วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ

ตำนานวิทยุไทย เครื่องมือสร้าง-ชาติ

การกระจายเสียงทางวิทยุเพื่อบริการสาธารณะ ถือฤกษ์อย่างเป็นทางการถือเอาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 อันเป็นวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7 เป็นจุดเริ่มต้นของ "การกระจายเสียง" 

แต่พัฒนาการของวิทยุไทยเริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นเกือบ 30 ปี เป็นพัฒนาการที่ตามติดวิวัฒนาการของวิทยุโลกแบบทันทีทันใดเช่นเดียวกับการพัฒนาทางด้านอื่น ๆ ของสยามในรัชกาลที่ 5

กำเนิดวิทยุตรงกับรัชกาลที่ 5
จุดกำเนิดของวิทยุเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจมส์ คล้าค แมกซ์ เวลล์ (James Clerk Maxwell) ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปี 2407 ต่อมาอีก 22 ปี คือในปี 2429 รูดอล์ฟ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ (Rudolph Heinrich Hertz) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จึงคิดผลิตเครื่องที่เอาคลื่นไฟฟ้าในอากาศของแมกซ์เวลล์มาใช้ประโยชน์ได้ โดยตั้งชื่อสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า Hertzain Waves และต่อมาการเรียกคลื่นวิทยุก็ใช้ชื่อ "เฮิรตซ์" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ

ต่อมาในปี 2438 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาเลียน ได้นำเอาทฤษฎีของเฮิรตซ์มาทดลองถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณ เครื่องมือทดลองในเบื้องต้นมีเพียงแบตเตอรี่ ลวดทองแดง แผ่นทองแดง และว่าว โดยมาร์โคนีนั่งเรือจากเกาะอังกฤษไปขึ้นบกที่นิวฟันด์แลนด์ แล้วเอาว่าวที่สายป่านเป็นลวดทองแดงชักขึ้นไปในอากาศ สายลวดทองแดงจึงเปรียบเสมือนสายอากาศนั่นเอง โดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ ซึ่งมาร์โคนีได้คิดค้นไว้แล้ว

ผลสำเร็จในครั้งนั้นมีเพียงเสียงครืด ๆ เท่านั้น แต่นั่นคือเสียงแห่งความสำเร็จ และเป็นเสียงแรกสำหรับชาวโลกจากเครื่องรับวิทยุ

ตลอดเวลามาร์โคนีก็ได้ทำการทดลองด้วยวิธีการต่าง ๆ ใช้เวลาอยู่ 3 ปี มาร์โคนีก็สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้คนได้ฟังเมื่อต้นปี 2441 แม้จะเป็นการออกอากาศได้ในระยะไม่ไกลนัก แต่หนังสือพิมพ์ Daily Express ในลอนดอน ก็ได้ซื้อเครื่องรับส่งของมาร์โคนีเพื่อการทำข่าวไว้ 1 ชุด ต่อจากนั้นมาร์โคนีก็ได้ปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในการส่งวิทยุกระจายเสียงข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2442 อีกหนึ่งปีต่อมามาร์โคนีก็เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องส่งสามารถส่งกระจายเสียงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ

เครื่องรับวิทยุสมัยแรกเป็นวิทยุแร่ ผู้ฟังต้องใช้เครื่องฟังครอบหู เพราะเครื่องรับในขณะนั้นทั้งไม่ชัดเจน และเสียงเบามาก ผู้แก้ปัญหานี้คือ จอห์น แอมโบรส เฟลมมิง (John Ambrose Fleming) ได้นำเอาหลอดไฟฟ้าของโธมัส เอดิสัน มาใช้เป็นหลอดวิทยุแทนแร่ ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในปี 2447 ทำให้วิทยุกระจายเสียงส่งคลื่นได้ไกล และรับฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

กำเนิดวิทยุในสยาม ยุควิทยุโทรเลข และวิทยุโทรศัพท์
แทบไม่น่าเชื่อว่าในปีเดียวกับที่เฟลมมิงประดิษฐ์วิทยุหลอดสำเร็จ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของสยาม บริษัทเทเลฟุงเก้น (Telefunken) ซึ่งมีห้างบีกริมเป็นผู้แทนในสยาม ก็ได้ติดต่อกับกระทรวงโยธาธิการว่า จะให้นายช่างวิทยุเดินทางมาพร้อมกับเครื่องรับส่งวิทยุ 2 สำรับ เพื่อมาทดลองให้รัฐบาลสยามดู
ทางรัฐบาลสยามไม่ขัดข้องแต่ประการใด

