากเกินไป ย่อมเกิดภาวะคิดเอาเอง ว่าตัวเองรู้ดี ตัวเองทำถูกแล้ว แต่ถืงอย่างไรลูกจ้างก็ไม่สามารถกลายเป็นพ่อค้าได้ทันที ความเชื่อมั่นตัวเองที่สุดขั้วเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างฐานะของตัวเอง

การมองโลกในแง่ดี ทำให้ประเมินตลาดสูงเกินไป โดยลืมคิดไปว่าสินค้าที่นิยมกันมากนั้น แข่งขันกันเอาเป็นเอาตาย ผู้มาใหม่ยากที่จะได้ส่วนแบ่งตลาด ผลิตภัณฑ์ใหม่มีอัตราความเสี่ยงสูงมาก บ่อยครั้งที่พ่อค้าย่อยต้องทนลำบากฝ่าความลำเค็ญในการนำสินค้าใหม่ออกไปตีตลาดจนประสบผลสำเร็จ แต่บริษัทใหญ่กลับชุบมือเปิบทุ่มเงินแย่งตลาดไป พ่อค้าย่อยก็หมดหนทางต่อสู้ ต้องชูมือยอมแพ้ ยกตลาดให้กับผู้แย่งชิงไป ผลแห่งความเหนื่อยยากกลายเป็นศูนย์ เมื่อก่อนในสหรัฐอเมริกามีบริษัทผลิตหุ่นยนต์แห่งหนึ่ง ขาดทุนตลอดมา พยายามกัดฟันต่อสู้ ตราบถึงวันนี้หุ่นยนต์จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป พอบริษัทเริ่มจะมีกำไร ก็มีบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัททุ่มเงินมหาศาลแย่งตลาดอย่างสายฟ้าแลบ นี่แหละคือโศกนาฏกรรมของพ่อค้าเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

หากนำเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมาวิเคราะห์ คนที่เริ่มทำธุรกิจมักไม่ค่อยฟัง เช่น ถ้ายกสถิติของสหรัฐอเมริกาที่ว่า 95% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ประสบกับความล้มเหลว และ 90% ของบริษัทใหม่จะปิดกิจการใน 5 ปีแรก พวกที่มองโลกในแง่ดีก็จะตอบว่า นั่นเป็นในสหรัฐอเมริกา สภาพแวดล้อมของเมืองไทยดีกว่ามาก แต่แม้สภาพเมืองไทยจะเป็นแบบสหรัฐฯ ก็ตาม พวกเขาก็ยังมั่นใจว่าจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จใน 5 - 10 % นั้น นี่คือธาตุแท้ของผู้มองโลกในแง่ดี

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นผู้ประสบความสำเร็จใน 5 - 10% ที่ว่าดังกล่าวข้างต้นมีปัจจัย 2 ประการคือ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์และข้อดีของตนเอง ตำราว่าด้วยการตลาดหลายเล่ม พอกล่าวถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ใหม่ มักจะแนะนำให้ทำแบบฟอร์มประเมินความเป็นไปได้ของสินค้า แต่พ่อค้าย่อยส่วนใหญ่จะไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ ในสมองของพวกเขามีเพียงความคิดยึดติดแต่ว่าสินค้านั้นๆ จะต้องติดตลาดหรือเพราะฉันถนัดในตัวสินค้านั้นๆ ปัญหาคือสินค้าจะติดตลาดหรือไม่เป็นเพียงการคาดการณ์แบบเข้าข้างตนเอง ความเข้าใจในเรื่องตัวสินค้าก็ไม่เกี่ยวกับการตลาดเลย ความคิดทั้งสองอย่างนี้ล้วนไม่ใช่หลักการค้า
แล้วอะไรคือหลักการค้า ถ้าหากมีการวางแผนการดำเนินงานประเมินความเป็นไปได้ให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงลงมือ เป็นการประกันความสำเร็จได้แน่หรือ คำถาม 2 ข้อนี้ ล้วนหาคำตอบไม่ได้ การเป็นพ่อค้าย่อยก็เหมือนกับการเล่นพนัน ความคิดที่หลายคนบอกว่าใช้ไม่ได้อาจทำเงินมหาศาล เราไม่สามารถชี้ชัดได้ถึงความแตกต่างของการมองโลกในแง่ดีกับการมองโลกในแง่ดีแบบหลับหูหลับตาได้ แต่มันก็ยังต่างกันอยู่ดี รู้สถานการณ์ รู้เขารู้เรา และพยายามสุดกำลัง หากล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทำอย่างหลับหูหลับตา ยังไม่ทันลงมือทำ ก็เห็นแววล้มเหลวรออยู่ข้างหน้าแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น