วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

นาฬิเก เป็นชื่อนาฬิกาชนิดหนึ่ง

นาฬิเก

นาฬิเก เป็นชื่อนาฬิกาชนิดหนึ่งที่คนโบราณนิยมใช้กันก่อนที่จะมีนาฬิกาอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน นาฬิเกไม่มีเข็มบอกเวลา จะใช้วิธีนับเวลาเป็นยาม ในยามหนึ่ง ๆ ประมาณเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที

การทำนาฬิเกสมัยก่อนทำจาซีกกะลาตัวเมียของ "มะพร้าวนาฬิเก" ซึ่งเป็นมะพร้าวขนาดกลางหรือมะพร้าวกลางปี คือ ไม่ใช่มะพร้าวพันธุ์เบาและไม่ใช่มะพร้าวพันธุ์หนักที่มีลูกโต มะพร้าวนาฬิเกพันธุ์นี้มีลักษณะผลกลมงาม บางต้นก็มีลูกเป็นสีแดง บางต้นก็มีลูกสีเขียว แต่มาระยะหลัง เพื่อความสะดวกก็ใช้กะลามะพร้าวธรรมดาดังเช่นที่ใช้จับเวลาในการชนไก่ เป็นต้น

วิธีทำ นำกะลามะพร้าวมาขูดให้สะอาดทั้งนอกและใน เจาะก้นให้เป็นรูเล็ก ๆ เพียงรูเดียว พอที่ให้น้ำซึมเข้าในกะลาเต็มในเวลาราว 1 ชั่วโมง 30 นาที

วิธีใช้นำกะลาที่ทำแล้วไปลอยในอ่างน้ำ เมื่อกะลาจมลงก็คิดเป็น 1 ยาม  เมื่อต้องการจับเวลาใหม่ก็เริ่มลอยใหม่ ทำอยู่ดังนี้จนกว่าจะหมดความต้องการที่จะนับเวลา

สำหรับที่ใช้กับชุมชนครั้งโบราณ จะมีเจ้าหน้าที่คอยส่งสัญญาณบอกเป็นระยะ สัญญาณที่เจ้าหน้าที่ใช้กันนั้น เวลากลางวันจะใช้เสียงฆ้อง แต่เนื่องจากเสียงฆ้องดัง "โม่ง" คนที่ฟังก็พูดเป็นเชิงเข้าใจกันว่า 1 โมง 2 โมง เลียนเสียงของฆ้อง เมื่อหมดสมัยของนาฬิเกแล้ว สำหรับ 1 โมง 2 โมง ที่เคยนับมาไม่รู้จะเอาไปใช้กันกับอะไร ก็นำมาใช้กับชั่วโมงอย่างปัจจุบัน

สำหรับตอนกลางคืนก็เช่นเดียวกับกลางวัน แต่เมื่อได้ 1 ยามแล้วแทนที่เจ้าหน้าที่จะใช้เสียงฆ้อง กลับมาใช้เสียงกลองแทน กลองจะดังเสียง "ทุ้ม" คนที่ฟังก็เป็นที่รู้กันว่าคืนนี้กี่ทุ่มแล้ว และต่อมานำมาใช้กับชั่วโมงอย่างปัจจุบันด้วย
นาฬิเกเป็นเครื่องจับเวลาที่นักการพนันประเภทชนไก่ยังนิยมใช้กันแต่ไม่ต้องการเวลาเป็นยามหรือเป็นทุ่ม เพียงแต่ตกลงกันว่ากะลาจมเป็นหมดยกกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น