นายช่างวิทยุของบริษัทเลเลฟุงเก้นจึงได้จัดตั้งสถานีวิทยุชั่วคราวขึ้นที่ภูเขาทองแห่งหนึ่ง และที่เกาะสีชังแห่งหนึ่ง แต่ผลออกมาไม่ดีดังคาด

ในเวลาเดียวกันนี้การสื่อสารด้วยโทรเลข และโทรศัพท์โดยใช้สายโลหะเป็นสื่อนั้น บางครั้งก็มีอุปสรรคในการเชื่อมโยงด้วยภูมิประเทศกันดารยากแก่การวางสาย หรือในทางยุทธศาสตร์หากถูกตัดสายโทรเลข หรือโทรศัพท์ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เมื่อวิทยาการทางด้านวิทยุก้าวหน้าขึ้นและสามารถใช้คลื่นวิทยุแทนสายโลหะในการเชื่อมโยงได้นั้นจึงได้รับความสนใจจากทางการเป็นพิเศษ

กองทัพเรือเป็นหน่วยงานแรกที่สั่งซื้อเครื่องรับส่งวิทยุแบบมาร์โคนีมาใช้ในราชการ ในปี 2450 และในปีเดียวกันนี้เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม และเสนาธิการทหารบก ได้ออกไปราชการ ณ กรุงเฮก เมื่อกลับมาจึงได้นำเครื่องวิทยุโทรเลขสนามแบบมาร์โคนีมาใช้ในกองทัพบก
ในรัชกาลที่ 6 ปี 2455 พระสรรพกิจปรีชาเป็นผู้แทนสยามไปร่วมประชุมสากลวิทยุครั้งที่ 2 ที่ประเทศอังกฤษ (ครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ในปี 2449 ผู้แทนสยามคือ H.Keuchenius ที่ปรึกษาฑูตไทยในกรุงเบอร์ลินเป็นผู้แทน) กฎสากลของวิทยุฉบับที่ได้มาครั้งที่ 2 นี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลเป็นภาษาไทยว่า "ราดิโอโทรเลข"

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "วิทยุ" แทนคำ "ราดิโอ"
ปีต่อมา 2456 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือจัดตั้งสถานีวิทยุโทรเลขขึ้น 2 สถานี คือ ที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพฯ และที่จังหวัดสงขลาอีกแห่งหนึ่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรเลขของราชการแห่งแรกในสยาม ที่ตำบลศาลาแดง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2456 และได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานส่งทางวิทยุโทรเลขถึงกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งประทับอยู่ที่สถานีสงขลา

พระราชหัตถเลขาฉบับปฐมฤกษ์ เป็นภาษาอังกฤษมีข้อความว่า
GREETING TO YOU ON THIS,
WHICH WILL BE ONE OF THE MOST IMPORTANT DAY IN OUR HISTORY

ในขณะที่กิจการวิทยุกำลังเติบโต แต่ดูเหมือนว่ากิจการนี้ยังคงเป็น "สมบัติของทหาร" อยู่ เพราะได้มีพระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขฉบับแรก พุทธศักราช 2457 ห้ามไม่ให้เอกชนมีเครื่องรับวิทยุไว้ในครอบครอง

ปี 2462 ทางการเปิดให้ประชาชนสามารถใช้บริการวิทยุโทรเลขได้ โดยกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ทำความตกลงกับกระทรวงทหารเรือ ขอให้สาธารณะใช้วิทยุโทรเลขในพระนคร และสงขลาได้ ต่อมาจึงมีการโอนสถานีทั้งสองของทหารเรือมาขึ้นกับกรมไปรษณีย์โทรเลข ในวันที่ 1 สิงหาคม 2469 แล้วโอนพนักงานวิทยุทหารเรือ มาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมไปรษณีย์ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ค่อยมีประชาชนมาใช้บริการ เพราะขณะนั้นคนยังไม่ยอมเชื่อว่าการติดต่อโดยทางวิทยุโทรเลขนี้จะเป็นไปได้จริง
กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ ผู้ทรงริเริ่มยุควิทยุกระจายเสียง

กิจการ "วิทยุกระจายเสียง" ในสยามเริ่มต้นขึ้นในปี 2471 โดยพระดำริของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม ทรงสั่งเครื่องส่งวิทยุขนาดกำลังส่ง 200 วัตต์ เข้ามาทดลองใช้ จากนั้นจึงทรงตั้งสถานีวิทยุขึ้นที่ตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข ปากคลองโอ่งอ่าง หน้าวัดราชบูรณะ โดยให้อยู่ในความควบคุมของกองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข
เครื่องส่งนี้เริ่มออกอากาศในวันที่ 30 พฤษภาคม 2471 นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงขึ้นในประเทศสยาม ในครั้งนั้นมีขนาดคลื่น 36.42 เมตร เรียกกันว่า "คลื่นสั้น" (High Frequency) สัญญาณเรียกขานชื่อสถานีคือ "4 พี.เจ." (HS4PJ) HS คือ รหัสประจำประเทศ PJ คือ บุรฉัตรไชยากร (Purachatra Jayagara) ในเวลานั้นคาดว่ามีเครื่องรับวิทยุของเอกชนอยู่ไม่เกิน 10 เครื่อง

ต่อมากองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ย้ายที่ทำการจากตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขหลังเก่า ไปทำการที่สถานีวิทยุศาลาแดง (มุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4) ซึ่งเวลานั้นเป็นของกองทัพเรือ และเปลี่ยนไปใช้คลื่น 29.5 เมตร กำลังส่ง 500 วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีว่า "2 พี.เจ." แต่ก็ปรากฏว่าผลการรับฟังวิทยุกระจายเสียงบริเวณรอบ ๆ กรุงเทพฯ ไม่ชัดเจน และมีอาการขาดหายเป็นช่วง ๆ กองช่างวิทยุที่ศาลาแดงจึงได้ประกอบเครื่องส่งวิทยุขึ้นเอง มีกำลังส่งสูงขึ้นเป็น 1 กิโลวัตต์ ขนาดความยาวคลื่น 320 เมตร เป็นคลื่นความถี่ปานกลาง (Medium Frequency) ใช้สัญญาณเรียกขาน "หนึ่ง หนึ่ง พี.เจ." (HS11PJ) ทางด้านเครื่องรับวิทยุหากเป็นเครื่องประดิษฐ์เอง หรือวิทยุแร่ ว่ากันว่าเสียงจะดังเหมือน "แมลงหวี่" แต่ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับประชาชนมากขึ้นสำหรับของใหม่ชิ้นนี้

เมื่อประชาชนสนใจสร้างเครื่องรับวิทยุกันมากขึ้น เป็นชนิดเครื่องแร่ใช้หูฟัง แต่ก็มีผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้ผลิตวิทยุออกจำหน่ายเป็นเครื่องแร่ขยาย คือ ชนิดมีเสียงไม่ต้องใช้หูฟัง

เมื่อการรับฟังวิทยุแพร่ขยายมากขึ้น กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ จึงทรงสั่งทำเครื่องมีกำลังส่งมากขึ้น เป็นขนาด 2.5 กิโลวัตต์ ขนาดคลื่น 350 เมตร ความถี่ 826.44 กิโลเฮิรตซ์ ราคา 80,000 บาท ของบริษัทฟิลิปราดิโอ ประเทศฮอลันดา แล้วได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่บริเวณทุ่งนาหน้าโฮเต็ลพญาไท (วังพญาไท หรือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) เหตุที่เลือกที่นี่ก็เพราะที่ศาลาแดงนั้นคลื่นวิทยุจะถูกรบกวนจากคลื่นโทรเลข ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกัน และต้องสร้างห้องส่งขึ้นใหม่เพื่อป้องกันเสียงรบกวน แต่ที่ทุ่งนาพญาไทยนั้นเป็นที่ห่างไกลชุมชน ไม่มีเสียงรบกวนจึงไม่ต้องสร้างห้องส่งเป็นพิเศษ

สถานีวิทยุแห่งนี้ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai ) ทำพิธีเปิดในวันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 อันเป็นวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7 ทำการกระจายเสียงถ่ายทอดพระราชดำรัสจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัส ณ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ แล้วส่งไปยังสถานีพญาไท นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย พระราชดำรัสอันเป็นปฐมฤกษ์มีความตอนหนึ่งว่า

"... การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย การบันเทิงแก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้ เราให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ได้สั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีเข้ามาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทยเสร็จแล้ว เราจึงขอถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป ..."

พระราชบัญญัติที่ได้ทรงแก้ไขคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเครื่องรับวิทยุเพื่อรับฟังการกระจายเสียงได้ ในปีเดียวกันนี้ก็ปรากฏว่าทางฝ่ายยุโรปก็กำลังนิยมเล่นวิทยุกระจายเสียงกันทุกประเทศ ปีต่อมาคือปี  2474 ผลสำรวจเครื่องรับวิทยุในประเทศสยาม ปรากฏว่ามีเครื่องรับวิทยุ 11,007 เครื่อง ซึ่งประชากรขณะนั้นมีประมาณ 11 ล้านคน เครื่องรับวิทยุในสมัยนี้นอกจากจะเป็นชนิด "วิทยุแร่" ซึ่งใช้กันทั่วไปแล้ว ยังมีเครื่องรับอย่างดีเป็นตู้ไม้ขนาดต่าง ๆ มีปุ่มเปิดปิด ปรับระดับเสียง และปุ่มหมุนหาคลื่น ส่วนคุณภาพเสียงนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ว่า

"... เครื่องรับวิทยุสมัยนั้นเวลาแรกเปิดมันส่งเสียงโกร๊กกร๊ากโว้ยว้าย เขาว่าเป็นด้วยอากาศ รำคาญหูเปรียบเหมือนถูกมีดเชือดอยู่กว่านาที เสียงซึ่งอยากฟังจึงมาถึงเมื่อเวลาเกิดเบื่อเสียแล้ว ถึงเสียงที่ส่งมาในสมัยนั้นก็ยัง "อ้อแอ้" แต่พอฟังได้ความ ..."

สถานีวิทยุแห่งชาติ ยุคกรมโฆษณาการ
เมื่อวิทยุใช้การได้ดี บทบาทและหน้าที่จึงเปลี่ยนไปกลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญทางการเมือง ประเทศสยามเริ่มต้นระบบประชาธิปไตยด้วยการยึดสถานีวิทยุของคณะราษฎร เพื่อใช้ออกประกาศต่าง ๆ ในสมัยต่อมาก็ยังยึดถือเป็นธรรมเนียมในการ "ประกาศคณะปฏิวัติ" ก่อนที่โทรทัศน์จะเข้ามามีบทบาทแทน

ความสำคัญในการโฆษณา (ชวนเชื่อ) มีความสำคัญมาก ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และทางสังคม 3 พฤษภาคม 2476 จึงมีการจัดตั้ง "กรมโฆษณาการ" ขึ้น ในความควบคุมของคณะรัฐมนตรี และได้เปลี่ยนเป็น "สำนักโฆษณาการ" ในวันที่ 9 ธันวาคม 2476 สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผลของการมีวิทยุทำให้ในปี 2477 มีการออกประกาศกระทรวงกลาโหม โดยนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยกเลิกการยิงปืนเที่ยงเพื่อบอกเวลา

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2481 สำนักโฆษณาการจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมโฆษณาการในปี 2483

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้วิทยุเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง เพื่อสร้าง "ลัทธิผู้นำ" โดยเฉพาะรายการสนทนาของนายมั่น นายคง ที่เริ่มกระจายเสียงตั้งแต่ปี 2482 เป็นรายการสนทนาด้วยภาษาง่าย ๆ สลับด้วยเพลงปลุกใจความยาวประมาณ 30 นาที ออกกระจายเสียงเวลา 19.00 น. ทั้งนี้หัวข้อ และแนวทางรายการส่วนหนึ่งจะมี "ใบสั่ง" มาจากจอมพล ป. โดยตรง เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชการกรมโฆษณาการเมื่อได้เห็น "ซองเหลือง" มาถึง นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังพูดกระจายเสียงด้วยตนเอง และส่งบทความไปออกอากาศอยู่อย่างต่อเนื่องในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ความพยายามที่จะสร้างสำนึกเรื่อง "ชาติ" ยังส่งผลให้ "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" ต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย" ในปี 2484  ยังได้มีคำสั่งให้ทุกจังหวัดต้องมีวิทยุกระจายเสียงเปิดให้ประชาชนฟัง รัฐบาลพยายามชักชวนให้ประชาชนฟังวิทยุซึ่งเป็นปากเสียงสำคัญของรัฐบาล หนังสือพิมพ์สร้างตนเอง ของกรมประชาสัมพันธ์ ปี 2485 มีแผ่นภาพโฆษณาเป็นบทสนทนาระหว่างหญิงชายชักชวนให้ฟังวิทยุดังนี้

ฝ่ายหญิงถามว่า "เอ๊ะนั่นแต่งตัว จะไปไหนจ๊ะ" ชายตอบว่า "ฉันจะไปฟังวิทยุหน่อย จะได้รู้เรื่องราวติดต่อทางความคิด และทางทำงานให้พร้อมเพรียงกันทั้งชาติ"

แต่แล้วกิจการวิทยุก็ต้องหยุดชะงักไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น 14 เมษายน 2488 โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสนถูกระเบิดเสียหาย เป็นเหตุให้การส่งวิทยุของกรมโฆษณาการต้องหยุดชะงักไป

กิจการวิทยุกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังสงครามสงบ 4 มิถุนายน 2489 แผนกช่างวิทยุตั้งสถานีวิทยุทดลอง 1 ป.ณ. ของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเสงี่ยม เผ่าทองสุข โดยทดลองใช้ความถี่ต่าง ๆ พร้อมกัน 4 เครื่องทั้งคลื่นยาว และคลื่นสั้น ทำให้รับฟังได้ทั่วประเทศ สถานีวิทยุ 1 ป.ณ. จึงเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกที่ส่งกระจายเสียงควบคู่ไปกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมโฆษณาการ

บันเทิงเริงรมย์ ยุคกรมประชาสัมพันธ์
เครื่องรับวิทยุสมัยหลังสงครามเป็นวิทยุเครื่องใหญ่ใช้ถ่านคราวละมาก ๆ ถึงกับต้องมีกล่องใส่แบตเตอรี่ต่างหากจากตัวเครื่อง เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น และถูกจำกัดการใช้ แต่ยุคหลังสงครามนี่เองที่ทั้งละครวิทยุ และเพลงลูกทุ่งได้ถือกำเนิดในโลกวิทยุอย่างมากมาย ในขณะที่เครื่องส่งวิทยุก็พัฒนาให้ส่งได้ทั้งระบบ A.M. และ F.M. ในปี 2495 ที่กรมโฆษณาการเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ขณะนั้นวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยสามารถกระจายเสียงไปได้ทั่วประเทศ โดยมีสถานีวิทยุในระบบ A.M. 51 สถานี ระบบ F.M. 43 สถานี

ยุคก่อน 2500 นี้เองที่ละครวิทยุถือกำเนิดมาเป็นจำนวนมากมายหลายคณะ ประชาชนก็มีอาการ "ติดละคร" กันงอมแงม เช่น ในปี 2497 ละคร "ล่องไพร" บทประพันธ์ของน้อย อินทนนท์ ทำให้ผู้คนต้องเฝ้าติดอยู่กับวิทยุตลอดการออกอากาศ ส่วนคณะละครที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ คณะกันตนา ซึ่งแยกตัวมาจากคณะกันตถาวร โดยประดิษฐ์ กัลย์จาฤก พระเอกละครของคณะกันตถาวร ละครเรื่องแรกที่ออกอากาศ คือ เรื่อง "ระย้า" ของสด  กูรมะโรหิต ทางวิทยุเสียงจากทหารเรือ (ส.ท.ร.)

ความรุ่งเรืองของกิจการวิทยุ ทำให้มีการตั้งสถานีวิทยุเพื่อการค้ากันมากขึ้น ทำให้มีการโฆษณาสินค้าอย่างไร้การควบคุม ในปี 2506 อวสานของละครวิทยุก็มาถึง เมื่อมีคำสั่งห้ามโฆษณาทางวิทยุทุกสถานี ยกเว้น สถานีวิทยุ ท.ท.ท. เพียงแห่งเดียว (สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ตั้งขึ้นเมื่อ 31 มกราคม 2497 ของบริษัทไทยโทรทัศน์) ทำให้กิจการของคณะละครวิทยุต้องดับวูบลง

จนกระทั่งในปี 2511 จึงอนุญาตให้สถานีวิทยุมีโฆษณาได้ "แต่พอควร" กิจการวิทยุจึงกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกับการเติบโตของ "วิทยุทรานซิสเตอร์" และ "มนต์เพลงลูกทุ่ง"
**************************************
ปรามินทร์  เครือทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น